“ประยุทธ์” ประชุม กนช. ย้ำไทยมีปัญหาน้ำต้นทุน รับใช้งบมากแก้แต่ระวังการใช้จ่าย วันนี้ส่งมอบงานให้รัฐ 100% สั่งสรุปแผนปี 57-69 ชี้ ไม่เปลี่ยนพฤติกรรมปลูกพืชก็กระทบต่อ เล็งเก็บน้ำเพิ่มไม่ไหลลงทะเล อนุมัติ 2 อนุกรรมการจัดหาน้ำ-กลุ่มใช้น้ำ บูรณาการกัน ชะลอกรรมการบริหารลุ่มน้ำ ย้ำสร้างความเข้าใจ รับส่งน้ำระบบเปิดมีปัญหา ยันเยียวยาแน่แต่คิดตามจริง จี้รักษาสิทธิอย่าเซ็นให้ใคร วอนให้ฟังกัน สั่ง ราชการประหยัดน้ำ 10%
วันนี้ (22 ก.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ครั้งที่ 1/2558 ซึ่ง มี ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ร่วมประชุมด้วย โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวในช่วงต้นของการประชุม ว่า ต้องขอบคุณคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำของ คสช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ร่วมจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำปี 2557 ซึ่งเดินหน้ามาตลอดในการเตรียมรับภัยแล้งและน้ำท่วม โดยได้ขุดเจาะ แหล่งน้ำจำนวนมากตามแผนบริหารของปี 2559 ซึ่งในแผนงานหลัก 12 กิจกรรม 6 ยุทธศาสตร์ ได้ทยอยดำเนินการตามลำดับ และมีความก้าวหน้าพอสมควร แต่ต้องยอมรับว่าไทยมีปัญหาที่น้ำต้นทุนซึ่งต้องมาจากน้ำฝนเป็นหลัก ประกอบกับปรากฏการณ์เอลนีโญที่ยังดำรงอยู่ทำให้น้ำต้นทุนขาดแคลน เกิดปัญหารุนแรงทั้งระบบ รัฐจึงต้องเตรียมมาตรการลดความเสี่ยง เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และ เพื่อให้เกิดความมั่นคงในระยะต่อไป รัฐบาลต้องใช้งบประมาณดำเนินตามแผนจำนวนมาก แต่รัฐจะระมัดระวังในการใช้จ่ายงบประมาณ ทั้งงบประจำปี และเงินกู้ ที่ต้องใช้ในกิจการอีกหลายอย่าง ไม่ใช่เฉพาะงานด้านการเกษตรแต่เพียงอย่างเดียว
“อีกทั้งประเทศไทยยังอ่อนด้อยในการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ภาคเศรษฐกิจ อีกทั้งเศรษฐกิจโลกก็เป็นเศรษฐกิจแนวใหม่ ซึ่งแนวทางของไทยสามารถปรับเปลี่ยนได้ทั้งระบบตามความจำเป็นและสถานการณ์ซึ่งต้องสื่อสารและทำความเข้าใจให้ประชาชนได้รับทราบ” นายกรัฐมนตรีกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับวาระการประชุมที่น่าสนใจ ที่ประชุมจะรับทราบการแต่งตั้งคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ การส่งมอบแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำปี 2557-2569 และผลการดำเนินงานด้านทรัพยากรน้ำ พร้อมทั้งการพิจารณาในประเด็นสถานการณ์น้ำ และ แนวทางการแก้ไขปัญหาการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และ การแต่งตั้งผู้แทนกลุ่มต่างๆ ในคณะกรรมการลุ่มน้ำซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระ รวมถึงแนวทางแก้ปัญหาน้ำอุปโภคบริโภคในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล
ภายหลังการประชุม พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ว่า ในวันนี้เป็นการส่งมอบแผนบริหารจัดการน้ำให้ กนช. ที่ผ่านมาเป็นการจัดทำแผนช่วง คสช.ตั้งแต่เดือน ก.ค. 2557 ซึ่งแผนดังกล่าวผ่านการพิจารณาของ ครม.มาแล้ว วันนี้เป็นการส่งมอบงานให้รัฐบาลเต็ม 100% โดยคณะกรรมการของ คสช.ก็จะไปอยู่ในส่วนการติดตามและประเมินผล ช่วยเหลือตามกฎหมาย ซึ่งเราร่างไว้อยู่แล้วตามกติกาว่า คสช.จะเข้าไปช่วยขับเคลื่อนงานของรัฐบาล ซึ่งวันนี้ตนได้สั่งให้คณะกรรมการเดิมนำแผนต่างๆมาคลี่ดูและสรุปตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปี 2569 ซึ่งเป็นการบริหารจัดการทั้งระบบ โดยให้ไปถกมาว่าทำอะไรไปแล้วบ้าง อะไรที่เสร็จแล้ว อะไรยังไม่เสร็จ แต่ละช่วงปี 2557-2559, 2560-2564, 2565-2569 โดยแต่ละช่วงต้องวางแผนไว้ตลอด ทั้งน้ำอุปโภคบริโภค น้ำประปา การแก้ปัญหาน้ำท่วม การระบายน้ำ ส่งน้ำ การสร้างที่เก็บกักน้ำ เพื่อดูแลทั้งภารกิจในเรื่องของการสนับสนุนเรื่องน้ำไปให้ทุกกิจกรรม การประปา น้ำอุตสาหกรรม น้ำการเกษตร การผลักดันน้ำทะเล
นายกฯ กล่าวต่อว่า วันนี้ทุกคนอาจไม่เข้าใจว่าน้ำทั้งหมดมาจากต้นทุนน้ำเดียวกัน แต่เป็นคนละพื้นที่ ถ้าวันนี้เราไม่สามารถบริหารจัดการน้ำได้ ก็จะเป็นปัญหาในอนาคต หากทุกคนไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการใช้น้ำ การปลูกพืชใช้น้ำน้อย หรือการปลูกพืชตามดีมานด์และซัพพลายที่ควรเป็น ถ้าเป็นไปไม่ได้ อย่างไรเราก็หาน้ำให้ไม่ได้ ต้องมีผลกระทบต่อทุกอันนั่นแหละ ไม่ใช่ว่าเราให้ความสำคัญแก่อันใดอันหนึ่ง วันนี้มีสัดส่วนการใช้น้ำอยู่แล้ว น้ำการเกษตรมากที่สุด รองมาคือน้ำอุปโภคบริโภค เพราะทุกคนต้องใช้น้ำ การเกษตรก็ไม่ใช่เพียงแค่นาอย่างเดียว มีพืชอย่างอื่นเยอะแยะไปหมด ซึ่งใช้น้ำมากน้อยต่างกัน ต่อไปก็น้ำอุตสาหกรรม ซึ่งเราจำเป็นต้องให้เขา