“ประยุทธ์” เผยไทยขาดมัคคุเทศก์ สั่งต่อยอดในมหาวิทยาลัยรัฐ-เอกชน พร้อมให้ปรับปรุงการศึกษา ม.ปลาย เพิ่มสายอาชีพ เล็งเปิดให้นักศึกษาจบใหม่ตกงานมาฝึกอบรม ทั้งการค้า วิศวกร เผยข้อตกลงลงทุนในไทยต้องใช้คนไทย ไม่ขัดประชามติ ชี้คิดไปเองเสียงของไม่เสียงของ ยันทุกคนต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
วันนี้ (26 พ.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงเรื่องการยกระดับความรู้ วันนี้เราขาดมัคคุเทศก์จำนวนมาก การพูดภาษาที่ 2 ภาษาที่ 3 มีปัญหา ไม่มีการจ้างไกด์ในพื้นที่แต่จะไปว่าเขาไม่ได้ เพราะเราไม่มีความพร้อม เรื่องนี้ตนได้สั่งให้ต่อยอดในมหาวิทยาลัยเอกชน มหาวิทยาลัยราชภัฏ ว่าจะสามารถเข้ามาดูตรงนี้ได้หรือไม่ เพราะหากมีการผลิตคนที่จบปริญญาแต่ละสาขาออกมาแล้วจะไปทำงานอะไร สมมติว่าให้กระทรวงศึกษาธิการไปพิจารณาว่าในมหาวิทยาลัยราชภัฏจะสามารถผลิตนักศึกษาออกมารองรับตลาดการท่องเที่ยว การบริการ ภาษา ที่ไม่ใช่อุตสาหกรรมได้หรือไม่ ในส่วนของมหาวิทยาลัยราชมงคลก็ให้ผลิตในเรื่องวิศวกร ช่างเทคนิค อิเล็กทรอนิกส์ สำหรับมหาวิทยาลัยของรัฐก็ผลิตนักวิชาการ ครู ก็ว่ากันไป แต่ทั้งนี้เด็กจะต้องเป็นคนเลือก ตนได้สั่งการไปว่าให้มีการปรับปรุงระบบการศึกษาในชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ให้รู้ว่ามีเรื่องของสายอาชีพทั้งการบริการ การค้า การท่องเที่ยว เด็กก็ไม่ต้องไปสอบแข่งมากๆ ส่วนมหาวิทยาลัยเอกชนเองก็จะปรับค่าเทอมลดลงเด็กก็จะไปเรียนมากขึ้นจบมาก็มีงานทำ แล้วก็ส่งรายชื่อไว้กับกระทรวงแรงงาน ซึ่งกระทรวงแรงงานก็เตรียมบัญชีไว้พอเรียนจบก็ป้อนคนเข้าไป
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาไม่ได้เตรียมการอย่างนี้ พอรัฐบาลเข้ามาก็เริ่มจัดระเบียบได้ ตนกะไว้ว่าปีนี้จะให้มีการเปิดรับสมัคร นิสิต นักศึกษาที่เรียนจบแล้วและไม่มีงานทำ เอามาต่อยอดทั้งในสาขาที่เกี่ยวกับการค้า การบริการในเออีซี และการฝึกอบรมหลักสูตรสั้นๆ ด้านวิศวกรรถไฟ วิศวกรน้ำ หรือจะไปหัวหน้าก็ได้เดี๋ยวก็มีหลายบริษัทเข้ามา ทั้งนี้เรามีข้อตกลงที่ว่าหากบริษัทไหนที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย จะต้องใช้แรงงานประเทศ รวมใช้อุปกรณ์และวัตถุดิบในประเทศไทย นี่คือสิ่งท่ารัฐบาลนี้ทำ แต่ที่ช้าเพราะต้องคุยกันทุกเรื่อง เพราะทุกทีก็ทำกันง่ายๆ
พล.อ.ประยุทธ์ยังเผยความคืบหน้าการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 เพื่อเปิดทางให้ทำประชามติว่า เรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวกับตนเพราะคณะรัฐมนตรีได้ส่งไปแล้ว หากมีการเสนอให้ทำประชามติรัฐบาลก็ไม่ได้ขัดข้อง ถ้าเห็นชอบร่วมกันก็ต้องแก้เป็นรัฐธรรมนูญ ในเรื่องของรายละเอียดการทำประชามติคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็ต้องเสนอว่าจะทำอย่างไร ในส่วนประเด็นที่ตนห่วงใยก็พูดไปแล้วว่าจะทำอย่างไรถึงจะไม่เสียเปล่า ที่พูดกันทุกวันว่าเสียของหรือไม่เสียของ คือคนไปตัดสินกันเอง มันไม่ใช่ แต่ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และต้องเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม ถ้าไม่เชื่อมั่นแล้วศาลนู่นศาลนี่ แล้วจะไปได้อย่างไรประเทศไทย มันไม่ได้ วันนี้ตนพยายามไม่บิดเบือนอำนาจในทางตุลาการ องค์กรอิสระก็ว่าไป จะผิดจะถูกก็ว่ามา แต่ทุกคนต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ใครไม่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมก็ต้องลงโทษก็เป็นนักโทษไปเท่านั้นเอง