xs
xsm
sm
md
lg

เตรียมจัดระเบียบ “หอพักทั่วประเทศ” ในอีก 120 วัน แยกชัด “หอพักชาย-หญิง”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เตรียมจัดระเบียบ “หอพักทั่วประเทศ” ในอีก 120 วัน หลังราชกิจจาฯประกาศใช้ พ.ร.บ.ฉบับใหม่ กำหนดชัดให้แยก “หอพักชาย-หญิง” ของรัฐ-เอกชน ให้อำนาจรัฐมนตรีแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ และออกกฎกระทรวงกําหนดค่าธรรมเนียม ส่วนระดับท้องถิ่น ผู้ว่าฯ กทม.-ผู้ว่าฯ 75 จังหวัด เป็นพนักงานออกใบบอนุญาต หอพักใหม่ต้องมีคณะกรรมการส่งเสริมกิจการหอพัก ผู้จัดการหอพัก ย้ำคนดูแลห้องพักของหอพักหญิงต้องเป็นหญิงเท่านั้น

วันนี้ (22 เม.ย.) มีรายงานว่า เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้ประกาศ “พระราชบัญญัติ หอพัก พ.ศ. ๒๕๕๘”
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2558/A/032/1.PDF

“โดยมีเหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่กฎหมายว่าด้วยหอพักได้ใช้บังคับมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๗ สาระสําคัญและรายละเอียดเกี่ยวกับการประกอบกิจการหอพักไม่เหมาะสมกับสภาพสังคมปัจจุบัน สมควรกําหนดแนวทางและวิธีการในการกํากับดูแลการประกอบกิจการหอพักให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น เพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพของเด็กและเยาวชนที่อยู่ระหว่างการศึกษา

ประกอบกับ แผนปฏิบัติการกําหนดขั้นตอนการกระจายอํานาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติกําหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอํานาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้กําหนดให้โอนอํานาจในการกํากับดูแลการประกอบกิจการหอพักให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จึงจําเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกําหนดหนึ่งร้อยยี่สิบวัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป โดยให้ยกเลิกพระราชบัญญัติหอพัก พ.ศ. ๒๕๐๗ โดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอํานาจออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมีอํานาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ และออกกฎกระทรวง กําหนดค่าธรรมเนียมไม่เกินอัตราท้ายพระราชบัญญัตินี้ ลดหรือยกเว้นค่าธรรมเนียม กับออกประกาศ กําหนดแบบบัตรประจําตัวนายทะเบียนและพนักงานเจ้าหน้าที่

การออกกฎกระทรวงตามวรรคสอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจะกําหนดอัตราค่าธรรมเนียมให้แตกต่างกันโดยคํานึงถึงขนาดหรือลักษณะของหอพักก็ได้ กฎกระทรวงและประกาศนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้ ทั้งนี้ บุคคลใดจัดสถานที่เพื่อรับผู้พักเข้าพักอาศัยโดยเรียกเก็บค่าเช่า ให้ถือว่าบุคคลนั้นประกอบกิจการหอพัก

อย่างไรก็ตาม พระราชบัญญัตินี้ไม่ใช้บังคับแก่หอพักของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นของรัฐที่ไม่ใช่สถานศึกษา โดยกำหนด หอพักมี ๒ ประเภท ได้แก่ (๑) หอพักชาย และ (๒) หอพักหญิง โดยการรับผู้พัก ผู้ประกอบกิจการหอพักต้องทําสัญญาเช่าเป็นหนังสือระหว่างผู้ประกอบกิจการหอพักและผู้พักตามแบบที่คณะกรรมการประกาศกําหนด ซึ่งอย่างน้อยต้องมีรายการดังต่อไปนี้

(๑) ชื่อและที่อยู่ของผู้ประกอบกิจการหอพักและผู้พัก (๒) วันที่ทําสัญญา (๓) ระยะเวลาการเข้าพักซึ่งต้องไม่น้อยกว่าหนึ่งภาคการศึกษาหรือตามระยะเวลาที่คณะกรรมการประกาศกําหนด (๔) ความยินยอมของผู้ปกครองในกรณีที่ผู้พักเป็นผู้เยาว์ (๕) รายการอื่นตามที่คณะกรรมการกําหนด

