xs
xsm
sm
md
lg

“ธีระชัย” ยื่นดีเอสไอสอบแก๊งสูบเงิน “กองทุนอนุรักษ์” ผ่านมูลนิธิพลังงานฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (ภาพจากแฟ้ม)
อดีต รมว.คลังยื่นกรมสอบสวนคดีพิเศษ สวบสวนการหาประโยชน์จากกองทุนการอนุรักษ์พลังงาน โดยผ่านมูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม ที่ “ปิยสวัสดิ์” เป็นผู้จัดตั้ง ก่อนอนุมัติตั้งกองทุนย่อย ให้มูลนิธิฯ เป็นผู้จัดการ กินค่าบริหาร แถมเอาเงินไปซื้อหุ้นบริษัทเอกชนโดยผิดกฎหมาย

รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 4 พ.ค.ที่ผ่านมา นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ยื่นคำร้องต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ให้ทำการสอบสวนกรณีการปฏิบัติหน้าที่เพื่อเอื้อประโยชน์แก่บุคคลโดยมิชอบจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน

หนังสือดังกล่าวระบุว่า นายปิยะสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ซึ่งดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติระหว่างวันที่ 29 ม.ค. 2537 ถึง 27 พ.ค. 2543 ได้ยื่นขอจัดตั้งมูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม และได้รับอนุญาตจัดตั้งเมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2543 โดยได้เขียนวัตถุประสงค์ของมูลนิธิข้อ 5 ระบุว่า เพื่อส่งเสริมและให้ความรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม โดยการรับฝึกอบรม ประชาสัมพันธ์ และบริหารโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานโดยมิได้มุ่งหากำไร

นอกจากเป็นผู้จัดตั้งมูลนิธิฯ แล้ว หลังจากนายปิยะสวัสดิ์พ้นจากตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติไม่ถึง 1 เดือน ก็ได้เข้าไปเป็นประธานกรรมการมูลนิธิฯ และดำรงตำแหน่งเรื่อยมาจนลาออกในเดือนตุลาคม 2549 เพื่อไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

หลังจากนายปิยสวัสดิ์ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานในรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ก็ได้ใช้อำนาจรัฐมนตรีแต่งตั้งนายพรชัย รุจิประภา เป็นปลัดกระทรวงพลังงาน เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2549 และแต่งตั้งตนเองเป็นประธานอนุกรรมการของกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานอีกด้วย และได้ร่วมกับนายพรชัยในฐานะอนุกรรมการนำเงินของกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานไปลงทุนกับธุรกิจเอกชนในโครงการพลังงานต่างๆ โดยจัดประชุมเมื่อ 17 ม.ค. 2551 โครงการดังกล่าวแบ่งเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานจำนวนหนึ่ง ไปตั้งกองทุนย่อยเรียกว่า ESCO Fund โดยมีการอนุมัติให้เริ่มต้นเงินลงทุน 500 ล้านบาท โดยกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานจะไม่บริหารเอง แต่จะมีการจ้างบุคคลภายนอกเป็นผู้จัดการเพื่อบริหารเงินลงทุน

ในการสรรหาผู้จัดการกองทุน ESCO Fund ก็มีการกำหนดกรอบที่ส่อเจตนาว่าเป็นการบีบบังคับแนวทางการดำเนินงานให้เอื้อประโยชน์แก่มูลนิธิ 2 แห่ง คือ มูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม และมูลนิธิอนุรักษ์พลังงานแห่งประเทศไทยเป็นสำคัญ เนื่องจากองค์กรอื่นมีข้อจำกัดด้านกฎหมาย

นอกจากนี้ ถึงแม้วัตถุประสงค์ของมูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อมจะระบุไว้ชัดเจนว่า จะบริหารโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานโดยมิได้มุ่งหากำไร แต่นายปิยะสวัสดิ์ก็อนุมัติในที่ประชุมวันที่ 17 ม.ค. 51 ให้จัดสรรให้มูลนิธิมีกำไรจากการทำหน้าที่เป็นผู้จัดการกองทุน ซึ่งเป็นการส่อเจตนาเปิดให้มีการจ่ายค่าบริหารจัดการโครงการเพื่อประโยชน์ของมูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อมโดยตรง และเป็นการแสดงว่าการที่มูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อมทำหน้าที่เป็นผู้จัดการกองทุนนั้นเข้าข่ายเป็นการมุ่งหากำไร

หลังจากนายปิยสวัสดิ์พ้นจากตำแหน่ง รมว.พลังงานในเดือน ก.พ.51 ต่อมาในเดือน เม.ย. 51 ได้กลับเข้าเป็นกรรมการมูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อมอีกครั้ง และในวันที่ 8 เม.ย. 51 นายปิยสวัสดิ์ก็ได้เป็นประธานกรรมการของมูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม ต่อมา ถึงแม่นายปิยสวัสดิ์จะพ้นจากตำแหน่ง รมว.พลังงานไปแล้ว แต่องค์กรอื่นล้วนมีข้อจำกัดทางกฎหมาย มูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อมจึงได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้จัดการกองทุน และมีการทำสัญญากับกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ฉบับแรก เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 51 ขณะที่นายปิยสวัสดิ์เป็นที่ปรึกษาของมูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม

สัญญาระหว่างมูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อมและกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานฉบับแรกดังกล่าว มีการจ่ายเงินสำหรับไปลงทุนให้แก่มูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อมจำนวน 250 ล้านบาท และอีก 12.5 ล้านบาท หรือร้อย 5 ของเงินลงทุน แทนที่จะระบุให้ถูกต้องตามเนื้อหาทางเศรษฐกินว่าเป็นค่าบริหารจัดการโครงการ กลับใช้วิธีระบุในสัญญาว่า “เป็นเงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการจำนวน 12,500,000 บาท(สิบสองล้านห้าแสนบาทถ้วน)” เป็นการหลีกเลี่ยงที่จะไม่ระบุว่าการดำเนินงานของมูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อมนั้นเป็นการมุ่งหากำไร แต่เงินจำนวนดังกล่าวนี้ก็มีการบันทึกในบัญชีของมูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อมเป็นรายได้ของมูลนิธิฯ อย่างชัดเจน

“การดำเนินการดังกล่าวข้างต้นจึงส่อเจตนาเข้าข่ายเพื่อเอื้อประโยชน์แก่ตนเองผ่านมูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม” คำร้องระบุ

นอกจากนี้ หนังสือดังกล่าวยังระบุถึงการฝ่าฝืนกฎหมายเกี่ยวกับกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ในหลายกรณี อาทิ การนำเงินกองทุนฯ ไปลงทุน โดยเงินกองทุนฯ ที่ให้แก่มูลนิธิทั้งสองนั้น มีการนำไปลงทุนในธุรกิจภายนอก โดยมูลนิธิอนุรักษ์พลังงานแห่งประเทศไทยได้นำเงินไปซื้อหุ้นสามัญในบริษัท เอ็นทีแอล ไบโอ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด 22 ล้านบาท บริษัท เอ็นเนอร์ยี่มาสเตอร์ จำกัด 1.5 ล้านบาท บริษัท วิทัย ไบโอพาวเวอร์ จำกัด 50 ล้านบาท และบริษัท พาวเวอร์กรีน 23 ล้านบาท ส่วนมูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อมมีการลงทุนลักษณะนี้ ระยะที่ 1 จำนวน 162 ล้านบาท ระยะที่ 2 จำนวน 119 ล้านบาท ซึ่งการนำเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานไปลงทุนซื้อหุ้นสามัญในลักษณะ venture capital เพื่อร่วมลงทุนและร่วมเป็นเจ้าของกิจการเอกชนเพื่อผลกำไรทางธุรกิจนั้นเป็นการผิด มาตรา 25 (2) ของ พ.ร.บ.การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ.2535

การจัดตั้งกองทุนย่อยในชั้นลูกขึ้นก็ไม่สามารถนำเงินไปลงทุนดังกล่าวได้ เนื่องจากกฎหมายมิได้เปิดให้กองทุนฯ ซึ่งเป็นกองทุนหลักในชั้นแม่สามารถนำเงินไปลงทุนเพื่อหากำไร การดำเนินงานในชั้นกองทุนระดับลูกย่อมไม่มีสิทธิที่จะปฏิบัติแตกต่างไปจากกรอบที่กฎหมายบัญญัติไว้สำหรับบริหารกองทุนซึ่งเป็นกองทุนชั้นระดับแม่แต่อย่างใด

กรณีมูลนิธินำเงินไปลงทุนในฐานะตัวแทน หรือนำเงินไปลงทุนในฐานะตัวการ ก็ผิดกฎหมายเช่นกัน

นายธีระชัยได้สรุปว่า การดำเนินการดังกล่าวมีข้อสงสัยส่อเจตนาเป็นการร่วมมือกันระหว่างบุคคลที่เกี่ยวข้องเพื่อหาประโยชน์ส่วนตนผ่านมูลนิธิพลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อม และเป็นการดำเนินการที่ผิดกฎหมายเกี่ยวกับกองทุนฯ และเนื่องจากเป็นการดำเนินการในระดับสูง จึงแจ้งมาเพื่อโปรดรับไว้เป็นคดีพิเศษ และโปรดทำการสอบสวนอย่างเร่งด่วนต่อไป

หนังสือคำร้องต่อดีเอสไอฉบับนี้ นายธีระชัยได้ทำสำเนาถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ศ.พิเศษ ชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และ พล.อ.อุดมเดช สีตะบุตร ประธานคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ด้วย

















กำลังโหลดความคิดเห็น