ป.ป.ช. ตั้งอนุฯ สอบ รอง ผวจ.- นอภ. เอี่ยว ซื้อปุ๋ยแพง หลัง ครม. ย้ายผู้ว่าฯ เข้ากรุ รอสอบสวนหลังพบกว่า 20 จังหวัดส่อพิรุธ ตั้ง “ณรงค์ - ประสาท” สอบ พื้นที่ “พิจิตร - บึงกาฬ - อุบลฯ”
วันนี้ (27 ม.ค. 58) ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธาน ป.ป.ช. เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. จากกรณีสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ชี้มูลความผิดข้าราชการกระทรวงมหาดไทย กรณีการจัดซื้อปุ๋ยและยาปราบศัตรูพืชราคาแพงเกินจริงในหลายจังหวัด ซึ่งได้ส่งข้อมูลมาให้กับคณะกรรมการ ป.ป.ช. แล้วนั้น
โดยในวันนี้ ที่ประชุม ป.ป.ช. ได้มีมติตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงใน จ.พิจิตร ซึ่งก่อนหน้านี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีการตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนกรณีดังกล่าวในส่วนของ จ.บึงกาฬ และ จ.อุบลราชธานี ไปแล้ว โดยมีนายณรงค์ รัฐอมฤต กรรมการ ป.ป.ช. และ นายประสาท พงษ์ศิวาภัย กรรมการ ป.ป.ช. รับผิดชอบสำนวนการไต่สวน
“คาดว่าหลังจากนี้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และกระทรวงมหาดไทย จะทยอยส่งข้อมูลเพิ่มเติมในส่วนของจังหวัดอื่นๆ มายัง ป.ป.ช. โดยจากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นพบว่า มีการกระทำความผิดของข้าราชการในตำแหน่งรองผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอ ซึ่งหลังจากนี้ ป.ป.ช. จะประสานข้อมูลกับ สตง. และกระทรวงมหาดไทยเพื่อดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงต่อไป” นายปานเทพ กล่าว
รายงานข่าวแจ้งว่า ก่อนหน้าสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ตรวจสอบและพบความผิดปกติในการจัดซื้อปุ๋ยและยาปราบศัตรูพืช ที่แพงเกินจริงในพื้นที่หลายจังหวัดนั้น ซึ่ง สตง. ได้ชี้มูลความผิดทางแพ่งกับข้าราชการกระทรวงมหาดไทยในหลายจังหวัดแล้ว เนื่องจากทำให้รัฐเกิดความเสียหาย โดยงบประมาณการจัดซื้อเป็นงบภัยพิบัติ มีการจัดซื้อยาปราบศัตรูพืช มีการเปิดภัย แต่กลับไม่มีภัยเกิดขึ้นจริง และมีการใช้เงิน โดยบางจังหวัดใช้งบประมาณในการดำเนินการสูงถึงพันล้านบาท
ทั้งนี้ การจัดซื้อดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงปี 2554 - 2555 ที่จังหวัดในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวม 22 จังหวัด
ทั้งนี้ มีกระแสข่าวว่า ระหว่างกระบวนการสอบ และรอการลงโทษ กระทรวงมหาดไทย ได้ขอตำแหน่งในอัตราพิเศษจากคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เพื่อรองรับให้ย้ายกลุ่มคนที่จะถูกลงโทษทางวินัยก่อน เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัด อดีตรองผู้ว่าราชการจังหวัด ที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดในขณะนี้ ที่ยังไม่เกษียณอายุราชการ เข้ามาประจำกระทรวง
รายงานข่าวระบุอีกว่า ล่าสุด ครม. ให้ความเห็นชอบบัญชีรายชื่อข้าราชการระดับสูง สังกัดกระทรวงมหาดไทย โดยมีการโยกย้ายสลับตำแหน่งระหว่างผู้ตรวจราชการกระทรวงกับผู้ว่าราชการจังหวัด จำนวน 6 ราย ออกจากพื้นที่แล้ว
ขณะที่ สตง. ตรวจสอบพบว่า ในการดำเนินโครงการจัดซื้อปุ๋ยและยาปราบศัตรูพืชของแต่ละจังหวัดทั่วประเทศมีความผิดปกติ เกิดการจัดซื้อแพงกว่าราคาปกติสูงถึง 3 เท่าตัว โดย สตง. ได้ทยอยส่งเรื่องที่พบความผิดปกติมาให้ ป.ป.ช. ซึ่งขณะนี้รวบรวมได้ประมาณ 20 - 30 จังหวัด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการตรวจสอบการทุจริต พบว่ามีข้าราชการของกระทรวงมหาดไทย (มท.) และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กว่า 100 รายเกี่ยวข้อง และหากมีการทุจริตจริงจะถือเป็นการสอบทุจริตข้าราชการครั้งใหญ่ ซึ่งในจำนวนนี้มีข้าราชการระดับ 8 9 และ 10 จำนวนมาก และเป็นผู้ว่าฯ อดีต ผู้ว่าฯ ถึงกว่า 20 คน
ก่อนหน้านี้ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ระบุว่า เบื้องต้นน่าจะมีผู้เกี่ยวข้อง 3 คน ส่วนจะมีคนเกี่ยวข้องทั้งหมดเท่าไรนั้น ตนยังไม่ขอยืนยัน เพราะยังไม่เห็นตัวเรื่อง