รายงานการเมือง
การหารือของแม่น้ำสองสายทั้งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กับ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่สุดก็มีมติเปิดทางให้แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 เพื่อให้มีการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประเทศไทย ไม่ได้พลิกไปจากความคาดหมายของคอการเมือง
การเปิดช่องให้มีการทำประชามติ เป็นการระบายอุณหภูมิร้อนแรงทางการเมืองให้ผ่อนคลาย ก่อนจะกลายเป็นระเบิดรอเวลาปะทุ เพราะแค่เปิดร่างแรกให้ชมในรอบปฐมทัศน์ เสียงบ่นระงมกันทั่วหัวระแหง เพราะเกินจะรับไหว จึงกลายเป็นร่างรัฐธรรมนูญฉบับส่ายหัว
เสียงต่อต้านคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญมีมาเรื่อยๆนับตั้งแต่เริ่มร่าง ทั้งฝ่ายการเมือง นักวิชาการ ประชาชน ถ้าหากดึงดันไม่ทำประชามติ รังแต่จะดึงกันไปมาจนเชือกขาด สั่งสมพลังความขัดแย้งขึ้นอีกระลอก การทำประชามติจึงเป็นปล่องระบายอากาศท่ามกลางสถานการณ์ร้อนได้เป็นอย่างดี
แต่กว่าจะไปถึงจุดนั้นยังต้องรอคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ตบแต่งหน้าตาของร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เพื่อให้เป็นตามที่ฝ่ายต่างๆเสนอความเห็นให้ปรับแก้ ให้เข้ารูปเข้ารอย ไม่ใช่เอาจะอย่างใจตัวอยู่ท่าเดียว ขั้นตอนหลังจากปรับแก้แล้ว ก็เป็นหน้าที่ของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญจะให้ผ่าน หรือจะให้จอด
ก่อนจะคลอดออกมาเป็นฉบับเกือบสมบูรณ์ สปช. จะพึงพอใจหรือไม่ ก็ยังเป็นเงื่อนไขก่อนเข้าสู่การทำประชามติ ฉะนั้นก็ต้องรอถึงเดือนสิงหาคม หรืออาจจะขยายเวลาออกไปอีก จากนั้นคงจะรู้กันว่าประชาชนคนไทยจะได้ลงตราประทับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้คลอดออกมา หรือจะลงมือฆ่าก่อนคลอด ค่อยว่ากัน
ถ้าหากไม่ปรับแก้ก็ส่อแท้งในขั้นตอน สปช. ที่ร่ำๆ จะโหวตคว่ำ
หรือแม้ว่าผ่านการโหวตของ สปช. แล้วมาถึงมือประชาชน หลายสำนักคาดเดากันว่าคนจะออกมาเข้าคูหามาลงประชามติกันมืดฟ้ามัวดิน เพื่อไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะรัฐธรรมนูญ ไม่ได้ร่างฯมาเพื่อนำมาใช้จริง แต่ร่างฯเพื่อเป็นเงื่อนไขทางการเมือง รัฐธรรมนูญนวัตกรรมชิ้นเดียว ที่จะทำให้ต่ออายุคสช.ออกไปได้แบบไม่น่าเกลียด
อย่าลืมว่าระยะเวลาของโรดแมปสั้นกระชั้นเกินกว่าจะเคลียร์ปัญหาที่ซุกอยู่ใต้พรมให้หมดไปได้ตามเจตนารมณ์ของการเข้ามายึดอำนาจ และการแก้ปัญหาต่างๆ ดูเหมือนจะไม่ค่อยคืบหน้าไปในทางที่น่าพอใจ จะเห็นว่าทั้งปัญหาเรื่องการบริหารประเทศ การทุจริต ความขัดแย้ง สลายสีเสื้อ ปัญหาเหล่านี้เพียงแค่โดนยาสลบ รอวันฟื้น
หรือกระทั่งการใช้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว รื้อรากของระบอบเก่าที่ฝังลึกไว้ในวงราชการ กว่าที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้า คสช. จะกล้างัดออกมาใช้ ก็ใช้เวลาเกือบค่อนปี ทำให้ยังเคลียร์ไม่หมดง่ายๆ หรือกระทั่งปัญหาคนรากหญ้าตอนนี้เศรษฐกิจฝืดเคือง ก็พานทำให้นึกถึง ประชานิยมเข้ามาช่วยอุ้ม
ดังนั้น ถ้าปล่อยให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นเร็ว กลุ่มการเมืองเดิมๆ ก็อาจกลับเข้าสภาเหมือนเดิม แล้วปฏิวัติก็เสียของเหมือนเดิม ไม่ต่างจากปี 49 แล้วอย่างนี้ คสช. คงมิกล้าจะปล่อยวาง ด้วยเงื่อนไขหลายอย่าง
แต่ถ้าอยากต่อเวลา ผลงานต้องมีมาโชว์ ไม่อย่างนั้นก็ระวังก้อนหินจะถล่มเข้าใส่ เพราะการต่อเวลาเป็นเหมือนอาวุธ ถ้าใช้เป็นก็จัดการปัญหาได้ ถ้าใช้ไม่ดีก็กลายเป็นหอกยอกย้อนเข้าคอหอยรัฐบาล จนอาจจะตั้งตัวไม่ติด เรื่องการเมืองมันเกี่ยวโยงกับเรื่องการกิน ปากท้อง ปลุกความหิวของคนให้ตื่นจะเอาให้อยู่คงลำบาก
โดยเฉพาะเมื่อวันที่ 19 พ.ค. ที่ผ่านมา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ไปปาฐกถาพิเศษ ที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ได้พูดถึงการบริหารประเทศของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ในทำนองปรามาสฝีมือการบริหารประเทศยังไม่เป็นชิ้นเป็นอัน อัดเข้าจุดอ่อนด้านการบริหาร ไม่แตะประเด็นเรื่องการเมืองโดยตรงก็ทำให้พล.อ.ประยุทธ์เสียแต้มไปพอสมควร
ในโอกาสที่ คสช. จะมีอายุ 1 ขวบปี หลายๆ งานคงต้องเร่งฝีเท้ากันให้มาก โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจเพราะอยู่ในสภาพกลืนไม่เข้าคายไม่ออกกันมาระยะหนึ่งแล้ว แม้จะเป็นตัวบุคคลจากสายพี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์วางตัวไว้ แต่ พล.อ.ประยุทธ์ อาจต้องลดความเกรงใจคนกันเอง เพื่อให้ประเทศเดินหน้าก่อน ให้ประชาชนมาก่อน ไม่ใช่ประชาชนตายก่อนเหมือนหลายๆ ยุคที่ผ่านมา
หลังครบรอบเบิร์ธเดย์ 1 ปี คสช. คาดว่า จะได้เห็นการปรับเปลี่ยนตัว ครม. โดยเฉพาะในเก้าอี้ที่เป็นจุดอ่อนต่อการบริหารประเทศ ถ้าไม่ปรับแก้ เวลาที่จะอยู่ในอำนาจก็อาจจะสั้นลง จนยากยืดออกไปได้ด้วยเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้น