เกาะกระแส
00 ฤดูโยกย้ายใหญ่ ขรก.ปีนี้ดูแล้วมีความเคลื่อนไหวเร็วกว่าหลายปีที่ผ่านมา อาจเป็นเพราะว่าปีนี้มีระดับตำแหน่งสำคัญในแต่ละเหล่าทัพต่างเกษียณอายุพร้อมกัน ทั้งผบ.ทบ.คือ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร หลังก.ย.นี้ก็จะเหลือเพียงเก้าอี้ รมช.กลาโหม รวมไปถึงคนอื่นๆ เช่น พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ จะเกษียณจากตำแหน่งรองผบ.ทบ.เหลือเก้าอี้ รมว.พาณิชย์ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รองผบ.สส.จะเหลือเก้าอี้ รมว.ยุติธรรม เป็นต้น
00 นอกจากนี้ยังมีตำแหน่งสำคัญที่จะเกษียณฯพร้อมกันในปีนี้ก็ไล่ไปตั้งแต่ปลัดกระทรวงกลาโหมตำแหน่ง ผบ.สส.และผบ.ทร.รวมทั้ง ผบ.ตร. นี่ยังไม่นับตำแหน่งระดับรองปลัดกระทรวงกลาโหม รองผบ.สส.อื่นๆอีก ก็ต้องถือว่าน่าจับตา โดยเฉพาะ ผบ.ทบ.คนใหม่ที่ชิงดำกันระหว่าง พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผช.ผบ.ทบ.กับ พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ผช.ผบ.ทบ.น้องชายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคสช. แต่ถ้าพิจารณากันตามรูปการณ์ เดากันแบบไม่มีข้อมูลมากนักก็ยังต้องแทงเต็งไปที่ พล.อ.ธีรชัย มากกว่า ขณะเดียวกันที่น่าลุ้นกลับเป็น ผบ.ตร.คนใหม่ว่าใครจะมาแทน พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ระหว่าง พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ รองผบ.ตร.(อาวุโสอันดับ1) กับ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา รองผบ.ตร.นี่ก็เช่นเดียวกันหากพิจารณากันแบบปกติ มันก็ต้องเป็น พล.ต.อ.เอก อยู่แล้ว แต่ทุกอย่างมันก็เกิดขึ้นได้ เอาเป็นว่าน่าสนุกเหมือนกัน ขณะเดียวกันก็ขึ้นอยู่กับว่า โผที่อยู่ในมือของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรมว.กลาโหม ที่เป็นประธาน กตร.จะเทน้ำหนักไปทางไหน และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะไฟเขียวหรือไม่ !!
00 เมื่อทุกอย่างใกล้ชี้ขาด ทางก็เริ่มแคบ ในเส้นทางโรดแมปของ คสช.ก็เช่นเดียวกันทุกอย่างเริ่มบีบรัดเข้ามาเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ สังเกตหรือไม่ว่าเวลานี้เริ่มได้เห็นความเคลื่อนไหวแบบ "ใต้น้ำ"ที่ผิดปกติมากขึ้นเรื่อยๆเช่นกัน ที่เห็นกันก็คือ "ข่าวปล่อย"เรื่อง "ปฏิวัติซ้อน"ออกมาเขย่าขวัญแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย ซึ่งแน่นอนว่าหากพูดถึงความเป็นไปได้มันแทบมองไม่เห็นและไร้เหตุผลสิ้นดี ขณะเดียวกันเราก็เริ่มได้เห็นความเคลื่อนไหวของนักการเมืองที่ออกมาร่วมวงชี้ช่องให้เห็นถึง"เกมคว่ำรธน."เพื่อนับหนึ่งใหม่ "อยู่ยาว"ซึ่งเรื่องแบบนี้มันเป็นเรื่องอ่อนไหวทั้งสิ้น
00 อ่อนไหวหรือไม่อ่อนไหวก็ลองสังเกตลีลาของ "เนติบริกร"วิษณุ เครืองาม รองนายกฯฝ่ายกฎหมายที่ต้องรีบออกมาร่ายยาวยืนยันปฏิทินตามโรดแมปอย่างละเอียด เป็นขั้นเป็นตอน ว่าในที่สุดแล้วจะมีการลงประชามติรธน.ฉบับใหม่ในเดือน ม.ค.ปีหน้า หากผ่านก็จะเริ่มนับเวลาเข้าสู่การเลือกตั้งในราวกลางเดือนสิงหาคม แต่ความหมายที่ต้องเข้าใจก็คือ ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า รธน.ต้องผ่านเท่านั้น หากไม่ผ่านถูกคว่ำโดย สปช.มันก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง "ยาวไปเลย"