“กรรมการการเลือกตั้ง” หารือกรมการกงสุล พร้อมกรมการปกครอง จัดทำรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรให้ถูกต้องและเป็นปัจจุบัน เพื่อให้การลงทะเบียนใช้สิทธิเป็นไปอย่างถูกต้อง ป้องกันการสวมสิทธิ
นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวถึงการเชิญคณะผู้แทนกรมการกงสุล และกรมการปกครอง ร่วมหารือการจัดทำรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรใหม่เพื่อให้ถูกต้องเป็นปัจจุบัน เพื่อให้การลงทะเบียนขอใช้สิทธินอกราชอาณาจักรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ป้องกันการสวมสิทธิ รองรับการเลือกตั้งครั้งใหม่ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2559 ซึ่งตะหารือถึงการขึ้นทะเบียนผู้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรทางอินเทอร์เน็ต รองรับการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ที่กำลังจะมีขึ้นใหม่ เนื่องจากการขึ้นทะเบียนเลือกตั้งของคนไทยในต่างประเทศข้อมูลไม่เป็นปัจจุบัน บางคนย้ายที่อยู่อาศัย หรือบางคนเดินทางกลับประเทศไทยแล้ว ทำให้ กกต.ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเลือกตั้งเพิ่มขึ้น
ดังนั้น กกต.จึงอยากให้ประชาชนจดทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งแบบครั้งต่อครั้ง การขอจดทะเบียนทางอินเทอร์เน็ตจะอำนวยความสะดวกให้แก่คนไทยในต่างประเทศ ไม่ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาขอจดทะเบียนที่สถานทูต อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มช่องทางการลงทะเบียน การเพิ่มชื่อ-ถอนชื่อผู้ขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร การตรวจสอบสิทธิในการเลือกตั้งได้ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งในระยะแรกจะเริ่มทดลองใช้กับสถานกงสุลใหญ่ที่มีความพร้อม และมีคนไทยที่อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ก่อนที่จะขยายไปประเทศอื่นต่อไป
ส่วนการหารือคาดว่าน่าจะได้รับประโยชน์ คือ จะมีระบบการยืนยันตัวบุคคล และระบบการลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร เพิ่มชื่อ-ถอนชื่อทางอินเทอร์เน็ตในประเทศนำร่อง ลดรายชื่อผู้ขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรคงค้างออกจากระบบ และสถานเอกอัคราชทูต สถานกงสุลใหญ่ในประเทศเป้าหมาย สามารถจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
นายสมชัยยังกล่าวอีกว่า การจดทะเบียนทางอินเทอร์เน็ต เป็นความร่วมมือระหว่าง กกต. สำนักทะเบียนราษฎร และกระทรวงการต่างประเทศ ที่จะต้องออกแบบระบบการลงทะเบียนด้วยความรอบคอบ ป้องกันการสวมสิทธิ โดยเฉพาะระบบยืนยันตัวบุคคลต้องมีประสิทธิภาพ ทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ และได้จัดงบประมาณกว่า 4 ล้านบาท วางกรอบแล้วเสร็จภายในเดือนพฤศจิกายนนี้ แต่ส่วนตัวไม่อยากให้เร่งดำเนินการ เพราะการทำประชามติ ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2559 ไม่ได้เปิดให้คนไทยที่อยู่ในต่างประเทศร่วมออกเสียงประชามติ แต่เพื่อรองรับการเลือกตั้ง ส.ส. ที่คาดว่าน่าจะเกิดขึ้นในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2559 ทั้งนี้ ในปัจจุบันคนไทยอาศัยอยู่ในต่างประเทศ 1 ล้านคน ลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรในการเลือกตั้ง ส.ส.และส.ว.ครั้งล่าสุด จำนวน 90,000 คน ซึ่งถือว่ามีจำนวนน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับคนที่พักอยู่ในต่างประเทศ