รองนายกฯ ระบุสถานการณ์เช่นนี้คำปรารภในร่าง รธน.ไม่จำเป็นต้องมี เพราะต้องไปผ่านกระบวนการทำประชามติ หากเขียนคำปรารภไว้เมื่อถึงเวลาทูลเกล้าฯ ถวาย ต้องมาแก้กันใหม่ ชี้แม้ สปช.จะส่งเรื่องให้ศาล รธน.ตีความก็ไม่สามารถเลื่อนโหวตร่าง รธน.ได้
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง และคณะกรรมาธิการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เตรียมยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ให้ตีความร่างรัฐธรรมนูญไม่มีคำปรารภว่า ความจริงเรื่องของคำปรารภจำเป็นต้องมี ที่ผ่านมาช่วงที่สถานการณ์ปกติ ในระหว่างที่มีการร่าง คำปรารภจะมีบ้างไม่มีบ้าง แต่ในสถานการณ์แบบนี้ และในขั้นนี้ไม่จำเป็นต้องมีคำปรารภ และถึงจะมีแต่พอถึงเวลาทูลเกล้าฯ ถวายต้องมาแก้อะไรใหม่หมด เพื่อให้เข้าเหตุการณ์ในวันนั้น
“เขียนวันนี้ก็ใช้เหตุการณ์เดือนสิงหาคม แต่รัฐธรรมนูญกว่าจะทูลเกล้าฯ ถวายก็เดือนกุมภาพันธ์ เพราะฉะนั้นถ้าเขียนจากเหตุการณ์ในวันนี้จะไปใช้ตอนนั้นไม่ได้ อย่างเช่น คำปรารภจะมีคำหนึ่งว่า เนื่องจากได้รับความเห็นชอบจากประชามติแล้ว ดังนั้น วันนี้จะไปเขียนตรงนั้นก่อนได้ยังไง จะเขียนเมื่อตอนรัฐธรรมนูญเสร็จ เหมือนพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เมื่อเข้าสภาฯ ตั้งแต่มาตราแรกถึงมาตราสุดท้าย จะเห็นว่า พ.ร.บ.จะมีคำว่า ฉบับที่... หรือ พ.ศ. ... อยู่อย่างนั้น สภาฯ ไม่ได้เติมมาให้”
ผู้สื่อข่าวถามว่า ถ้าศาลรัฐธรรมนูญรับไว้พิจารณา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ต้องเลื่อนการลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญไปก่อนหรือไม่ เพื่อรอความเห็นของศาลรัฐธรรมนูญก่อน นายวิษณุตอบว่า สปช.เลื่อนไม่ได้ ต้องโหวตวันที่ 6 ก.ย.ตามที่ สปช.กำหนดไว้ หรืออย่างมากก็เลื่อนไปวันที่ 7 ก.ย.ได้เท่านั้น
ส่วนที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นรัฐธรรมนูญซ้อนอำนาจ รัฐบาลที่เข้ามาใหม่จะไม่มีอำนาจอะไรเลย นายวิษณุกล่าวว่า ยังไม่เห็นอิทธิฤทธิ์ว่าจะเป็นอย่างไร กำลังพยายามดูอยู่ เพราะเพิ่งได้ร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 22 ส.ค.รัฐธรรมนูญนี้ รัฐบาลมีอำนาจในส่วนของการบริหารราชการแผ่นดิน ส่วนคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) ไม่มีอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดิน อำนาจจะมีไปถึง คปป.ก็ต่อเมื่อบ้านเมืองวิกฤตสุดขีดแล้ว
ผู้สื่อข่าวถามว่ารัฐธรรมนูญนี้จะเป็นธรรมหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า บางมาตราอาจเป็นปัญหา บางมาตราก็แก้ปัญหา ต้องชั่งน้ำหนัก ไม่ใช่ดูเหมือนนางงาม