รองนายกฯ รับตั้ง คกก.สอบงบฯ สปสช.แล้ว ปัดตรวจตัวบุคคล แจงยังไม่ถึงเวลารัฐ คุยนิรโทษฯ ถ้าพูดเรื่องต้องจบ เผยยังไม่ได้รับเรื่อง ยันฟัง ปชช. ไม่ลักหลับจนทำวุ่นวาย รู้ทันไม่หลวมตัวตอบล้างผิดเป็นทางออก รับที่ผ่านมาองค์กรตามรธน.เข้าหารือ แต่ปิดข่าว รับบางปัญหาน่าเห็นใจ ต้องพึ่งรัฐแก้ จ่อชงต่อนายกฯ
วันนี้ (20 มี.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณี การแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ว่า มีการแต่งตั้งเรียบร้อยแล้ว โดยนำ พล.ต.ธนาคาร เกิดในมงคล จากคณะกรรมการตรวจสอบการใช้จ่ายภาครัฐ เป็นประธาน นอกจากนี้ยังมี น.ส.อมรวดี จักรไพวงศ์ จากสำนักงบประมาณ เป็นกรรมการ นายไชยา ยิ้มวิไล ผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี เป็นกรรมการ โดยรวมนั้นมีกรรมการประมาณ 3-4 คน โดยตนและนายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ทาบทาม ซึ่งกรรมการชุดดังกล่าวจะตรวจสอบเรื่องของงบประมาณ สปสช. การใช้เงิน การบริหารกองทุน ไม่ใช่การตรวจสอบบุคคล หรือเรื่องของการตรวจสอบวินัย ส่วนคณะกรรมการที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงนั้นได้แต่งตั้งไปแล้ว โดยมีนางชุติมา บุญประภัสรณ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน ชุดนี้จะดูเรื่องของข้อเท็จจริงต่างๆ ขณะที่ชุดที่ตั้งใหม่นั้นดูเรื่องของการเงิน จึงได้ตั้งผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการเงินมาเป็นกรรมการ
นายวิษณุกล่าวถึงกรณีข้อเสนอนิรโทษกรรมของนายไพบูลย์ นิติตะวัน คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ว่าถึงเวลาที่คนต้องพูด แต่ยังไม่ถึงเวลาของรัฐบาลที่จะพูด คนอื่นจะพูดก็พูดไป แล้วส่งความเห็นมาให้รัฐบาล รัฐบาลจะฟังความเห็นของสังคม ซึ่ถ้ารัฐบาลจะพูดเรื่องจะต้องจบแล้ว แต่ตอนนี้เรื่องยังไม่จบจึงต้องให้คนอื่นส่งเรื่องมา อย่างไรก็ตาม จนถึงเวลานี้ก็ยังไม่มีใครส่งเรื่องของการนิรโทษกรรมมายังรัฐบาล คำตอบในเรื่องดังกล่าวอยู่ที่การให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เมื่อวันที่ 19 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งรัฐบาลยินดีรับฟังเสียงของประชาชน ปัญหาที่เกิดขึ้นในอดีตส่งผลให้บ้านเมืองวุ่นวายเกิดจลาจลทั้งประเทศ เพราะว่ามีการทำโดยไม่ได้ฟังเสียงของประชาชน จึงถูกหาว่าลักหลับบ้าง อะไรบ้าง ตรงนี้ทำให้มีบทเรียน รัฐบาลจึงต้องฟังเสียงของประชาชนว่าคิดอย่างไร แต่เมื่อมีคนพูดมากๆ ก็จะทำให้รัฐบาลตัดสินใจได้ง่ายขึ้น ส่วนการนิรโทษกรรมจะเป็นทางออกของปัญหาหรือไม่นั้น ตนไม่ทราบ และไม่หลวมตัวตอบเด็ดขาดเพราะถ้าพูดไปก็กลัวจะเป็นทางเข้ามากกว่า
นายวิษณุกล่าวถึงกรณีที่องค์กรตามรัฐธรรมนูญจะเข้าหารือถึงปัญหาต่างๆ แก่นายวิษณุว่า ที่ผ่านมาองค์กรต่างๆ ได้เข้ามาหารือกับตน หลายองค์กรและไม่ได้เป็นข่าว แต่ไม่ขอเปิดเผยว่าเป็นองค์กรใดบ้าง โดยเข้ามาบอกเล่าถึงปัญหาของแต่ละองค์กร ซึ่งตนก็บอกไปว่า ขอให้บอกต่อไปยังกรรมาธิการยกร่าง แม้บางเรื่องจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งในบางองค์กรมีปัญหาที่น่าเห็นใจจริงๆ เพราะไม่มีหน่วยงานใดที่จะแก้ไขได้นอกจากรัฐบาล เมื่อหารือเรียบร้อยแล้วตนได้รับทราบและจะรายงานต่อนายกรัฐมนตรีต่อไป
เมื่อถามว่าจะเข้าไปคุยกับทางกรรมาธิการยกร่างฯ เมื่อใด นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ได้คิดเลยว่าจะคุย