ประธาน สปช.นำทีมเปิดเว็บไซต์เสียงปฏิรูป เปิดช่องทางสื่อสาร “หนังสือพิมพ์ออนไลน์” กระจายข่าวสาร สปช.-กมธ.และร่าง รธน. ระบุเป็นนิมิตหมายที่ดีเปิดช่องทางสื่อโดยตรงถึงมือประชาชนร่วมกันผลักดันปฏิรูปประเทศแห่งเดียวของโลก
ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 09.00 น. วันนี้ (18 พ.ค.) นายเทียนฉาย กีระนันท์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เป็นประธานเปิดเว็บไซต์เสียงปฏิรูป พร้อมด้วย น.ส.ทัศนา บุญทอง รองประธาน สปช. นางอ่อนอุษา ลำเลียงพล ประธานกรรมาธิการประชาสัมพันธ์เพื่อการปฏิรูป นางภัทรียา สุมะโน ประธานอนุกรรมาธิการขับเคลื่อนการสื่อสารภายในและเสริมสร้างภาพลักษณ์ สปช. นายบุญเลิศ คชายุทธเดช นายนิมิต สิทธิไตรย์ พร้อมคณะอนุกรรมาธิการฯ และสปช. อาทิ นายอลงกรณ์ พลบุตร นายวันชัย สอนศิริ โดยบรรยากาศเป็นไปด้วยความคึกคัก มีการเปิดเพลง สปช.และนำเว็บไซต์เสียงปฏิรูปขึ้นจอประกอบการแถลงข่าวด้วย
นายเทียนฉายกล่าวระหว่างเปิดงานว่า ตั้งแต่เริ่มงานปฏิรูปมามีการทำการศึกษา สำรวจหลายครั้ง โดยการเลือกตัวอย่างประชาชนทั้งประเทศ คำถามที่สำคัญคือ รู้จัก สปช.หรือไม่ คำตอบคือทุกคนไม่รู้จัก แล้วถามกลับมาที่ผู้สำรวจว่ามันคืออะไร เพราะว่ามันเป็นหนึ่งในหน่วยงานที่เป็นตัวย่อ และก็มีแบบนี้เต็มไปหมด และเมื่อมีการอธิบายก็ต้องถามต่อว่าแตกต่างจาก สนช.อย่างไร คำถามที่ลึกละเอียดกว่านั้น คือ รู้หรือไม่ สปช.ทำงานอย่างไร มันไม่มีความหมาย เพราะเริ่มต้นก็ไม่รู้จักเสียแล้ว แต่ว่าการศึกษาหลายๆ ครั้งที่ตามมา ปรากฏว่าประชาชนมีความเข้าใจ ด้วยการให้ข้อมูลของพวกเราและกรรมาธิการที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสื่อที่ช่วยขยายความ ล่าสุดการสำรวจโดยตัวอย่างของประชาชนร้อยละ 51 แล้วที่รู้จักว่า สปช.คืออะไรและในนั้นก็มีจำนวนหนึ่งที่รู้ว่า สปช.ได้ทำอะไรไปบ้าง และส่วนใหญ่ก็พอใจจะสังเกตว่าเวลาผ่านมาค่อนปื แม้จะมีความรู้จักและเข้าใจมากขึ้นแต่ว่าถ้าใช้เวลาถึงขนาดนี้ และงานที่ สปช.ทำเป็นเรื่องกระทบปากท้องความเป็นอยู่ของประชาชน เรื่องของประเทศ และคนยังรู้จักเพียงเท่านี้ แสดงว่ายังสื่อความเข้าใจ สื่อความหมายอะไรที่ยังไม่ปกติ คณะกรรมาธิการประชาสัมพันธ์เพื่อการปฏิรูปกังวลเรื่องนี้มาตลอดว่าจะเดินหน้าอย่างไร
นายเทียนฉายกล่าวว่า สิ่งที่เราทำไปต้องตอบโจทย์เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนชาวไทย โดยเฉพาะอนาคตของการเปลี่ยนแปลงในเชิงปฏิรูปซึ่งเป็นเรื่องยาก ตัวที่เป็นปฏิรูปหลักๆ กำลังจะเข้ามา ที่ผ่านมายังไม่ถึงจุดที่เป็นแก่นแท้ ฉะนั้นเป็นเรื่องยากลำบากของการทำความเข้าใจสื่อสารกับประชาชนมากขึ้นไปอีก ขณะนี้เรื่องที่เผชิญหน้าเป็นเรื่องของการร่างรัฐธรรมนูญที่ต้องอาศัยการทำความเข่าใจค่อนข้างมาก ฉะนั้นทีมงานประชาสัมพันธ์เรื่องการปฏิรูปโดยเฉพาะคณะอนุกรรมาธิการขับเคลื่อนฯ ได้ใช้ความพยายามหาความหลากหลายในช่องทางที่จะเข้าถึงประชาชนเพื่อทำความเข้าใจให้ได้ในเรื่องนี้
“วันนี้เป็นวันหนึ่งที่หลังจากได้ใช้ความพยายามอย่างมากในหลายๆ วิธี หลายอุปกรณ์ เครื่องมือที่จะเข้าถึงประชาชน สื่อทางตรงเป็นวิธีหนึ่ง นอกจากการใช้สื่อมวลชนทั่วๆ ไป คือระบบที่เป็นสื่อออนไลน์ เป็นนิมิตหมายที่ดีบังเอิญคนที่คิดเรื่องนี้ยังชื่อ นิมิต ด้วย ผมคิดว่าคุณนิมิตได้สร้างนิมิตหมายที่ดีให้แก่สภาปฏิรูปแห่งชาติ ให้แก่คณะกรรมาธิการประชาสัมพันธ์เพื่อการปฏิรูป การกระทำครั้งนี้เป็นการพยายามของหลายคนหลายฝ่าย เรียกว่าเป็นความพยายามร่วมให้เกิดความสำเร็จในวันนี้ซึ่งเป็นครั้งแรกของสภา ไม่แน่ใจว่าเป็นครั้งแรกของโลกหรือไม่ที่มีสภาทำงานแบบนี้ ผมคิดว่า สปช.มีความยินดีที่จะนำเสนอสื่อออนไลน์นี้ไปสู่ประชาชนชาวไทยให้มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องการปฏิรูป เรื่องที่เรากำลังทำเพื่อประโยชน์ประเทศชาติและประชาชน รวมทั้งเรื่องร่างรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้อง”