xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กตู่” ยอมชะลอสัมปทาน สั่ง สนช.แก้ กม.ใน 3 เดือน จี้รับผิดชอบร่วมกัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


นายกรัฐมนตรีเผยชะลอเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21 สั่ง สนช.แก้กฎหมายปิโตรเลียมใน 3 เดือน ก่อนเดินหน้าต่อ ยันยอมฟังแล้ว แต่ก็ต้องร่วมรับผิดชอบด้วย

วันนี้ (24 ก.พ.) ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมร่วมระหว่างคณะรัฐมนตรี (ครม.) และคสช. ถึงกรณีความเห็นต่างในเรื่องการเปิดสัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 21 ว่า ในที่ประชุมได้มีการหารือกันแล้ว ตนจึงตัดสินใจว่า สิ่งสำคัญที่อยากให้ทุกคนรู้คือขณะนี้มีสิ่งชี้ชัดว่าสถานการณ์ที่ดีขึ้นคือ มีการพูดคุยกันโดยสงบเรียบร้อย เมื่อวันที่ 20 ก.พ. ที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าเป็นการพูดคุยที่ดีมาก และมีข้อยุติว่าจะมีการตั้งคณะกรรมการมาศึกษารายละเอียด โดยตนตัดสินใจไปว่าให้แก้กฎหมายให้เรียบร้อยก่อน ที่จะเดินหน้าต่อไป

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ต้องมีการพูดคุยกันต่อ ไม่ใช่การแก้กฎหมายเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีขั้นตอนของการดำเนินการ อะไรที่จะทำให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดของประเทศ ซึ่งทั้งสองฝ่ายนั้นมีความมุ่งหมายที่ดีมาตลอด ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในวันที่ 16 มี.ค. จะยังมีการเปิดให้ยื่นสำรวจสัมปทาน อยู่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า จะยังไม่มีการเปิดให้ยื่นสัมปทาน แต่จะมีการหารือว่าจะทำอย่างไร ก็สรุปว่าแก้กฎหมายก่อน ถึงจะทำอะไรได้ โดยการแก้กฎหมายนั้น ต้องไปดูว่ามีข้อขัดข้องตรงไหน ทำได้หรือไม่ วิธีนี้ วิธีโน้น สองสามวิธี ทำได้หรือไม่ อย่างไร อะไรดีกว่าอะไร ต้องเป็นเรื่องที่ต้องหารือกันอีก ตนถึงได้บอกว่าต้องมาคุยกันอีกสิ ที่ผ่านมาเพียงแต่พูดในหลักการเฉยๆ ต้องลงรายละเอียดกันอีกที คุยกันแล้วเดี๋ยวไปแก้กฎหมายเข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จบเมื่อไหร่ก็ว่ากันในขั้นตอนของการเปิดสำรวจสัมปทาน อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ไม่ได้มีกรอบเวลา กฎหมายเสร็จเมื่อไหร่ ก็ทำเมื่อนั้น

เมื่อถามว่าในระหว่างที่ดำเนินการแก้กฎหมาย จะสร้างความมั่นใจให้กับภาคเอกชนอย่างไร นายกฯ กล่าวว่า ต้องไปถามฝ่ายที่คัดค้าน อย่ามาถามตน เพราะตนไม่ได้เป็นคนไปทำให้ช้าเสียเวลา ต้องไปถามเขาว่าอย่างไร

“ถ้ามาถามผมแล้วทำ ก็บอกว่าไม่รับฟังความคิดเห็น พอผมบอกให้ชะลอตามที่ท่านต้องการ ก็มาบอกเขาจะเชื่อมั่นเราหรือเปล่า มาถามทั้งสองทางผมจะไปตอบอะไรได้ ต้องไปถามฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยว่า ถ้าเป็นอย่างนี้แล้วเขาจะรับผิดชอบยังไงได้ เพราะรัฐบาลก็มีหน้าที่ในการจัดหาพลังงาน แต่เมื่อเราฟังความคิดเห็นท่านแล้วก็เข้าใจ ว่าท่านต้องการให้เกิดความชัดเจนขึ้น เราก็น้อมรับในคำแนะนำเหล่านั้น และหาทางออกกันต่อไป แต่แน่นอนมันต้องเสียเวลา เมื่อการเสียเวลาเกิดขึ้น ถ้ามีความผิดพลาด ความเสียประโยชน์ เขาต้องเป็นคนรับผิดชอบ ก็รู้อยู่แล้วว่ามีใครบ้าง ทุกคนต้องยอมรับกันบ้างนะ ไม่ใช่ว่าไม่รับอะไรกันเลย ผมก็สั่งให้ลงบันทึกไว้หมดแล้วว่าใครอะไรยังไง ความคิดเห็นอย่างไร ผมถือว่าทุกคนต้องรับผิดชอบด้วยกัน ถ้ารัฐฟัง ท่านก็ต้องรับผิดชอบกับรัฐด้วย แค่นั้นเอง” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

เมื่อถามถึงระยะเวลาในการแก้กฎหมาย โดยนายกฯ เคยระบุไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะใช้เวลา 3 เดือน พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เขาบอกว่าเร็วที่สุดน่าจะได้ ก็ลองดูสิ การแก้กฎหมายนั้นแก้อย่างไร แก้ด้วยใคร ซึ่งเรื่องนี้ครม.ได้ปรึกษากับคสช.แล้ว

