xs
xsm
sm
md
lg

โอวาทปาติโมกข์ หัวใจของพระพุทธศาสนา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


วันมาฆบูชา หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญ เดือนมาฆะคือเดือน 3 หรือเดือน 4 ในปีที่มีอธิกมาส เนื่องในโอกาสคล้ายวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ ซึ่งปีนี้ตรงกับ วันที่ 4 มีนาคม

นับตั้งแต่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ ตั้งแต่วันเพ็ญ เดือน 6 ได้เริ่มออกสั่งสอน แก่ผู้แสวงหาทางหลุดพ้นจากทุกข์ สอนครั้งแรกคือ ไปโปรดปัญจวัคคีย์ เมื่อวันอาสาฬหบูชา คือวันเพ็ญเดือน 8 ในปีเดียวกับที่ตรัสรู้ จนถึงวันเพ็ญเดือน 3 ของปีถัดมา มีพระภิกษุที่เป็นพระสาวกขณะนั้นกว่า 1,300 รูป ซึ่งพระสาวกเหล่านี้ พระพุทธองค์ได้ทรงส่งออกไปเผยแพร่พระพุทธศาสนาที่ทรงค้นพบไปยังเมืองต่างๆ ส่วนพระองค์ประทับอยู่ ณ วัดเวฬุวัน หรือป่าไผ่ กรุงราชคฤห์ แคว้นมคธ ที่พระเจ้าพิมพิสารถวาย และถือเป็นวัดแห่งแรกในพุทธศาสนา

ในวันเพ็ญเดือน 3 ซึ่งห่างจากวันที่ตรัสรู้ 9 เดือน พระสาวกเหล่านี้ เดินทางมาเฝ้าพระพุทธเจ้า ณ วัดเวฬุวันโดยมิได้นัดหมายถึง 1,250 รูป จึงได้กำหนดเรียกวันนี้ว่า วันจาตุรงคสันนิบาต คือวันประชุมใหญ่ครั้งแรกและเป็นครั้งพิเศษ ด้วยเป็นวันที่ประกอบด้วยองค์ 4 คือ

1 . พระภิกษุสงฆ์ จำนวน 1,250 รูป มาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย

2. พระสาวกเหล่านี้ ล้วนเป็นเอหิภิกขุอุปสัมปทา คือพระพุทธเจ้าทรงประทานอุปสมบทด้วยพระองค์เอง

3.พระภิกษุสงฆ์ทั้งหมดเป็นพระอรหันต์ผู้ได้อภิญญา 6 ได้แก่ แสดงฤทธิ์ได้ ระลึกชาติได้ ตาทิพย์ หูทิพย์ กำหนดรู้ใจคนอื่นได้ และบรรลุ อาสวักขยญาณ คือญาณหยั่งรู้ธรรมที่เป็นที่สิ้นแห่งอาสวะหรือกิเลสทั้งหลาย

4. วันนั้นเป็นวันเพ็ญ เดือนมาฆะ พระจันทร์เสวยมาฆฤกษ์ ซึ่งเป็นเวลาที่ดีที่สุดคือ เป็นเวลากลางคืน อากาศไม่ร้อน ท้องฟ้าแจ่มใส ... เป็นวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนสาม (มาฆปุรณมี) หรือ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ ในปีอธิกมาส

พระพุทธเจ้าจึงเห็นเป็นโอกาสเหมาะที่จะให้การมาครั้งนี้ของพุทธสาวกเป็นการประชุมพิเศษในการแสดงโอวาทปาติโมกข์เพื่อประกาศหลักการ อุดมการณ์และวิธีการปฏิบัติในการเผยแพร่พุทธศาสนาให้นำไปใช้ได้ในทุกสังคม ซึ่งเปรียบเสมือนธรรมนูญแห่งพุทธศาสนา ที่ชาวพุทธทั้งหลายจะได้ยึดถือเป็นแม่บทสำหรับประพฤติปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์ และยังเป็นแม่บทในการเผยแพร่พระพุทธศาสนามาจนทุกวันนี้

โอวาทปาติโมกข์ ที่ทรงแสดงในวันนั้น ถือเป็นหลักธรรมคำสอนที่สำคัญ หรือเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา เลยทีเดียว หลักธรรมดังกล่าว แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ หลักธรรม 3 อุดมการณ์ 4 และ วิธีการ 6

หลักการ 3 ได้แก่
1. การไม่ทำบาปทั้งปวง ไม่ว่าจะด้วยกาย วาจาและใจ
2 .การทำกุศลให้ถึงพร้อม ได้แก่ การทำความดีทุกอย่าง
3 . การทำจิตใจให้ผ่องใส ด้วยการละบาปทั้งปวง ถือศีลและบำเพ็ญกุศลให้ถึงพร้อมด้วยการปฏิบัติสมถะและวิปัสสนา จนถึงขั้นบรรลุอรหันตผล อันเป็นความผ่องใสที่แท้จริง

อุดมการณ์ 4 ได้แก่
1. ความอดทน คือการอดกลั้น ไม่ทำบาปทั้งกาย วาจา ใจ
2. ความไม่เบียดเบียน คือ การงดเว้นจากการทำร้าย รบกวนหรือเบียดเบียนผู้อื่น
3. ความสงบ คือ ปฏิบัติตนให้สงบทั้งทางกาย วาจาและใจ
4. นิพพาน คือ การดับทุกข์ที่เป็นเป้าหมายสูงสุดในพุทธศาสนา ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อดำเนินชีวิตตามมรรคมีองค์แปด

วิธีการ 6 ได้แก่
1. ไม่ว่าร้าย คือ ไม่กล่าวให้ร้ายหรือโจมตีใคร
2 . ไม่ทำร้าย คือ ไม่เบียดเบียนผู้อื่น
3. สำรวมในปาติโมกข์ คือ ความเคารพระเบียบวินัย กติกา กฎหมาย ขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงามของสังคม
4 . รู้จักประมาณ คือ รู้จักพอดี พอกินพออยู่
5. อยู่ในสถานที่ที่สงัด คือ อยู่ในสถานที่ที่สงบและมีสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม
6. ฝึกหัดจิตใจให้สงบ คือการฝึกจิต หมั่นทำสมาธิภาวนา

สำหรับหลักการ 3 ถือได้ว่าเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา เป็นการสอนหลักในการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องแก่พุทธศาสนิกชน

ส่วนอุดมการณ์ 4 และวิธีการ 6 นั้น อาจจะเรียกได้ว่าเป็นหลักครูหรือหลักของผู้สอนคือ วิธีการที่จะนำไปปรับปรุงตัวให้เป็นกัลยาณมิตรทั้งต่อตนเองและผู้อื่น ซึ่งผู้ใดปฏิบัติได้นอกจากจะเป็นแบบอย่างที่ดีแล้ว ยังจะช่วยเผยแพร่พระศาสนาให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย




กำลังโหลดความคิดเห็น