ครม.ไฟเขียวร่าง MOI สามฝ่าย “ไทย-พม่า-ญี่ปุ่น” พัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย คาดเลขาฯ สภาพัฒน์บินเซ็น 4 ก.ค.นี้ โดยมี “บิ๊กตู่-นายกฯ ญี่ปุ่น-นายกฯ พม่า” ร่วมเป็นสักขีพยานระหว่างการประชุมผู้นำลุ่มน้ำโขง “3-4 ก.ค.นี้” เผยนายกฯ เตรียมร่วมลงนามร่างยุทธศาสตร์กรุงโตเกียว
วันนี้ (30 มิ.ย.) พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบร่างบันทึกแสดงเจตจำนงสามฝ่าย ระหว่างไทย พม่า และญี่ปุ่น เกี่ยวกับความร่วมมือในการพัฒนาโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย
2. อนุมัติให้เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นผู้ลงนามในร่างบันทึกแสดงเจตจำนง ทั้งนี้ เชื่อว่าจะขอลงนามในบันทึกแสดงเจตจำนง จะมีการประชุมผู้นำลุ่มน้ำโขง ในวันที่ 4 ก.ค. ที่ญี่ปุ่น ร่าง MOI แสดงความตั้งใจให้ญี่ปุ่นเข้ามามีส่วนร่วมเข้ามาลงทุนกับไทยและพม่ามากขึ้น
3. หากมีความจำเป็นที่ต้องแก้ไขปรับปรุงบันทึกแสดงเจตจำนง ในส่วนที่มิใช่สาระสำคัญก่อนมีการลงนาม ให้ สศช. ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) พิจารณาดำเนินการได้ โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง
สำหรับสาระสำคัญของร่างบันทึกแสดงเจตจำนงฯ ประกอบด้วย 1. ด้านการลงทุนในนิติบุคคลเฉพาะกิจ (SPV) 2. ด้านความร่วมมือทางเทคนิคในการพัฒนาโครงการระยะสมบูรณ์ 3. ด้านการก่อสร้างทางหลวงในโครงการระยะสมบูรณ์ 4. ด้านการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสังคม และ 5. ด้านอื่นๆ
ทั้งนี้ บันทึกแสดงเจตจำนงมีผลเป็นระยะเวลา 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ลงนาม และหลังจากนั้นจะต่ออายุอีกครั้งละ 5 ปี เว้นแต่ประเทศหนึ่งประเทศใดในสามประเทศแจ้งยกเลิกเป็นลายลักษณ์อักษรแก่อีกสองประเทศหกเดือนล่วงหน้า
พล.ต.สรรเสริญกล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเดินทางไปร่วมประชุมผู้นำลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ครั้งที่ 7 (7 th Mekong - Japan Summit) ในวันที่ 3-4 กรกฎาคม 2558 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เพื่อร่วมลงนามในร่างยุทธศาสตร์กรุงโตเกียว ค.ศ. 2015 เพื่อความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างยุทธศาสตร์กรุงโตเกียว ค.ศ. 2015 เพื่อความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ตามที่ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ต่างประเทศ เสนอ
สำหรับร่างยุทธศาสตร์กรุงโตเกียว ค.ศ. 2015 เพื่อความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น จะระบุวิสัยทัศน์การพัฒนาลุ่มน้ำโขงระหว่าง พ.ศ. 2559-2561 (ค.ศ. 2016-2019) ซึ่งมีใจความสำคัญคือ การพัฒนาอย่างมีคุณภาพ (quality growth) กล่าวคือ การพัฒนาที่ยั่งยืน มั่นคง และคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม โดยสนับสนุนการพัฒนาภาคการผลิตเพื่อให้เป็นแหล่งรายได้ที่มั่นคง โดยสาขาความร่วมมือภายใต้ยุทธศาสตร์ฉบับดังกล่าวแบ่งออกเป็น 4 เสาหลัก ได้แก่ 1. ความพยายามด้านกายภาพ : การพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านอุตสาหกรรมในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและการเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านกายภาพ 2. ความพยายามด้านกฎระเบียบ : การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ด้านอุตสาหกรรมและการเสริมสร้างความเชื่อมโยงด้านกฎระเบียบ 3. การพัฒนาที่ยั่งยืนสู่ภูมิภาคลุ่มน้ำโขงสีเขียว และ 4. การประสานงานกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ
ร่างยุทธศาสตร์ฯ เป็นเอกสารที่มีสาระสำคัญเป็นการแสดงวิสัยทัศน์ความร่วมมือและความพยายามผลักดันให้เกิดความร่วมมือเพิ่มเติมในด้านต่างๆ ระหว่างประเทศในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและญี่ปุ่น ซึ่งไม่ก่อให้เกิดพันธกรณีทางกฎหมายภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ จึงไม่เป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศและไม่เข้าข่ายเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 23 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ประกอบกับเป็นการแสดงเจตนารมณ์ของไทยในการมีบทบาทในฐานะหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาของประเทศลุ่มน้ำโขงอีกด้วย
สำหรับความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น (Mekong-Japan Cooperation) ริเริ่มขึ้นเมื่อปี 2551 ประกอบด้วยสมาชิก 6 ประเทศ คือ กัมพูชา ลาว พม่า ไทย เวียดนาม และ ญี่ปุ่น โดยไทยมีบทบาทในการเป็นหุ้นส่วนของญี่ปุ่นในการพัฒนาลุ่มน้ำโขง เพื่อการพัฒนาอนุภูมิภาคอย่างยั่งยืน ช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของประเทศสมาชิก ลดช่องว่างความเจริญระหว่างประเทศสมาชิกและภายในภูมิภาคอาเซียน