ผ่าประเด็นร้อน
“ใครจะมาพูดอะไรก็แล้วแต่ ให้ผมอยู่หรือไม่อยู่ มันอะไรกันนักหนา อะไรก็ผม ไปคิดกันมั่งสิ เขียนให้หมดแล้ว รัฐธรรมนูญก็เขียนแล้ว ต้องทำประชามติก็ไม่ได้เขียนไว้ อยากจะทำหรือไม่ทำก็เรื่องของคุณ เขียนทางเลือกไว้อยู่แล้ว ส่วนโรดแมปผมก็มีอย่างนี้ ตอนนี้มี 60 วัน 90 วัน ก็ต้องเป็นอย่างวันนั้นถ้ามันไปได้ ถ้าไปไม่ได้ก็ไปหาทางมาสิ ผมจะไปแก้อะไรอีกเล่า”
ถามว่ามีการประเมินว่าแนวโน้มสถานการณ์ไปได้หรือไม่ อย่างไร พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวว่า “ไม่รู้ เป็นเรื่องของทุกคนทั้งประเทศจะเอาอย่างไร จะมาโยนให้ผมคนเดียวได้อย่างไร จะให้ประเทศชาติเป็นแบบเดิมก็เชิญเลือกตั้งตามสบาย แล้วผมก็ไป แต่ถ้าจะให้อยู่ อยู่อย่างไรไปหาทางมา ถ้าอย่างนั้นต้องช่วยผม”
เมื่อถามว่า ฝ่ายไหนจะเป็นคนหาทางออก พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ไม่รู้อย่ามาโยนให้ตน เป็นหน้าที่ของคนไทยทั้งประเทศ ทีอย่างนี้มาบอกว่าจะเอาฝ่ายไหน สื่อต้องไปบอกประชาชน แต่ไม่ต้องมาว่าว่าตนใช้สื่อ เพราะไม่เคยใช้ แต่สื่อต้องไปสร้างความเข้าใจกับคน ซึ่งเขาจะรู้เองว่าคิดอะไรทำอะไร ทำไมต้องบอกทุกเรื่อง
คำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ข้างต้นมีขึ้นเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาก่อนเดินทางไปร่วมประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่ประเทศมาเลเซีย ไม่มีคำพูดตอนไหนที่แสดงให้เห็นว่าเขาปฏิเสธอยู่ในตำแหน่งผู้นำประเทศต่อไปอีกระยะหนึ่ง
อย่างไรก็ดี เพื่อความเข้าใจก็ต้องทบทวนถึงที่มาที่ไปของสาเหตุที่ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้อง “อยู่ต่อ” หรือไม่อยู่ต่อเสียก่อน สาเหตุหลักมาจากวงการหารือกันระหว่างพวกนักการเมืองที่เป็นตัวแทนของพรรคการเมืองใหม่อย่าง พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ รวมทั้งบรรดาแกนนำคนเสื้อแดงเมื่อสัปดาห์ก่อนที่มีการเปิดเผยท่าทีที่ตรงกันอย่างไม่น่าเชื่อก็คือ ยินดีหากมีการเลื่อนการเลือกตั้งออกไปอีกระยะหนึ่งเพื่อแลกกับการปรับปรุงแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยมากกว่าเดิม ในจำนวนนั้นอาจมีการทำประชามติก่อนที่จะบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หากต้องเลื่อนการเลือกตั้งออกไปนั่นก็หมายความว่า พล.อ.ประยุทธ์ก็ต้องเป็นายกรัฐมนตรีต่อไปอีกระยะหนึ่ง อาจ 1-3 ปีก็ได้ หากมีการลงประชามติแล้วรัฐธรรมนูญไม่ผ่านความเห็นชอบต้องมาเริ่มต้นกันใหม่
ดังนั้น เมื่อพิจารณาจากคำพูดข้างต้นของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่มีสักคำที่ปฏิเสธว่าไม่รับตำแหน่งอีกแล้ว หรือยืนยันว่าเมื่อเสร็จสิ้นตามโรดแมปที่วางไว้ก็จะกลับบ้าน แม้ว่าน้ำเสียงที่ออกมาในโทนหงุดหงิดบ้าง แต่พิจารณากันตามลักษณะนิสัยที่แสดงออกมาในช่วงหลังๆ ถือว่าเป็นเรื่องปกติ
ขณะเดียวกัน หากพิจารณาอีกด้านหนึ่งก็ต้องเข้าใจเหมือนกันว่ามันเป็นเรื่องซีเรียส หากรีบออกตัวแบะท่ารับทันที เพราะนั่นเท่ากับว่าเสี่ยงต่อการถูกตำหนิว่า “กลืนน้ำลาย” และข้อหาที่อ่อนไหวมากที่สุดก็คือ “สืบทอดอำนาจ” หรือ “หลงอำนาจ” อาจเป็นเรื่องใหญ่ตามมาแบบไม่คาดหมาย และที่ผ่านมาในยุค รสช.เคยประสบมาแล้ว เชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ต้องการให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยแบบนั้นแน่นอน
ดังนั้น หากให้เซฟที่สุดก็ต้องมาจากการตัดสินใจของประชาชน ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ย้ำว่าต้องเป็นอำนาจของประชาชนเท่านั้น คนอื่นไม่มีสิทธิ์ ซึ่งคนอื่นในที่นี้น่าจะหมายถึง “นักการเมือง” ก็ได้
เพราะคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตอนหนึ่งที่หลุดออกมาในทำนองว่า ในตอนแรกบอกว่าจะทำตามโรดแมปเสร็จแล้วก็ไป แต่หากมีการเปลี่ยนแปลงเดี๋ยวจะหาว่า “เบี้ยว” อะไรประมาณนี้ ซึ่งเขาก็รู้ว่าเรื่องแบบนี้มันอ่อนไหวและซีเรียสมาก และนี่อาจเป็นที่มาของคำพูดและท่าทีที่ต้อง “ยืนระยะให้เหมาะสม” ที่สำคัญต้องเก็บอาการให้นิ่งที่สุดไว้ก่อน
เมื่อพิจารณาจากท่าทีเบื้องต้นของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็พอประเมินได้ว่า นาทีนี้เขายังระมัดระวังและสงวนท่าทีเอาไว้ก่อน ไม่อยากพูดอะไรที่ผูกมัด เพราะยังไม่ถึงเวลาที่ต้องตัดสินใจ แต่เมื่อถึงเวลาสิ่งที่เขาจะใช้เป็นเกราะกำบังก็คือ “มติของประชาชน” หรือเสียงเรียกร้องของประชาชนที่จะให้อยู่ต่อเพื่อสานภารกิจสำคัญ ที่เชื่อว่าอีกไม่นานก็น่าจะชัดขึ้น!!