ทั้งนี้ ผู้ประกอบกิจการหอพักอาจเรียกเก็บเงินค่าเช่าล่วงหน้าได้ไม่เกินอัตราค่าเช่าสามเดือน โดยให้นําเงินค่าเช่าล่วงหน้าดังกล่าวชําระเป็นค่าเช่าสามเดือนสุดท้ายของสัญญาเช่าในกรณีที่ผู้พักขอเลิกสัญญาก่อนครบกําหนดเวลาตามสัญญาเช่า ผู้พักจะขอเงินค่าเช่าล่วงหน้าคืนจากผู้ประกอบกิจการหอพักมิได้

ผู้ประกอบกิจการหอพักอาจเรียกเก็บเงินประกันได้ไม่เกินอัตราค่าเช่าหนึ่งเดือน ผู้ประกอบกิจการหอพักต้องคืนเงินประกันให้แก่ผู้พักในวันที่สัญญาเช่าสิ้นสุดลง ทั้งนี้ ตามจํานวนที่เหลืออยู่หลังจากหักเป็นค่าเสียหายที่ผู้พักก่อให้เกิดขึ้นแก่ทรัพย์สินที่ผู้ประกอบกิจการหอพักจัดไว้ให้ผู้พักใช้สอย โดยบรรดาค่าธรรมเนียม ค่าปรับ และรายได้อื่น ๆ เกี่ยวกับการประกอบกิจการหอพักตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ตกเป็นรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งท้องที่ที่หอพักนั้นตั้งอยู่

หมวด ๒

ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการส่งเสริมกิจการหอพัก”ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นรองประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งประธานกรรมการแต่งตั้ง จํานวนสี่คนเป็นกรรมการ

ให้อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชนเป็นกรรมการและเลขานุการ และให้อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชนแต่งตั้งข้าราชการในกรมกิจการเด็กและเยาวชนไม่เกินสองคนเป็นผู้ช่วยเลขานุการกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งประธานกรรมการแต่งตั้งตามวรรคหนึ่ง ให้แต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิในภาคเอกชนซึ่งมีประสบการณ์เกี่ยวข้องกับกิจการด้านเด็กและเยาวชนจํานวนสามคน และผู้แทนสมาคม ผู้ประกอบกิจการหอพักจํานวนหนึ่งคน

คณะกรรมการมีอํานาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้

(๑) เสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบเกี่ยวกับนโยบาย แผนงานมาตรการ และการจัดระเบยบหอพัก

(๒) เสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีในการให้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีแก่หอพักที่ได้รับการประกาศเกียรติคุณตามพระราชบัญญัตินี้

(๓) เสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีในการออกกฎกระทรวงกําหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการประกาศเกียรติคุณหอพัก และการให้การสนับสนุนแก่หอพักที่ได้รับการประกาศเกียรติคุณ รวมทั้งการออกกฎกระทรวงอื่นเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

(๔) ออกประกาศกําหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับหอพักตามพระราชบัญญัตินี้

(๕) ติดตาม ประเมินผล และตรวจสอบประสิทธิภาพในการบังคับใช้ และเสนอแนวทางในการแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัตินี้

(๖) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกําหนดให้เป็นอํานาจหน้าที่ของคณะกรรมการหรือตามที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย

โดยกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระการดารงตำแหน่งคราวละสามปี เมื่อครบกําหนดตามวาระในวรรคหนึ่ง หากยังมิได้มีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นใหม่ ให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งพ้นจากตําแหน่งตามวาระนั้นอยู่ในตําแหน่งเพื่อดําเนินงานต่อไปจนกว่ากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับแต่งตั้งใหม่เข้ารับหน้าที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งพ้นจากตําแหน่งตามวาระอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้แต่จะดํารงตําแหน่ติดต่อกันเกินสองวาระไม่ได้

ให้มีคณะกรรมการส่งเสริมกิจการหอพักกรุงเทพมหานคร ให้มีคณะกรรมการส่งเสริมกิจการหอพักจังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานกรรมการ ติดตาม ประเมินผล และตรวจสอบประสิทธิภาพในการบังคับใช้และเสนอแนวทางในการแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัตินี้ต่อคณะกรรมการ

หอพักสถานศึกษาที่จะได้รับใบอนุญาตต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กําหนดในกฎกระทรวง ซึ่งอย่างน้อยต้องประกอบด้วย ชื่อและประเภทของหอพัก สถานที่ตั้ง สิ่งแวดล้อม และสุขลักษณะของหอพัก ห้องนอน ห้องน้ำ และห้องส้วม สถานที่สําหรับรับประทานอาหารหรือต้อนรับผู้เยี่ยมเยียน และสิ่งอํานวยความสะดวกอื่น
สําหรับผู้พัก ระบบสาธารณูปโภคและระบบการรักษาความปลอดภัย

