xs
xsm
sm
md
lg

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทูตสันถวไมตรีไทย–จีน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เมื่อปี 2547 สมาคมมิตรภาพวิเทศสัมพันธ์ประชาชนจีน ได้ทูลเกล้าฯ ถวายพระสมัญญานาม สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ให้ทรงเป็น “ทูตสันถวไมตรีไทย-จีน” จากพระราชกรณียกิจ ในการเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและจีน ทั้งโดยการเสด็จพระราชดำเนินเยือนจีนมากกว่า 20 ครั้ง ในขณะนั้น และความรู้ ความเชี่ยวชาญอย่างลึกซึ้ง ในเรื่องศิลปวัฒนธรรม ตลอดจนภาษาจีน

ปี 2552 ชาวจีน 2 ล้านคน ลงคะแนนผ่านอินเทอร์เน็ต ให้พระองค์ เป็น มิตรที่ดีที่สุดในโลกอันดับที่สองของชาวจีน

สมเด็จพระเทพรัตนสุดาฯ เสด็จเยือนจีนครั้งแรกในปี 2524 และเสด็จอีกหลายครั้งในปีต่อๆ มา จนถึงปัจจุบัน มากกว่า 30 ครั้ง ครอบคลุมดินแดนอันกว้างใหญ่ไพศาลของจีน ครบทุกมณฑล

สมเด็จพระเทพฯ หรือที่คนจีนกล่าวขานพระนามพระองค์ว่า “สิรินธร” ยังทรงให้ความสำคัญกับภาษาและวัฒนธรรมของจีนอย่างมาก ทรงเรียนภาษาจีนตั้งแต่ปี 2523 ทั้งยังทรงเคยเสด็จฯ ไปศึกษาภาษาและวัฒนธรรมจีนเพิ่มเติมถึงมหาวิทยาลัยปักกิ่ง เป็นเวลา 1 เดือน เมื่อปี 2544

พระองค์ทรงเคยเล่าให้อาจารย์และนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยปักกิ่งฟังว่า ตอนแรกไม่ได้คิดอยากเรียนภาษาจีน เพราะคิดว่าป็นภาษาที่ยากมาก แต่มาคิดว่าตัวเองเป็นคนเอเชีย ในเอเชียมีประเทศใหญ่อยู่ 2 ประเทศ คือ อินเดียและจีน การเรียนภาษาอินเดียและจีนจึงสำคัญมาก

ประกอบกับสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถได้รับสั่งว่า “เรียนภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน ล้วนเป็นภาษาตะวันตก คิดว่าน่าจะเรียนภาษาจีน” พระองค์จึงทรงปรึกษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งก็ทรงเห็นด้วย ในที่สุดจึงขอให้ทางสถานทูตจีนช่วยจัดอาจารย์มาถวายการสอน

พระองค์เคยตรัสว่า “ภาษาจีนนั้นสามารถนำคนเข้าสู่อาณาจักรแห่งความรู้อันอุดมไพศาลแหล่งหนึ่งของโลกได้อย่างสมบูรณ์ ยิ่งศึกษาก็ยิ่งตระหนักในขอบเขตอันกว้างขวางลุ่มลึกนั้น”

หลังจากช่วงเวลา 1 เดือนแห่งการร่ำเรียนภาษาและวัฒนธรรมจีนเพิ่มเติมที่มหาวิทยาลัยปักกิ่งของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สิ้นสุดลง ทางมหาวิทยาลัยก็ได้ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แด่พระองค์ เมื่อวันที่ 13 มี.ค.2544 ในฐานะที่ทรงมีคุณูปการอย่างยิ่งต่อการพัฒนาความเจริญของประเทศไทย ส่งเสริมความก้าวหน้าและสันติภาพของมนุษยชาติ ทั้งยังทรงมีบทบาทโดดเด่นในการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมจีน-ไทย ยังความภาคภูมิใจแด่พระองค์เป็นอันมาก โดยตรัสว่า “แต่นี้ไปภายหน้าจะไม่เพียงพยายามทำงานส่งเสริมการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างไทย-จีนให้มากขึ้นเท่านั้น จะพยายามมีส่วนในการสร้างความเจริญก้าวหน้าแก่วัฒนธรรมของโลกและมนุษยชาติให้มากยิ่งขึ้นด้วย”

นอกจากภาษา-วัฒนธรรม และดนตรีจีนแล้ว สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ยังได้ทรงเรียนการเขียนอักษรจีนด้วยพู่กัน หรือ ลายสือศิลป์จีน การวาดภาพแบบจีน และฝึกรำมวยไทเก๊ก ซึ่งพระองค์ทรงรู้สึกสำราญพระทัยในการเรียนทุกวิชา และทรงรู้สึกว่า ลายสือศิลป์จีน รำมวยจีน และดนตรีจีน สามารถเชื่อมโยงถึงกันได้ ทำให้เกิดสมาธิ ยามใดที่ทรงรู้สึกหงุดหงิดอารมณ์ร้อน เมื่อได้คัดลายสือศิลป์จีนแล้วจะทำให้กลับมาอารมณ์ดีได้

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ไม่เพียงแต่ทรงเชี่ยวชาญด้านภาษา-วัฒนธรรม และวรรณคดี หากยังสนพระทัยในด้านประวัติศาสตร์และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รวมทั้งทรงมีจุดยืนที่ชัดเจนเที่ยงธรรมด้วย ทรงเคยตรัสกับนักศึกษาชาวจีนที่กำลังทำวิทยานิพนธ์เปรียบเทียบนโยบายชาวจีนโพ้นทะเลของประเทศไทยและอินโดนีเซียหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ว่า “คนจีนในประเทศไทยไม่ได้ถูกมองว่าเป็นคนต่างชาติ พวกเขามีสิทธิเท่าเทียมกับคนไทยทุกประการ นายกรัฐมนตรีไทยหลายคนก็เป็นลูกหลานจีน พวกเขามีเชื้อสายจีน แต่ยุคของจอมพล ป. พิบูลสงคราม สั่งปิดโรงเรียนจีน ไม่ยอมให้เรียนภาษาจีน คนจีนก็เลยต้องแอบเรียน นโยบายอย่างนี้ไม่ถูกต้อง”

การเสด็จฯ เยือนจีนหลายครั้ง พระองค์จะทรงถ่ายทอดประสบการณ์เป็นหนังสือให้คนไทยได้อ่านด้วย ตั้งแต่การเสด็จครั้งแรก เมื่อ ปี 2524 ซึ่งทรงเขียนหนังสือ “ย่ำแดนมังกร” เผยแพร่ให้ประชาชนได้อ่าน และอีกหลายเล่มในเวลาต่อมา เช่น “มุ่งไกลในรอยทราย”, “เกล็ดหิมะในสายหมอก” , “ใต้เมฆที่เมฆใต้”, “เย็นสบายชายน้ำ”, “คืนถิ่นจีนใหญ่” และ “เจียงหนานแสนงาม” เป็นต้น

พระราชนิพนธ์ทุกเล่มของพระองค์ มีส่วนช่วยให้คนไทยมีความเข้าใจในประเทศจีน-คนจีน และวัฒนธรรมจีนมากขึ้น สมกับพระสมัญญานาม “ทูตสันถวไมตรีไทย-จีน”



กำลังโหลดความคิดเห็น