xs
xsm
sm
md
lg

“สภาทนายฯ” ค้านแก้ กม.ตัดสิทธิฎีกา ชี้ขัดหลักสิทธิมนุษยชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ นายกสภาทนายความ (ภาพจากแฟ้ม)
สภาทนายความ ค้านแก้กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งที่จะทำให้คดีแพ่ง - อาญา (คดียาเสพติด) สิ้นสุดแค่ชั้นศาลอุทธรณ์ ชี้ขัดหลักสากลของสิทธิมนุษยชน พร้อมโต้สื่อใส่ความ หาว่าทนายต้องการค่าจ้างในชั้นฎีกา ทั้งๆ ที่ไม่สามารถเรียกเงินได้เยอะในชั้นนี้

วันนี้ (5 ก.พ.) ที่สภาทนายความ ถ.ราชดำเนิน นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ นายกสภาทนายความ พร้อมด้วย นายนิวัติ แก้วล้วน เลขาธิการสภาทนายความ และคณะร่วมอ่านแถลงการณ์เรื่อง “เมื่อประชาชนหมดสิทธิ์อุทธรณ์ - ฎีกาคดีต่อศาลฎีกาในคดีแพ่ง และคดีอาญา (คดียาเสพติด) กับข่าวที่ไม่ชอบด้วยจริยธรรมของสื่อสิ่งพิมพ์”

โดยแถลงว่า เป็นเรื่องน่าเสียใจที่หนังสือพิมพ์บางฉบับเสนอข่าวให้ร้ายวิชาชีพทนายความในทางที่สร้างความเข้าใจผิดให้แก่ประชาชน ในกรณีศาลยุติธรรมเสนอแก้ไขกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ที่ต้องห้ามฎีกา และสิ้นสุดในชั้นอุทธรณ์ และสภาทนายความได้ส่งผู้แทนไปชี้แจงต่อกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยไม่เห็นด้วยกับการเสนอกฎหมายดังกล่าวของศาลยุติธรรม เพราะเป็นการตัดสิทธิประชาชนในการฎีกา ซึ่งร่างแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ฉบับที่สภานิติบัญญัติได้รับไว้เพื่อพิจารณานั้น หากผ่านใช้เป็นกฎหมายจะทำให้คดีแพ่งและคดีอาญา (คดียาเสพติด) สิ้นสุดแค่ชั้นศาลอุทธรณ์

โดยศาลได้ขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงหลักการเดิมให้เป็นการต้องขออนุญาตต่อผู้พิพากษา 4 คนแทน ซึ่งสภาทนายความเห็นว่าขัดหลักการสากลของสิทธิมนุษยชนที่องค์กรในประเทศไทยพึงถือปฏิบัติ

นายเดชอุดม กล่าวว่า ในที่ประชุมดังกล่าวไม่ได้มีการพูดถึงเรื่องค่าตอบแทนทนาย ในชั้นฎีกาเลย แต่สื่อบางฉบับ กลับไปเสนอข่าวว่า เรื่องนี้เป็นเพราะทนายความต้องการค่าจ้างในชั้นฎีกา ซึ่งการฎีกานั้นเป็นการเสนอฎีกาข้อกฎหมายและหรือข้อเท็จจริงสู่การพิจารณาของศาลฎีกาไม่มีการสืบพยานเหมือนศาลชั้นต้น การเรียกค่าทนายความให้มากมาย ไม่อาจเป็นไปได้ และค่าวิชาชีพทนายความนั้นในชั้นฎีกาน้อยกว่าค่าธรรมเนียมศาลและการวางหลักประกันในกรณีเป็นฝ่ายต้องอุทธรณ์ฎีกา ประการสำคัญตัวความจะได้รับการอธิบายอย่างละเอียดถึงประเด็นข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงที่จะใช้เป็นเหตุผลที่จะอุทธรณ์ - ฎีกา ซึ่งเป็นสิทธิของตัวความที่จะพิจารณาด้วยว่าจะอุทธรณ์ - ฎีกาต่อหรือไม่ ดังนั้น กรณีการกล่าวอ้างของสื่อมวลชนดังกล่าวจึงเป็นการทำให้เกิดการเข้าใจผิด เป็นการละเลยหน้าที่ของสื่อมวลชนที่จะต้องสอบถามผู้ที่ถูกกล่าวหาอีกฝ่ายหนึ่งก่อนจะเสนอข่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น