xs
xsm
sm
md
lg

สัญญาณลบ 6 เดือนรัฐบาล ปากท้อง - เสียงบ่นเริ่มดังขึ้น !!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผ่าประเด็นร้อน

ผ่านไปแล้วสำหรับการแถลงผลงานของรัฐบาลในรอบ 6 เดือน เมื่อวันที่ 17 เมษายน ที่ผ่านมา แม้ว่าจะเป็นการแถลงในภาพรวมนำร่องของนายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังมีการแถลงรายละเอียดแบบรายกระทรวงของรัฐมนตรีแต่ละคนตามมาอีกเรื่อยๆ

แต่เท่าที่ฟังการแถลงของ นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังมั่นใจว่า รัฐบาลมีผลงานมากมาย โดยเฉพาะในเรื่องของความมั่นคงการรักษาความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง รวมทั้งยังยืนยันว่าเมื่อเปรียบเทียบตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจก่อนและหลัง ที่คณะรักษาคสามสงบแห่งชาติเข้ามา เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ตัวเลขต่างกัน นั่นคือ ก่อนเข้ามาเศรษฐกิจติดลบ แต่เมื่อเปรียบเทียบรายไตรมาสพบว่ามีการขยายตัวเป็นบวก โดยสิ้นปีที่แล้วเมื่อเปรียบเทียบระยะเวลาดังกล่าวเศรษฐกิจขยายตัวร้อยละ 2.3

แม้ว่าหากย้อนกลับไปในตอนที่มีการยึดอำนาจกันใหม่ๆ จะได้ยินคำแถลงที่แสดงถึงความมั่นใจในอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการส่งออก มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่อัดฉีดลงไป ในตอนนั้นหากจำกันได้บอกว่า “ทั้งปีอัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจจะต้องโตเกินร้อยละ 2” ไม่ใช่เปรียบเทียบให้เห็นตัวเลขก่อนและหลังการมี คสช.เข้ามาแล้ว

จนกระทั่งในช่วงไตรมาสที่สามของปึที่แล้วที่เริ่มมีสัญญาณชัดเจนว่าหลายอย่างไม่เข้าเป้า โดยเฉพาะการส่งออกที่ถือว่าเป็นฟันเฟืองสำคัญของประเทศที่ต้องพึ่งพาการส่งออกถึงกว่าร้อยละ 70 ไม่ได้โตตามเป้าหมาย ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลโดยเฉพาะทีมเศรษฐกิจที่นำโดย ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ที่เข็นออกมาเป็นแพกเกจ ทั้งงบประมาณปี 58 งบล้างท่อที่ค้างเก่า แต่กลายเป็นว่าเหมือนกับ “ขว้างก้อนหินเล็กๆ ลงในทะเล” เพราะไม่เห็นแรงกระเพื่อมเกิดขึ้นมาเลย ส่วนสำคัญที่ได้ยินเสียงพูดกันในตอนนั้นก็คือ “การเบิกจ่ายงบประมาณล่าช้า” ไม่ว่าจะเป็นงบช่วยเหลือเยียวยาลดต้นทุนให้กับชาวนา รวมทั้งเงินช่วยเหลือชาวสวนยาง ต่างก็มีการเบิกจ่ายล่าช้าอืดอาด

นอกจากนี้ ยังผสมโรงด้วยผลทางจิตวิทยาในเรื่องมาตรการเตรียมเก็บภาษีทั้งภาษีมรดก ที่ดินสิ่งปลูกสร้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งข่าวการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 8 - 10 ยิ่งทำให้เกิดความหวั่นไหว อย่างไรก็ดี รัฐบาลก็ต้องยอมถอย ยังไม่ประกาศบังคับใช้ในช่วงนี้อ้างว่าศึกษาไว้ก่อน หากใช้ก็เป็นเรื่องอนาคตอีก 4 - 5 ปีข้างหน้า

แน่นอนว่า การส่งออกมาย่อมมีผลต่อเศรษฐกิจภายใน เพราะทุกรายการสินค้ามีผลกระทบหมดโดยเฉพาะกระทบต่อรายได้ ยิ่งสินค้าเกษตรตัวหลักๆ ทุกรายการส่งออกได้น้อย เช่น ยางพารา ยอดการส่งออกลดลงทำให้มีผลต่อรายได้เกษตกร หรือแม้แต่ข้าว ที่แม้ว่าเรายะกลับมาส่งออกได้มากเป็นอันดับหนึ่งอีกครั้ง แต่ด้วยราคาที่ต่ำลงย่อมต้องมีผลต่อกำลังซื้อกระทบเป็นลูกโซ่

