xs
xsm
sm
md
lg

“เพื่อไทย” ดักคอ ที่มา ส.ว.เลือกตั้งโดยอ้อมไม่ต่างสรรหา ซัดไม่ยึดโยงประชาชน มีอำนาจล้นฟ้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

 นายสามารถ แก้วมีชัย อดีต ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย (ภาพจากแฟ้ม)
ลูกพรรคเพื่อไทยเผยที่มา ส.ว.เลือกตั้งโดยอ้อม ไม่ต่างอะไรจากการสรรหาทั้งหมด ชี้ไม่ยึดโยงประชาชน เตือนกลับไปทบทวนอำนาจล้นฟ้า ล้วงลูกฝ่ายบริหาร ด้านอดีต ส.ว.ตาก หยันกระบวนการคัดเลือกแค่ไม้ประดับ

วันนี้ (26 ก.พ.) นายสามารถ แก้วมีชัย อดีต ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย และอดีตประธานกรรมาธิการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นแก้ไขให้ ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้ง กล่าวถึงรูปแบบการได้มาซึ่ง ส.ว.ที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญร่างขึ้นมาว่า การออกแบบที่มา ส.ว.ครั้งนี้ทั้ง 200 คน ที่อ้างว่าเป็นการเลือกตั้งโดยอ้อมนั้น ไม่ต่างอะไรกับการสรรหาทั้งหมด เพราะไม่มีการยึดโยงกับประชาชนโดยตรง ดังนั้น กมธ. ยกร่างฯ ต้องกลับไปทบทวนอำนาจหน้าที่ ส.ว.ที่ให้ไว้ล้นฟ้า ทั้งการเสนอกฎหมายได้ จากเดิมที่มีเพียงหน้าที่กลั่นกรองกฎหมายเท่านั้น หรือแม้แต่การมีอำนาจกำกับดูแลฝ่ายบริหารที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เช่นการตรวจสอบคุณสมบัติรัฐมนตรี

“การเขียนรัฐธรรมนูญครั้งนี้ไม่ควรบัญญัติว่าสมาชิกวุฒิสภาคือผู้แทนปวงชนชาวไทย เพราะไม่ได้ยึดโยงกับประชาชนอย่างแท้จริง” นายสามารถกล่าว

ด้านนายพนัส ทัศนียานนท์ อดีต ส.ว.ตาก และคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การที่กรรมาธิการฯ เขียนระบุให้ ส.ว.ส่วนหนึ่งในกลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิในหลายๆ ด้านจำนวน 100 คน ผ่านกระบวนการคัดเลือกของคณะกรรมการสรรหา ทั้งจากสมัชชาพลเมือง และองค์กรท้องถิ่น จะเป็นเพียงไม้ประดับเท่านั้น เพราะกลุ่มคนที่จะเข้ามาทำหน้าที่คัดเลือก สมัชชาพลเมืองอาจจะเป็นพวกเดียวกับผู้ที่มีอำนาจในปัจจุบัน ส่วนกลุ่ม ส.ว.ที่ได้เข้ามาแน่ๆ ก็คือกลุ่มที่มาจากสาขาอาชีพ เช่น อดีตนายกรัฐมนตรี อดีตข้าราชการระดับสูง ทั้งพลเรือนและทหาร สุดท้ายกระบวนการต่างๆ ซึ่งได้มาซึ่ง ส.ว.200 คนก็ไม่ต่างอะไรจาก ส.ว.แต่งตั้ง เพียงแต่มีกระบวนการที่หลากหลายเท่านั้น ตนที่เคยดำรงตำแหน่ง ส.ว.สรรหามานาน เห็นว่า ส.ว.ควรมาจากการเลือกตั้งแบบเดิมมากกว่าเพราะมาจากประชาชน


กำลังโหลดความคิดเห็น