หอพักเอกชนที่จะได้รับใบอนุญาตต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กําหนดในกฎกระทรวง ซึ่งอย่างน้อยต้องประกอบด้วย ชื่อและประเภทของหอพัก จํานวนห้องพัก สถานที่ตั้ง สิ่งแวดล้อม และสุขลักษณะของหอพัก ห้องนอน ห้องน้ำ และห้องส้วม สถานที่สําหรับรับประทานอาหารหรือต้อนรับผู้เยี่ยมเยียน และสิ่งอํานวยความสะดวกอื่น สําหรับผู้พัก ระบบสาธารณูปโภคและระบบการรักษาความปลอดภัย ใบอนุญาตประกอบกิจการหอพักเอกชน ให้มีอายุห้าปีนับแต่วันที่ออกใบอนุญาต

ทั้งนี้ ทุกหอพักต้องมี ผู้จัดการหอพัก ต้องได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน ผู้ประกอบกิจการหอพัก ต้องจัดให้มีป้ายชื่อเป็นอักษรไทย ซึ่งมีคําว่า “หอพัก” นําหน้า และตามด้วยประเภทของหอพัก โดยป้ายดังกล่าวต้องมีขนาดที่เหมาะสมและติดไว้ ณ หอพักในที่เปิดเผยและเห็นได้ง่ายจากภายนอกหอพักวัตถุที่ใช้ทําป้าย ลักษณะ ขนาดของป้าย และขนาดของตัวอักษร ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกําหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ผู้ประกอบกิจการหอพัก ต้องจัดให้มีการตรวจสอบประวัติคนที่จะรับเข้าทํางานในหอพักว่าไม่มีประวัติอาชญากรรมและไม่เป็นโรคติดต่อหรือน่ารังเกียจตามที่คณะกรรมการกําหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

“คนดูแลห้องพักของหอพักหญิงต้องเป็นหญิง” ผู้ประกอบกิจการหอพัก ต้องเก็บรักษาทะเบียนผู้พักไว้เป็นเวลาอย่างน้อยสองปีนับแต่วันที่สัญญาเช่าสิ้นสุดลง โดยจะเก็บไว้ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์หรือรูปแบบใดก็ได้ และต้องให้อยู่ในสภาพที่ตรวจสอบได้

ผู้จัดการหอพักมีหน้าที่ ดังต่อไปนี้ (๑) ดูแลไม่ให้บุคคลอื่นที่ไม่ใช่ผู้พักเข้าไปในห้องพัก เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากผู้จัดการหอพัก (๒) ดูแลไม่ให้มีการเล่นการพนัน เสพสุรา หรือยาเสพติดในหอพัก (๓) ดูแลไม่ให้มีการกระทําการอันควรเชื่อได้ว่ามีการสมคบกันหรือร่วมกันกระทําการอันมิชอบด้วยกฎหมาย (๔) ดูแลไม่ให้ผู้พักก่อความรําคาญแก่ผู้พักอื่นหรือผู้ที่อยู่อาศัยในบริเวณใกล้เคียงกับหอพัก (๕) ให้ความช่วยเหลือและแจ้งให้บิดามารดาหรือผู้ปกครองของผู้พักทราบโดยทันที ในกรณีที่ปรากฏว่าผู้พักได้รับอันตรายเพราะเจ็บป่วยหรือเหตุอื่นใด (๖) แจ้งให้บิดามารดาหรือผู้ปกครองของผู้พักทราบในกรณีที่ผู้พักไปพักที่อื่นโดยไม่แจ้งให้ทราบ (๗) แจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบในกรณีที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม

ส่วนการกำหนดค่าปรับ ผู้ประกอบกิจการหอพักผู้ใดไม่ปฏิบัติตาม ต้องระวางโทษ ปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท ถึงหนึ่งแสนบาท อย่างไรก็ตาม บางกรณีระบุว่า หากไม่ดำเนินการ ระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท และปรับอีกวันละไม่เกินหนึ่งพันบาท

การดําเนินการออกกฎกระทรวง ประกาศ หรือคําสั่งตามวรรคหนึ่ง ให้ดําเนินการให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ หากไม่สามารถดําเนินการได้ให้รัฐมนตรีรายงานเหตุผลที่ไม่อาจดําเนินการได้ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี”




กำลังโหลดความคิดเห็น