ไม่ใช่เราเห็นเขาดีกว่าภาคเกษตร ไม่ใช่ ทางนโยบายทำอย่างนี้ไม่ได้ เพราะการน้ำอุตสาหกรรมเป็นการทำให้เกิดวงจรของการผลิตขึ้นมา ถ้าไม่ให้น้ำเขาก็ผลิตอะไรขึ้นมาไม่ได้ เศรษฐกิจอย่างอื่นก็พังตามกันไปหมด มันสร้างห่วงโซ่ของมัน เพราะฉะนั้นท่านต้องอธิบายให้เข้าใจว่า ใช้น้ำทำอะไร ต้นน้ำจะต้องหาเพิ่มเติมอย่างไร แต่การหาน้ำเพิ่มเติมมีอยู่สองอย่างคือ 1.การกักเก็บน้ำให้มากขึ้น ไม่ให้น้ำไหลลงสู่ทะเล ไหลลงประเทศเพื่อนบ้าน บางที ก็ไปท่วมเขาบ้าง เราเก็บกักน้ำไม่ได้ทั้งหมด เรื่องการก่อสร้างก็ต้องทยอยดำเนินการไป ต่อไปก็ต้องวางแผนระยะยาวว่าจะเอาน้ำที่ไหนลงแม่น้ำระหว่างประเทศ ขึ้นมาได้ไหม ระยะแรก จะทำอย่างไร ถ้าเอามาประดังประเด ทำพร้อมกันหมดให้เสร็จปีนี้ มันเป็นไปได้ไหมเล่า มันไม่ได้
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวต่อว่า เดี๋ยวจะสร้างการรับรู้ให้มากขึ้นว่าวันนี้ทำอะไรไปแล้วบ้าง ใช้งบประมาณไปส่วนหนึ่งแล้ว ก็เป็นส่วนแรกเท่านั้นเอง ปี 57, 58, 59 จะเกิดอะไรบ้าง ตนเคยบอกไปแล้วมีตัวเลขชัดเจน เพราะฉะนั้นวันนี้เมื่อเอาเข้าสู่คณะประชุม กนช. ต้องมาพูดถึงว่า กนช.ต้องมาทำ ปรับรูปแบบการทำงานใหม่ ไม่เอาแนวทางเดิม ตนก็อนุมัติสั่งการไปในแนวทางที่ว่า จะต้องมีสองคณะอนุกรรมการ เพื่อให้กนช. ตัดสินใจ ในการดำเนินการถ้าแยกเป็นงานนี้งานนู้น มันหลายคณะ จนไม่เสร็จ ต่างคนต่างประชุมกันมา กว่าจะเสร็จมาถึงตน มันช้าไปแล้ว นั่นคือหลักการบริหารของ กนช. เดิม ที่ผ่านมา วันนี้ กนช. ใหม่ ตนสั่งการว่า ให้จัดกลุ่มงานง่ายๆ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มจัดหาน้ำ และกลุ่มใช้น้ำ และให้ไปแตกกลุ่มข้างล่างเอาเองว่าแต่ละพวกมีปัญหาอย่างไร ต้องใช้น้ำเท่าไร และทั้งหมดจะมาบูรณาการกัน และกนช.จะสั่งการอนุมัติงบประมาณ แผนงานต่างๆ ลงไป ต้องจบข้างล่างมาเลย เพราะมีตั้งหลายส่วน ทั้งส่วนของทางประปา ส่วนของผู้บริโภค ในส่วนของการใช้น้ำอุตสาหกรรม น้ำการเกษตร
นายกฯ กล่าวต่อว่า คณะกรรมการบริหารลุ่มน้ำแต่ละลุ่ม วันนี้ต้องชะลอไปก่อน จะทำงานแทนไปก่อน จนกว่าจะมีกฎหมายใหม่ ถึงค่อยตั้งกันให้เรียบร้อย ส่วนนี้ต้องขอ เพราะวันนี้เราต้องขับเคลื่อนทุกอย่างด้วยความรวดเร็ว เรื่องน้ำเป็นเรื่องสำคัญ ไม่อยากให้ตื่นตระหนก สังคมไทยค่อนข้างจะอ่อนไหว เพราะน้ำน้อย น้ำแล้ง ก็ขยายกันจากน้ำน้อย