“บิ๊กป้อม” เผยไอยูยูเลื่อนให้ใบเหลืองค้ามนุษย์ ต้องเร่งแก้ให้เสร็จ 6 เดือน ยันทำให้เป็นสากล แต่โดนใบแดงก็ช่วยไม่ได้ ก่อนมอบนโยบาย รมว.พม. นำทีมช่วย 700 ชาวประมงไทยที่อินโดฯ ยันไม่มี บ.ประมงไทยใช้แรงงานทาส รับต้องบินอินโดฯ เซ็น MOU ความมั่นคงทางทะเล ขอสื่อช่วยแจงตามที่พูด “อดุลย์” จัดทีมเฉพาะกิจ 2 ชุดช่วยลูกเรือประมงไทย รับสถานทูตอินโดฯ ร่วมมือดี
วันนี้ (26 มี.ค.) ที่อาคารรับรองเกษะโกมล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ในภาคธุรกิจการประมง หลังจากภาคยุโรปเตือนทางการไทยให้กำหนดมาตรการ เพื่อป้องกันและขจัดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ที่ขาดการรายงานและไร้การควบคุม หรือ Illegal Unreported and Unregulated Fishing หรือ IUU Fishing (ไอยูยู) ว่าตนดำเนินการไปหมดแล้ว เดิมทีทางไอยูยูบอกว่าจะให้ใบเหลืองเราภายในอาทิตย์นี้ แต่ล่าสุดบอกไม่ให้แล้วจะเลื่อนไปก่อน โดยจะไปพิจารณาอีกทีในเดือนหน้า ตอนนี้ตนทำหมดแล้วในทุกๆ เรื่อง ทั้งนี้เขาก็ต้องมีคนมีดูตรวจสอบว่าเราได้ทำอะไรไปบ้างแล้ว จดทะเบียนเรือหรือยัง
“สมมติเขาให้ใบเหลืองเรา อีก 180 วันถ้ายังไม่แก้ปัญหาก็จะให้ใบแดง ทั้งนี้เราต้องดำเนินการแก้ปัญหาให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน แต่เขายังไม่ได้ให้ใบเหลือง เพราะอยู่ในระหว่างที่เรากำลังแก้ไขปัญหาอยู่ ถ้าไม่ให้ก็คือไม่ให้ ถ้าให้ใบเหลือง ก็ 180 วัน ที่เราต้องดำเนินการทุกอย่างให้แล้วเสร็จสิ้น แต่เวลานี้เราทำไปเรื่อยๆ และใกล้จะเสร็จหมดแล้ว ส่วนที่เขาไม่พยายามเข้าใจเพราะมีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่นั้น ต้องคิดกันเอาเอง เราพยายามทำทุกอย่าง ไม่คิดว่าเขาจะมากดดันเรา แต่เราจะพยายามทำตามหลักสากล แต่ถ้าทำตามหลักสากลแล้ว เขายังให้ใบแดง ก็ช่วยไม่ได้ เพราะเราออกกฎหมายมาแล้วทั้ง กฎหมายไอยูยู กฎหมายการค้ามนุษย์” พล.อ.ประวิตรกล่าว
ต่อมาที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตรกล่าวภายหลัง พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นำทีมชุดเฉพาะกิจช่วยเหลือลูกเรือประมงไทยที่ตกค้างบนเกาะอัมบน สาธารณรัฐอินโดนีเซีย เข้าพบเพื่อรับนโยบายก่อนออกเดินทางว่า การหารือวันนี้เพื่อหาทางนำคนไทยประมาณ 700 คน กลับประเทศไทย ส่วนค่าปรับของลูกเรือที่อาจถูกดำเนินการนั้นอยู่ระหว่างการพูดคุยว่าจะต้องเสียค่าปรับในส่วนใดบ้าง เพราะแรงงานเหล่านี้เป็นแรงงานผิดกฎหมาย
ผู้สื่อข่าวถามว่า รายงานข่าวของสำนักข่าวเอพีที่พบว่าบริษัทประมงไทยซึ่งใช้แรงงานทาสอยู่ และสหรัฐฯ เรียกร้องให้ทางการไทยเร่งดำเนินการ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า เราไม่ใช้อยู่แล้ว วันนี้เราไม่มี แต่แรงงานที่ไปอยู่ในประเทศอินโดนีเซียนั้นตนไม่ทราบ เพราะบริษัทพวกนี้ไม่รู้ว่าไปตั้งอยู่ที่ใด บางทีพอไปอยู่ประเทศอินโดนีเซียก็เปลี่ยนจากธงไทยเป็นอินโดนีเซีย ยืนยันว่าขณะนี้ไม่มี โดยเฉพาะเรือที่ออกจากประเทศไทย โดยทางการได้ขึ้นทะเบียนแรงงานกว่า 1 ล้านคน และแรงงานที่ออกจากท่าเรือปัจจุบันต้องได้รับการตรวจสอบ มีการลงทะเบียนให้เรียบร้อย เช่นเดียวกับเรือประมงทุกลำที่ต้องมีการลงทะเบียน และติดตั้งระบบจีพีเอสเพื่อติดตาม โดยผู้บัญชาการทหารเรือเป็นผู้ควบคุมทั้งหมด โดยมีการประสานกับตำรวจน้ำ
พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ตนต้องเดินทางไปอินโดนีเซียเพื่อลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ความมั่นคงทางทะเล รวมถึงเรื่องประมงร่วมกับทางการอินโดนีเซีย ว่าเราจะดำเนินการอย่างไร เพื่อจะไม่ให้ปัญหาเกิดขึ้นอีก เพราะต้องยอมรับว่าแรงงานเหล่านี้ได้ออกจากประเทศไทย และเราจะดำเนินการนำตัวกลับมา ส่วนจะใช้ระยะเวลาเท่าไหร่ในการนำตัวชาวประมงกลับนั้นตนไม่ทราบ อยากให้กลับมาพรุ่งนี้ได้ก็ดี อยากจะให้เร็วที่สุด แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับคณะที่จะไปเจรจา ส่วนกรณีที่สหรัฐฯและอียูมองว่าเราค้ามนุษย์นั้น เมื่อเราทำตามระเบียบใหม่แล้วจะมีการชี้แจงทำความเข้าใจอย่างไรนั้น เราทำตามเช่นนี้แล้วจะมีเจ้าหน้าที่ทางของทางสหรัฐฯมาตรวจสอบ แต่ระยะนี้ถ้าไม่โดนใบเหลืองได้ก็ดี ขณะเดียวกันต้องมีการพูดคุยกับบริษัทเอกชนที่เป็นผู้ส่งออกสินค้าด้วย
เมื่อถามว่ายังมีสำนักข่าวตามประเทศระบุว่าไทยยังเป็นทางผ่านของการค้ามนุษย์ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ก็ตอนนี้ไม่ทำแล้วก็ระบุไป ผู้สื่อข่าวก็ต้องช่วยตนด้วย เรื่องนี้ไม่ใช่ว่าเพิ่งเกิดขึ้น แต่เกิดมาแล้วตั้งสิบๆปี แต่ว่าขณะนี้ตนทำเพื่อไม่ให้มันเกิดต่อไป ทั้งนี้ ตนพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้สหรัฐฯลดระดับความน่าเชื่อถือด้านการค้ามนุษย์ของไทยจากเทียร์ 3
ผู้สื่อข่าวถามว่าจะขอความร่วมมือกับสื่อในเรื่องนี้อย่างไร พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ไม่ต้องขอความร่วมมือ เพียงสื่อต้องนำเสนอข้อเท็จจริงที่ตนได้ชี้แจงไป ส่วนเรื่องบทลงโทษผู้ที่กระทำการไม่ถูกต้องเหล่านี้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เร่งดำเนินการอยู่ ทั้งนี้ ตนไม่จำเป็นต้องลงไปแก้ปัญหาพื้นที่ เพราะจะถูกมองว่ารัฐมนตรีลงมาล้วงลูก มีคนขันน็อตอยู่แล้ว ใช้แต่ละรัฐมนตรีคนเดียวก็แย่
ด้าน พล.ต.อ.อดุลย์กล่าวว่า จากกรณีที่สื่อมวลชนและองค์กรภาคเอกชน รายงานสถานการณ์ลูกเรือไทยตกค้างที่เกาะอัมบน อินโดนีเซีย จำนวนมาก ซึ่งถูกจับกุม กักบริเวณ และหลบหนีออกจากเรือประมง เนื่องจากถูกนายหน้าหลอกลวงมาทำงาน มีการปลอมแปลงและยึดเอกสาร ทำให้ไม่มีเอกสารแสดงตนที่ถูกต้อง และได้มีการยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้หน่วยงานภาครัฐเข้าช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะรองนายกรัฐมนตรี จึงมอบหมายให้กระทรวงพัฒนาสังคมฯ เร่งดำเนินการหาแนวทางช่วยเหลือ นอกจากนี้กระทรวงการต่างประเทศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการช่วยเหลือไปส่วนหนึ่งแล้ว