เมื่อถามว่าคณะกรรมการร่วมจะต้องหารือร่วมกันให้ได้ข้อสรุปภายในวันที่ 16 มี.ค.ตามเดินหรือไม่ นากยกฯ กล่าวว่า ไม่ใช่ อย่าเอามาพันกัน ถ้าวันที่ 16 มี.ค. ไม่สามารถยื่นสำรวจสัมปทานได้ ก็จบ ชะลอไปก่อน คือเลื่อนไป ระหว่างนี้ก็พูดคุยทำกฎหมาย ซึ่งก็คงไม่ได้ในวันที่ 16 มี.ค.อยู่แล้ว ส่วนคณะกรรมการร่วมที่ตั้งมาก็คุยกันต่อ โดยเมื่อขั้นตอนกฎหมายอยู่ในขั้นกรรมาธิการ แปรญัติ ก็ไปทำงานร่วมกันสิ ส่วนวันนี้ที่มาถามว่าเขาจะเชื่อถือหรือไม่ ถ้าเขาไม่เชื่อถือก็ไม่ใช่ความผิดตนแล้ว

เมื่อถามว่าคณะกรรมการร่วมจะมีใครเป็นประธาน นายกฯ กล่าวว่า เขามีคณะกันอยู่แล้ว และตนก็ให้ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รับผิดชอบอยู่ ซึ่งมีฝ่ายกระทรวงพลังงาน กับกลุ่มที่จะเข้าร่วมหารือ ซึ่งทุกคนมีความหวังดีต่อชาติ และต้องการให้เกิดความชัดเจนขึ้น ซึ่งรัฐมีปัญหาอย่างเดียวคือเรามีหน้าที่ในการแสวงหาพลังงาน แต่ตนไม่อยากให้มีความขัดแย้ง ไม่อยากให้ประชาชนที่ไม่รู้เรื่องรู้ราวต้องมาเดือดร้อนด้วย มันเลยต้องไปคุยกันต่อ ถ้าแก้กฎหมายได้ไม่ได้ต้องไปหารือกัน ตนก็ยังไม่รู้ว่าแก้ได้หรือไม่ได้ก็ต้องไปว่ากันในชั้นกรรมาธิการ ไม่ใช่สั่งแก้แล้วแก้เลย โดยเรารับข้อสังเกตมาแล้วทำให้ ประชาชนก็อย่าไปให้เขาปลุกเร้าออกมาบนถนน มันผิดกฎหมาย ไม่อยากให้เดือดร้อนตรงนั้นที่ตนมุ่งหวังเป็นหลัก ส่วนตรงนี้ถ้าเดี๋ยวพลังงานมันขาด จัดหาไม่ได้ หรือไม่เกิดความน่าเชื่อถือขึ้นก็ต้องรับผิดชอบกันบ้าง ใครทำให้มันเกิดขั้น ตนก็ไม่ได้ไปขัดแย้งอะไรกับท่านอยู่แล้ว

ส่วนนโยบายการดึงต่างชาติร่วมลงทุนนั้น นายกฯ กล่าวว่า เราเปิดรับทุกประเทศ ใครอยากมาลงก็ลง โดยมีทั้งประเทศในแถบตะวันออกกลางที่เป็นมิตรกับเราอยู่ แต่เขาเป็นประเทศเล็ก และเขาก็มองว่าเราเป็นแหล่งพลังงานเล็กๆ ทางฝั่งเขานั้นใหญ่กว่าเยอะ เขาจึงไปลงทุนที่อื่นดีกว่า สำหรับเรานั้นเป็นความร่วมมือด้านพลังงาน เรียนรู้ ศึกษา เตรียมธุรกิจการประกอบน้ำมัน ซึ่งเราค่อนข้างจะทำได้ดี ในด้านการประกอบธุรกิจ แต่ไม่ใช่ด้านการขุดเจาะ เพราะเราไม่มีน้ำมันขนาดนั้น

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ที่ประชุมร่วม ครม. - คสช. ในครั้งนี้ ได้มีการรายงานความคืบหน้าด้านเศรษฐกิจด้วย โดยขณะนี้เราได้ตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนไว้ 3-4 คณะ ด้วยกัน เพื่อให้ไปช่วยกัน เพราะที่ผ่านมาเราใช้กลไกปกติ คือกลไกข้าราชการ ที่บางทีติดขัดข้อบังคับหลายอย่างทำให้ล่าช้า โดยกฎระเบียบปกตินั้นไม่เหมาะกับการแก้ปัญหาในช่วงนี้ ที่ต้องแก้ด้วยความรวดเร็ว เช่น ขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้าง การใช้จ่ายงบประมาณ วันนี้จึงให้กระทรวงการคลังไปทบทวนว่าจะลดตรงไหนได้บ้าง ทั้งนี้ต้องระมัดระวังการทุจริตให้ได้ นั่นคือวิธีการของงบประมาณ ตนไม่อยากให้คำว่ามันไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งอยู่ที่ขั้นตอนการทำงานด้วย ทั้งนี้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ต้องมีการปรับปรุงแก้ไขขั้นตอนต่างๆ ว่า จะทำอย่างไรจึงจะไม่ผิดกฎหมายและเร็วขึ้น เพราะเป็นการตรวจสอบกลับไปกลับมาหลายขั้นตอนมันเลยยาก


กำลังโหลดความคิดเห็น