ส.ป.ก. เล็งใช้สูตร “ค่าปรับคดีทำโลกร้อน” มาคำนวณค่าความเสียหาย กับกรณีการบุกรุกที่ดินของรีสอร์ต โบนันซ่า เขาใหญ่ ด้าน “ปีติพงศ์” สั่งเร่งสำรวจความเสียหาย คาดมีประมาณ 79 ไร่
วันนี้ (9 เม.ย.) นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ได้ให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ไปตรวจสอบการบุกรุกที่ดินของรีสอร์ต โบนันซ่า เขาใหญ่ เพื่อประเมินความเสียหาย และดำเนินการตามกฎหมายทั้งการฟ้องแพ่งและอาญา ซึ่งที่ผ่านมามีการอ้างสิทธิ์ในเอกสารสิทธิ น.ส.3 ขึ้นมาทำให้ ส.ป.ก. จึงยังไม่ได้เข้าไปสำรวจรังวัด ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าประมาณ 79 ไร่ กรณีนี้ต้องเข้าใจว่าก่อนหน้านั้น เมื่อ ส.ป.ก. ได้ดำเนินการตามขั้นตอน คือ การเรียกผู้ถือครองมาพบ หรือรายงานตัวพร้อมหลักฐานอื่นเพิ่ม ดังนั้น ในส่วนนี้ก็จะต้องไปดูว่าจะมีการแก้ไขให้กฎหมายมีความรัดกุมอย่างไรต่อไป
นายสรรเสริญ อัจจุตมานัส เลขาธิการ ส.ป.ก. กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายและรังวัดลงพื้นที่แล้ว คาดว่าจประเมินตัวเลขได้เร็วๆ นี้ ซึ่งเบื้องต้นทราบว่าที่ดินไม่ได้มีการนำดินออกไป จึงคาดว่าอาจจะไม่มีการคิดความเสียหายของหน้าดิน แต่อาจจะคิดเทียบเคียงในสัดส่วนของอัตราเช่าที่ดิน หรือการเสียโอกาสการทำประโยชน์ในที่ดินของเกษตรกร โดยอาจคำนวณเป็นรายได้ต่อไร่เพื่อนำมาประกอบการฟ้องร้อง
ส่วนกรณีที่จะใช้เรื่องค่าปรับคดีทำโลกร้อน มาตั้งค่าเสียหายนั้น เลขาธิการ ส.ป.ก. ระบุว่า “จะหารือกับกรมป่าไม้และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป”
มีรายงานว่า อาจจะมีการนำแนวคิดใช้ “ค่าปรับคดีทำโลกร้อน” มาคำนวณค่าความเสียหาย กับกรณีการบุกรุกที่ดินของรีสอร์ต โบนันซ่า เขาใหญ่
ข้อมูลปี 2553 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพรรณพืช ได้นำค่าโลกร้อน มาคำนวณเอาผิดชาวบ้านกว่า 500 ราย โดยจำนวนนี้ถูกดำเนินคดี 131 คดี เป็นข้อหาทำให้โลกร้อน 30 ราย ซึ่งนอกจากถูกฟ้องคดีอาญาข้อหาบุกรุกพื้นที่ป่าของรัฐ ยังถูกฟ้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งตามมาอีกรวมกว่า 17,559,434 บาท
โดยตอนนั้น กรมอุทยานฯ ได้แจงหลักเกณฑ์การฟ้องเรียกเอาค่าเสียหายจากชาวบ้าน โดยคำนวณออกมาเป็นจำนวนเงิน อาทิ การคิดคำนวณค่าเสียหายมีหลักเกณฑ์ วิธีการดังนี้
1) การสูญหายของธาตุอาหาร 4,064.15 บาทต่อไร่ต่อปี 2) ทำให้ดินไม่ดูดซับน้ำฝน 600 บาทต่อไร่ต่อปี 3) ทำให้น้ำสูญเสียออกไปจากพื้นที่โดยการแผดเผาของรังสีดวงอาทิตย์ 50,800 บาทต่อไร่ต่อปี 4) ทำให้ดินสูญหาย 1,800 บาทต่อไร่ต่อปี 5) ทำให้อากาศร้อนมากขึ้น 45,453.45 บาทต่อไร่ต่อปี 6) ทำให้ฝนตกน้อยลง 5,400 บาทต่อไร่ ต่อปี 7) มูลค่าความเสียหายทางตรงจากป่าทั้ง 3 ชนิด ได้แก่ การทำลายป่าดงดิบ 61,263.36 บาท การทำลายป่าเบญจพรรณ 42,577.75 บาท การทำลายป่าเต็งรัง 18,634.19 บาท รวมมูลค่าความเสียหายจากป่าทั้ง 3 ชนิด 40,825.10 บาทต่อไร่ต่อปี
ประเด็นนี้ทำให้นักกฎหมายหลายคน ออกมาระบุว่า การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 มาตรา 97 โดยเป็นกฎหมายของกรมป่าไม้ที่ระบุว่าผู้ใดทำให้ทรัพยากรเสียหายโดยผิดกฎหมายจะต้องคิดค่าทรัพยากรนั้น จากเรื่องนี้ทำให้เกิดข้อกังขาขึ้นว่าเอาเข้าจริงแล้ว วิธีการที่กรมอุทยานฯ ฟ้องชาวบ้านนั้นเป็นเรื่องเห็นสมควรหรือไม่