พล.ต.อ.อดุลย์กล่าวอีกว่า กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้เห็นชอบให้จัดชุดเฉพาะกิจ 2 ชุด เป็นคณะเดินทางไปสำรวจและประสานการช่วยเหลือลูกเรือประมงตกค้างบนเกาะอัมบน สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งชุดแรกมีจำนวน 13 คน ได้แก่ กระทรวงต่างประเทศ กระทรวงพัฒนาสังคมฯ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงคมนาคม กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) โดยมี พล.ต.ท.สฤษฎ์ชัย เอนกเวียง ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจชาติ (ผช.ผบ.ตร.) ในฐานะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมฯ เป็นหัวหน้าคณะ และนายจิตตพัฒน์ ทองประเสริฐ รองอธิบดีกรมศุลกากร กระทรวงต่างประเทศ และนางสุวรีย์ ใจหาญ ผู้อำนวยการกองต่อต้านการค้ามนุษย์ เป็นรองหัวหน้าคณะ
อย่างไรก็ตาม ภารกิจสำคัญในการประสานข้อมูลและช่วยเหลือลูกเรือประมงไทยที่ตกค้างและมีความประสงค์จะเดินทางกลับประเทศไทยอย่างเร่งด่วน โดยกระทรวงต่างประเทศเป็นเจ้าภาพหลัก ส่วนการคัดแยกและฟื้นฟูเยียวยาลูกเรือประมงไทยที่เข้าข่ายเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ โดยกระทรวงพัฒนาสังคมฯ เป็นเจ้าภาพหลัก และการพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคลของลูกเรือประมงไทยที่เสียชีวิต โดย สตช.เป็นเจ้าภาพหลัก
พล.ต.อ.อดุลย์กล่าวด้วยว่า สำหรับการปฏิบัติงานในพื้นที่เกาะอัมบน ทางกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซียในการประสานงานประเทศอินโดนีเซียเพื่ออำนวยความสะดวกในด้านต่างๆ โดยทีมชุดเฉพาะกิจฯ ชุดแรกจะออกเดินทางวันที่ 27 มี.ค. 2558 ด้วยสายการบินไทย เที่ยวบิน TG433 เวลา 08.20 น.ไปยังกรุงจาการ์ตา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย เพื่อเดินทางไปยังเกาะอัมบนในเช้าของวันรุ่งขึ้นต่อไป หากมีภารกิจที่ต้องการสนับสนุนก็จะมีทีมชุดเฉพาะกิจฯ ชุดที่ 2 เตรียมพร้อมตลอดเวลา และคาดว่าจะเดินทางไปวันที่ 6 เม.ย. 2558
ด้าน พล.อ.ประวิตรกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ได้รับรายงานว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้จัดชุดปฏิบัติการเฉพาะกิจ เพื่อเตรียมลงพื้นที่ไปแก้ไขปัญหาแล้ว แต่เนื่องจากมีลูกเรือที่ประสบปัญหาหลายกลุ่มหลายกรณี ภารกิจที่รัฐบาลมอบหมายให้ไปปฏิบัติเป็นภารกิจที่สำคัญยิ่ง ขอให้ยึดหลักการทำงาน โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักสิทธิมนุษยชนและพิธีการทางการทูต รวมทั้งรักษาความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและอินโดนีเซีย การทำงานร่วมกันครั้งนี้ภายใต้ทีม THAILAND ขอให้ร่วมกันปฏิบัติภารกิจที่มอบหมายให้เต็มกำลังความสามารถ ให้ระมัดระวังสิ่งที่อาจกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทย และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทย ขอให้ทีมงานเดินทางโดยสวัสดิภาพและปฏิบัติภารกิจที่รัฐบาลมอบหมายสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี