xs
xsm
sm
md
lg

มท.ประสาน 15 จังหวัดใต้-ตะวันออก รับมือพายุถล่ม-น้ำท่วม 5-9 ส.ค.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากเวปไซต์กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย  ระบุถึง กรมอุตุฯ พยากรณ์ 5-9 ส.ค. ไทยยังคงมีฝนตกต่อเนื่อง หนักบางแห่งบริเวณภาคตะวันออก และภาคใต้ ขอให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม อาจเกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้ในระยะนี้
“อนุพงษ์” สั่ง ปภ.ประสาน 15 จังหวัดใต้-ตะวันออก เตรียมรับมือน้ำท่วม-คลื่นลมซัด คาดจ่อ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา สตูล ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ และตรัง ในช่วงวันที่ 5-9 ส.ค.นี้



วันนี้ (5 ส.ค.) พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ตรวจสอบสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา คาดว่าในช่วงวันที่ 5-9 ส.ค.นี้ ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังค่อนข้างแรง ทำให้บริเวณภาคตะวันออกและภาคใต้มีฝนตกชุกหนาแน่น และมีฝนตกหนักบางพื้นที่ ส่วนคลื่นลมในทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังแรง ทะเลมีคลื่นสูง

“ได้สั่งการให้ ปภ.ประสาน 15 จังหวัดเสี่ยงภัย โดยแยกเป็นภาคตะวันออก 4 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ภาคใต้ 11 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา สตูล ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ และตรัง รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 11 สุราษฎร์ธานี เขต 12 สงขลา เขต 17 จันทบุรี เขต 18 ภูเก็ต”

ทั้งนี้ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัย เตรียมพร้อมรับมืออุทกภัย วาตภัย ดินถล่มและคลื่นลมแรง โดยจัดเจ้าหน้าที่และมิสเตอร์เตือนภัยติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงจัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันที พร้อมตรวจสอบท่อ ทางระบายน้ำในเขตเมืองไม่ให้มีสิ่งของกีดขวางทางน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำ รวมถึงตรวจสอบเขื่อน ฝาย อ่าง และคันกั้นน้ำ สถานที่ท่องเที่ยวให้มีสภาพมั่นคงแข็งแรง อีกทั้งตรวจสอบสิ่งก่อสร้างและป้ายโฆษณาให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง ตัดแต่งกิ่งไม้บริเวณริมถนนและพื้นที่ชุมชน เพื่อป้องกันการล้มทับ ก่อให้เกิดอันตรายได้ แต่หากสถานการณ์รุนแรงขึ้น ได้เน้นย้ำให้ดำเนินการตามขั้นตอนของแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด เพื่อประสานการช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างทันท่วงที

ด้านนายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ ในพื้นที่เสี่ยงภัยของ 15 จังหวัด ภาคตะวันออก และภาคใต้ ให้ติดตามพยากรณ์อากาศ และประกาศเตือนภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมปฏิบัติตามคำเตือนอย่างเคร่งครัด หมั่นสังเกตสัญญาณความผิดปกติทางธรรมชาติ เช่น ฝนตกหนักต่อเนื่องในพื้นที่ป่าต้นน้ำมากกว่า 100 มม.ต่อวัน ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว น้ำเปลี่ยนเป็นสีขุ่นข้นหรือสีเดียวกับสีดินบนภูเขา รวมถึงตรวจสอบบ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างให้อยู่ในสภาพมั่นคง งดเว้นการใช้โทรศัพท์มือถือ เครื่องมือสื่อสารทุกชนิดบริเวณที่โล่งแจ้ง เพื่อป้องกันการถูกฟ้าผ่า ทำให้ได้รับอันตรายถึงชีวิตได้ อีกทั้งห้ามหลบพายุบริเวณใต้ต้นไม้ ป้ายโฆษณา หรือสิ่งปลูกสร้าง ที่ไม่มั่นคงแข็งแรง ห้ามจอดรถใต้ต้นไม้ใหญ่ที่ไม่แข็งแรง เพราะอาจได้รับอันตรายจากการถูกล้มทับ ส่วนชาวประมง ควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ เรือเล็กควรงดออกจากฝั่งในระยะนี้ อย่างไรก็ตาม ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากอุทกภัย วาตภัย ดินถล่ม และคลื่นลมแรง สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง


กำลังโหลดความคิดเห็น