เป็นน้ำน้อยมาก จากน้ำน้อยมากเป็นน้อยที่สุด เราต้องช่วยกันสร้างความเข้าใจ ว่าจะอยู่กันอย่างไร น้ำอย่างนี้จะอยู่แค่นี้ ถ้าไปบอก ไอ้คนนี้ได้ คนนี้ไม่ได้ คนนี้มากกว่า มันจะทะเลาะเบาะแว้งกันไปหมด รัฐบาลนี้ทำเต็มที่ ดูแลทุกคน มากบ้างน้อยบ้าง ตามความเดือดร้อน และไม่ทำให้ผลกระทบกับอย่างอื่นมันเกิดขึ้น ถ้าน้ำเกษตรใช้มาก อย่างอื่นเดือดร้อนจะทำอย่างไร มันก็ต้องดูทุกอัน ปัญหาของเราคือ การส่งน้ำทั้งหมด ส่วนใหญ่เกิน 80 90 เปอร์เซ็นต์ เป็นการส่งน้ำระบบทางเปิดทั้งสิ้น เป็นคลอง ร่องน้ำ ไม่มีการส่งน้ำทางท่อมากนัก ยกเว้นน้ำประปา เพราะฉะนั้นเวลาเราจะตัดตรงนี้ให้ตรงนู้น มันทำได้ง่ายไหมละ
นายกฯ กล่าวต่อว่า วันนี้ให้ทหารไปทำ ทหาร ก็ไม่อยากจะใช้กฎหมายมากนักกับประชาชน เพราะรู้ว่าเดือดร้อน ก็ขอความร่วมมือ ท่านสามารถส่งน้ำตรงนี้ไปเฉพาะตรงนี้ ได้หรือไม่ ไปที่นาตั้งท้องได้ไหม นาที่ไม่ตั้งท้องไม่ให้ มันก็ลำน้ำลำเดียวกัน ฉะนั้นทุกคนก็ตั้งท่อรอกันไว้หมด จึงต้องไปขอร้องกัน ช่วยขอตรงนี้ไว้ก่อนนะ ตรงไหนถ้ามันเสียหาย เดี๋ยวรัฐบาลต้องดูแลเรื่องการเยียวยา ซึ่งการเยียวยาก็ต้องใช้เงินงบประมาณสูง กำลังคิดอยู่ ยังไงก็ต้องให้แน่ เสียหายอะไรยังไง แต่ถ้ามันสูงมากนัก ก็ไม่ไหวเหมือนกัน เพราะฉะนั้นต้องดูแลทุกกลุ่ม ระยะที่หนึ่ง คือการจ้างงาน ซึ่งกำลังให้กระทรวงมหาดไทยเร่งดำเนินการร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ การจ้างงานไม่ใช่ไปจ้างอะไรก็ได้ ต้องจ้างให้เกิดประโยชน์ มีเงินใช้จ่าย เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ในระดับพื้นที่ ระดับประเทศด้วย เพราะถ้าไม่มีเงินใช้จ่ายการซื้อของ ซื้อสินค้ามันก็จะลดลง โรงงานก็ผลิตลดลง นี่คือเหตุผลความจำเป็นที่ต้องมีเงินในพื้นที่ ยังไงก็ต้องหาเงินจ้างงานไปก่อน และกระทรวงเกษตรฯ ต้องไปเร่งเรื่อง การปรับเปลี่ยนการปลูกพืช สร้างการรับรู้ ชักชวนประชาชน วันนี้หลายเรื่องเกิดขึ้นมาแล้วการให้ประชาชนปรับเปลี่ยนการปลูกยางเป็นอย่างอื่น ในหลายพื้นที่เกิดขึ้นมาแล้ว รัฐบาลก็ให้เงินสนับสนุนไปในการลงทุนใหม่ จึงต้องฟังกัน บางทีไม่ฟัง แล้วไปสร้างการรับรู้ผิดๆ ชาวนาเลยรู้สึกเหมือนไม่ได้รับการดูแล มันไมใช่ วันนี้ต้องมาดูว่าพื้นที่ไหนมีต้นน้ำเท่าไร ส่งไปที่ไหนบ้าง เพราะฉะนั้นในพื้นที่ที่มีต้นน้ำ มีปริมาณน้ำต้นทุนขณะนี้จะปลูกพืชได้อย่างไร วันนี้ทุกคนไม่ฟังกันเลย พอข้าวราคาสูงก็ปลูกข้าวกันทั้งหมด แล้วจะเอาน้ำที่ไหน ในเมื่อรัฐบาลที่ผ่านมา ก็ไม่ได้ทำแหล่งน้ำเพียงพอที่จะปลูกข้าวมากขนาดนี้