รวบรัดตัดความเพื่อให้เกิดความรู้สึกใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด ก็ต้องสะท้อนผ่านผลสำรวจ แม้ว่าอาจไม่ใช่เป็นภาพสะท้อนความจริงได้เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่อย่างน้อยก็อาจมองเห็นถึงแนวโน้มวันข้างหน้าได้ชัดเจนขึ้น ล่าสุด สวนดุสิตโพล ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ 1,572 คน หลังรัฐบาลบริหารงานครบ 6 เดือน โดยเมื่อเปรียบเทียบก่อนรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเข้ามาบริหารประเทศ และหลังจากเข้ามาบริหารประเทศ สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น พบว่า 87.98% ไม่มีการเคลื่อนไหวชุมนุม ประท้วง 80.53% การปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน 73.09% การจัดระเบียบสังคม 65.08% การกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น ขึ้นเงินเดือน จ่ายเงินช่วยชาวนา ลดราคาน้ำมัน และ 53.05% หน่วยงานราชการ ทหาร ตำรวจ ทำงานรวดเร็วขึ้น

เมื่อถามถึงสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่แย่ลง 88.74% ค่าครองชีพ ราคาสินค้า การดำรงชีวิตของประชาชน 84.16% การจำกัดสิทธิเสรีภาพ การแสดงความคิดเห็นในที่สาธารณะ 79.96% การบังคับใช้กฎหมาย ออกกฎระเบียบมากเกินไป 76.72% ภาพลักษณ์ของรัฐบาลในสายตาต่างชาติ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และ 66.98% เหตุการณ์ความรุนแรง ก่อเหตุระเบิด สถานการณ์ชายแดนใต้ เมื่อถามถึงสิ่งที่ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงและยังคงเหมือนเดิม 91.98% สภาพเศรษฐกิจของประเทศยังฝืดเคือง 78.05% การศึกษาไทยยังไม่พัฒนา ความเหลื่อมล้ำในสังคม 71.37% ปัญหาการเมือง การแบ่งสี เลือกข้าง 62.21% การทุจริตคอรัปชั่น การแสวงหาผลประโยชน์เพื่อตนเอง และ 59.35% ภัยสังคม ปัญหาอาชญากรรม อุบัติเหตุต่างๆ

แน่นอนว่าเมื่อพิจารณาจากจำนวนเปอร์เซ็นต์ในเรื่องความสงบเรียบร้อย ความเด็ดขาด และที่สำคัญรัฐบาลชุดนี้ยังไม่มีปัญหาในเรื่องการทุจริตคอรัปชั่นให้เห็น ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องดี เพราะเรื่องแบบนี้แหละจะเป็นตัวทำลายความศรัทธาลงไปอย่างรวดเร็ว แต่เมื่อยังไม่มีเรื่องอื้อฉาวทำให้จุดอ่อนในเรื่องอื่นก็มักจะถูกมองข้ามไป

อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณากันให้ละเอียดจากผลสำรวจดังกล่าวมันก็ย่อมเห็นแนวโน้มในทางลบออกมาให้เห็นชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ นั่นคือเรื่องเศรษฐกิจ ปากท้องของแพงซึ่งชาวบ้านสัมผัสได้ใกล้ตัวเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ในความหมายอาจจะมากยิ่งกว่าเรื่องรัฐธรรมนูญจะเป็นเผด็จการหรือประชาธิปไตยเสียด้วยซ้ำ เมื่อดูจำนวนเปอร์เซ็นต์ความผิดหวัง ไม่เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงเมื่อเปรียบเทียบกับก่อนที่รัฐบาลชุดนี้เข้ามา ตัวเลขสูงทีเดียว และหากไม่รีบแก้ไขให้ความรู้สึกแบบนี้ลดลงมามันก็น่าห่วง เพราะนั่นจะทำให้การแก้ปัญหาเรื่องอื่นพลอยมีปัญหาตามไปด้วย !!
กำลังโหลดความคิดเห็น