xs
xsm
sm
md
lg

“ประยุทธ์” ห่วง ปชช.เหนือ-อีสานเสี่ยงเจอฝนหนัก ดินโคลนถล่ม สั่ง ปภ.วางแผนช่วย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด (แฟ้มภาพ)
โฆษกประจำสำนักนายกฯ เผยนายกรัฐมนตรีห่วงประชาชนในพื้นที่ 21 จังหวัดภาคเหนือและอีสานอาจได้รับผลกระทบจากฝนตกหนัก-ดินโคลนถล่ม ช่วง 30 ส.ค.-3 ก.ย. กำชับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยวางมาตรการช่วยเหลือ


พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แสดงความเป็นห่วงพี่น้องประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือ และตะวันออกเฉียงเหนือ รวม 21 จังหวัดที่อาจได้รับผลกระทบจากฝนตกหนัก และดินโคลนถล่ม ในช่วงวันที่ 30 ส.ค.ถึง 3 ก.ย.นี้ โดยได้กำชับให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเตรียมความพร้อมในการช่วยเหลือพี่น้องประชาชน รวมทั้ง ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงรับทราบข้อมูลล่วงหน้าให้เร็วที่สุด

“ท่านนายกฯ เป็นห่วงว่าขณะนี้อยู่ในช่วงหน้าฝนและดินอุ้มน้ำมานานพอควรแล้ว หากเกิดพายุฝนหนักอีกอาจส่งผลให้บางพื้นที่เสี่ยงกับดินโคลนถล่ม จึงสั่งการให้ทุกหน่วยเตรียมพร้อม และมีมาตรการทำงานที่ชัดเจนรัดกุม ขณะเดียวกัน รัฐบาลอยากขอความร่วมมือพี่น้องประชาชนได้ปฏิบัติตามประกาศเตือนของเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัด เพื่อลดโอกาสความสูญเสียด้วย”

ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่า ในช่วง 30 สิงหาคม - 3 กันยายน 2558 ร่องความกดอากาศต่ำหรือร่องมรสุมพาดผ่านตอนบนของภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย มีกำลังแรงขึ้นซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนบริเวณภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือเสี่ยงต่ออันตรายจากฝนตกหนักในระยะนี้

ในส่วนของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ออกประกาศแจ้งเตือน 5 ศูนย์เขต และ 21 จังหวัดภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดสกลนคร มุกดาหาร นครพนม อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ เลย หนองบัวลำภู ตาก พิษณุโลก อุตรดิตถ์ สุโขทัย เพชรบูรณ์ ลำปาง เชียงใหม่ ลำพูน แม่ฮ่องสอน เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน ให้เตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม อันเนื่องจากฝนตกหนัก และคลื่นลมแรง ในช่วงเวลาเดียวกัน

ทั้งนี้ มาตรการที่กำหนดให้ทั้ง 21 จังหวัด ดำเนินการมี 4 ขั้นตอน ประกอบด้วย 1) แจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณที่ลาดเชิงเขา ที่ราบต่ำริมน้ำไหลผ่าน และพื้นที่เสี่ยงภัย ให้ทราบเกี่ยวกับภัยอันเกิดจากฝนตกหนัก และคลื่นลมแรง

2) ให้กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามตรวจสอบท่อและทางระบายน้ำในเขตเมือง เขื่อน ฝาย อ่างเก็บน้ำ คันกั้นน้ำ และสถานที่ท่องเที่ยวที่คาดว่าประชาชนจะไปใช้บริการจำนวนมาก รวมทั้งใช้ประโยชน์จากมิสเตอร์เตือนภัยที่ประจำอยู่ในหมู่บ้านเสี่ยงภัย ให้แจ้งข้อมูลสถานการณ์ภัยที่เกิดขึ้นให้กับศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจได้รับทราบโดยเร็ว เพื่อดำเนินการช่วยเหลือประชาชนให้ทันต่อสถานการณ์

3) ดำเนินการตามขั้นตอนของแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ให้สามารถช่วยเหลือประชาชนได้ทันที 4) รายงานผลการปฏิบัติงานในการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยรับทราบต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น