นายกฯ กล่าวอีกว่า วันนี้ที่เดือดร้อนหลักๆ เป็นการปลูกข้าวในบางจังหวัด ของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา แยกกันให้ออก มี 25 ลุ่มน้ำ วันนี้ไปดูแผนที่ฝน แผนที่น้ำ ภาคอีสานเขียวไปหมด เพราะฝนตกแล้ว ลุ่มเจ้าพระยาก็เริ่มตกบ้าง แต่ที่ผ่านมา เราเคยขอร้องให้มีการชะลอปลูกข้าวแต่เขาไม่ได้ชะลอ เขาต้องการจะปลูกให้ได้สองครอป ทำนองนี้ ตนก็เห็นใจ ที่นี้ก็ต้องมาดูว่าปลูกครอปแรกมันเสียหาย จะดูแลอย่างไร เราก็เข้าใจ ไม่รู้จะทำอะไร ซึ่งสิ่งนี้เราต้องสร้างความเข้าใจ ครอปแรกปลูกแล้วเสียหาย ส่วนอีกพวกหนึ่งไม่ได้ปลูก หากครอปสองไม่ได้ปลูกอีก เขาก็จะเสียหายสองครอป เสียโอกาสสองครอป ส่วนที่ปลูกครอปแรกเสียหาย ครอปสองปลูกไม่ได้ เขาก็เสียครอปเดียวบวกกับครอปที่เสียหาย มันต่างกัน ต้องคิดให้ละเอียด จะได้ดูแลช่วยเหลือเยียวยากันได้ถูกต้อง
“ตอนนี้กำลังสำรวจข้อมูลอยู่ให้ชัดเจน ไม่ใช่ถามแล้วมาแจ้งๆกัน ก็มีผลกระทบ เรื่องการใช้จ่ายงบประมาณ ความไม่โปร่งใส รัฐบาลก็เร่งเรื่องเหล่านี้หมด คสช. ทหารไปเดินทุกพื้นที่ ขอข้อมูลจริงๆจากชายไร่ ชาวนา อย่าไปเชื่อใคร สิทธิท่านมีเท่าไรเท่านั้น ไม่ต้องไปเซ็นรับรองให้ใครเหมือนที่ผ่านมาเคยมี เสียน้อยเป็นเสียมาก บางหมู่บ้านก็กลายเป็นทั้งอำเภอ ทั้งตำบล อะไรยังงี้มันไม่ใช่ ท่านต้องรักษาสิทธิของท่าน ถ้ามันชัดเจนอย่างนี้ งบประมาณของรัฐบาลก็ใช้น้อยสำหรับจำนวนหมู่บ้าน จำนวนพื้นที่ เม็ดเงินจะได้มากขึ้นในส่วนที่เสียหายจริงๆ ถ้าเหมาจ่ายทั้งหมด มันก็เป็นแบบเดิม คนก็รักรัฐบาลหมดนั่นแหละ แต่วันนี้อย่าลืมคนอื่นเขาด้วย ผมไม่ได้รักใครมากกว่าใคร แต่มันเกิดวงจรชีวิต วงจรเศรษฐกิจ ทั้งหมด” นายกฯ กล่าว
นายกฯ กล่าวต่อว่า วันนี้ก็ได้ข้อยุติตรงนี้ตั้งอนุกรรมการที่ว่า มาตรการอื่นๆ ก็ให้ทุกคนช่วยกันประหยัดน้ำ วันนี้สั่งการไปแล้ว ส่วนราชการต้องช่วยกันประหยัดน้ำอย่างน้อยก็ให้ได้สัก 10% ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เช่นการรดน้ำต้นไม้ต่างๆ ก็แล้วแต่ ยกเว้นสถานที่สำคัญที่มีความจำเป็น เป็นหน้าเป็นตาก็ต้องใช้ ต้องพิจารณาและรายงาน เหมือนการใช้ไฟฟ้าของราชการที่ผ่านมา ต้องรายงานรัฐบาลทุกเดือนว่าลดลงได้กี่เปอร์เซ็นต์ อย่างกองทัพบกได้สั่งให้ลดก็ลดไปได้เยอะ ตนว่าส่วนราชการรู้อยู่แล้ว เมื่อประหยัดไฟได้ก็ต้องประหยัดน้ำได้ อย่างน้อยก็ให้ได้ความรู้สึกที่ดีต่อกัน มีความพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ภาคส่วนอื่นๆ ต้องช่วยกัน ขอร้องภาคอุตสาหกรรมต่างๆ สิ่งไหนไม่จำเป็นก็ให้ลดลง อย่าใช้แบบเดิม เพราะทำให้น้ำต้นทุนถูกใช้เยอะ ถ้าภาคเกษตรขอใช้มาก อุตสาหกรรมขอใช้มาก ราชการใช้ด้วย น้ำต้นทุนมีเท่านี้ มาจากเส้นทางเดียวกันจะทำอย่างไร ต้องพิจารณาว่าอนาคตเราต้องทำโครงการเกี่ยวกับเรื่องการทำเกี่ยวกับระบบการส่งน้ำใหม่ ไม่อย่างนั้นก็ต้องมีคนมานั่งเฝ้า ถือกระบองหรือไง ทหารทำอะไรไม่ได้เลย ไม่ได้ใช้อำนาจ ใครไปเขียนออกมา หนังสือพิมพ์ไหนไม่รู้บอกถามว่าทหารเอาปืนไปจี้หัวชาวบ้าน มันจะทำได้อย่างไร ชอบเขียนให้มันทะเลาะเบาะแว้ง ทหารที่ไหนเขาจะทำแบบนั้น
เมื่อถามว่า นายกฯ จะให้ความสำคัญการกักเก็บน้ำในเขื่อนกับระบบการปล่อยน้ำอย่างไร นายกฯ กล่าวว่า พูดหมด ให้ความสำคัญทุกอัน เมื่อถามต่อว่า ถ้ากักเก็บน้ำมากเกินไปก็จะเกิดน้ำท่วมเหมือนปี 2554 หรือถ้าปล่อยน้ำมากเกินไปก็จะเกิดปัญหา จะแก้ปัญหาอย่างไร นายกฯ กล่าว่า อันนั้นมันของเก่า ไม่ต้องมาพูดแล้ว จะแก้ปัญหาบริหารน้ำทั้งระบบ ที่ผ่านมาชลประทานก็ทำของชลประทาน ส่วนอื่นๆ ก็ทำของตัวเอง ไม่มีความสอดคล้องกัน รัฐบาลมีหน้าที่ในการบริหารจัดการเหล่านี้ไม่ให้มันเกิดขึ้น วันนี้ไม่ต้องกลัวน้ำท่วม ไม่ท่วมอยู่แล้ว ที่ผ่านมาก็ตื่นตระหนกกันบ้าง ทุกคนก็ระมัดระวังตัวเอง เอาวันนี้ให้รอดก่อน เรื่องเก่าก็เรื่องเก่าอย่าเอามาตีกันตอนนี้ วันนี้เขาเขียน 6 ยุทธศาสตร์ 12 กิจกรรม บวกกับที่ตนสั่งไปอีก
เมื่อถามว่า ในช่วงบ่ายที่จะมีการรับมอบน้ำดื่มพระราชทานจากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร รัฐบาลจะส่งใครเป็นตัวแทนรับ นายกฯ กล่าวว่า อันนี้เป็นในส่วนของโครงการ bike for mom พระราชทานมาช่วยภัยแล้ง
นายกฯ กล่าวต่อว่า แต่ในส่วนของคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำ เป็นการขอความร่วมมือ บริจาคน้ำ ตนต้องการให้มีความร่วมมือ ไม่ได้ต้องการจากเขา รัฐบาลดูแลอยู่แล้ว ให้เขาเห็นว่าคนก็เป็นห่วงเป็นใย มันไม่ได้มากมายอะไร ถึงขนาดต้องเขียนอะไรให้เสียหายกันไปหมด