ผ่าประเด็นร้อน
เริ่มเผยอปากแย้มออกมาให้เห็นมากขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุด ให้จับตาคำพูดของ รองนายกรัฐมนตรี วิษณุ เครืองาม ในฐานะ “คนคุมเกม” การยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่บอกว่าจะมีการเลือกตั้งในราวเดือนกุมภาพันธ์ปี 59 แต่เดี๋ยวก่อนนั่นภายใต้ข้อแม้ว่าจะต้องไม่มีการลงประชามติในร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว แต่ถ้ามีการลงประชามติก็หมายความว่าการเลือกตั้งต้องล่าช้าออกไปอีกอย่างน้อย 3 - 5 เดือน
คำพูดดังกล่าวของ รองนายกฯฝ่ายกฎหมายของรัฐบาลและที่ปรึกษาของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ มีขึ้นหลังจากตัวแทน “จอมแส่” เรื่องของชาวบ้านคือ สหรัฐอเมริกาที่ส่งตัวแทนคืออุปทูตรักษาการเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทยเข้าพบและหารือที่ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ 23 ธันวาคมที่ผ่านมา เราถึงพลอยได้ยินขั้นตอนและโรดแมปการยกร่างรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งให้ได้ยินด้วย
ตามตารางเวลา วิษณุ เครืองาม จะยกร่างเสร็จในเดือนกันยายน 2558 บวกอีกสองสามเดือนเพื่อร่างกฎหมายลูก และบวกอีกสองเดือนสำหรับการจัดการเลือกตั้ง ซึ่งก็ถ้าเป็นแบบนี้ก็คือมีการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2559
อย่างไรก็ดี มาสะดุดอยู่กับคำพูดถัดมาที่ว่า หากมีการลงประชามติในร่างรัฐธรรมนูญ ก็จะทำให้การเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไปจากเดิมอีกไม่น้อยกว่า 3 - 5 เดือน แม้ว่าเขาพูดไม่ผิด เป็นไปตามขั้นตอนตามความเป็นไปได้ เพราะต้องมีการ “แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว” เสียก่อน เพราะไม่ได้มีการกำหนดในเรื่องการทำประชามติ ซึ่งเป็นอำนาจสิทธิขาดของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่าจะมีการแก้ไขอย่างไรหรือไม่ แล้วส่งเรื่องให้กับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อพิจารณาต่อไป ซึ่ง รองนายกฯ วิษณุ เครืองาม ระบุว่า ภายในเดือนเมษายน 2558 ก็น่าจะรู้ถึงแนวโน้มแล้วว่าจะต้องมีการลงประชามติหรือไม่
แม้ว่านี่คือท่าทีล่าสุดของฝ่ายอำนาจรัฐที่นำโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาลที่ควบคุมทิศทางการยกร่างรัฐธรรมนูญในวันข้างหน้า รวมไปถึงวันเลือกตั้งที่กำหนดเอาไว้คร่าวๆว่าจะเกิดขึ้นในปี 2559 และคำพูดของ รองนายกฯและที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมายอย่าง วิษณุ เครืองาม ถือว่าเป็นตัวแทนของฝ่ายอำนาจที่ออกมายืนยันท่าทีให้สังคมได้ทราบ
อย่างไรก็ตาม สิ่งต้องพิจารณาตามมาก็คือน่าจะต้องมีการ “แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว” อย่างแน่นอน ขณะเดียวกันยังเชื่อว่าในที่สุดแล้วจะต้องมีการลงประชามติในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ค่อนข้างแน่ เพราะจะเป็นหลักประกันในเรื่องความชอบธรรม การยอมรับการคงอยู่ถาวรของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
ขณะเดียวกัน สิ่งที่ต้องจับตาก็คือ “ลูกแถม” จะพ่วงเข้ามาหรือไม่ โดยเฉพาะประเด็นอื่นนอกเหนือจากเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวในเรื่องการลงประชามติหรือเปล่า นั่นคือมีประเด็นอื่นอย่างเช่นเรื่องการกำหนดเกี่ยวกับเรื่องการ “ปรองดอง” ตามมาด้วยหรือไม่ นอกจากนี้ ที่น่าจับตาก็คือยังมีประเด็นการแก้ไขในมาตรา 35(4) ด้วยหรือไม่ ที่กำหนดให้ “ผู้ที่เคยต้องคำพิพากษาและคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายและเคยเกี่ยวข้องการคดีทุจริตห้ามเข้าสู่สนามการเมืองอย่างเด็ดขาด” เพราะนี่คือข้อห้ามที่ขัดขวางไม่ให้พวกเขี้ยวลากดินทางการเมืองเข้ามา ซึ่งแน่นอนว่า หากไม่มีการแก้ไขคนอย่าง ทักษิณ ชินวัตร ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร บรรหาร ศิลปอาชา สุวัจน์ ลิปตพัลลภ เป็นต้น รวมทั้งพวกบ้านเลขที่ 111 และบ้านเลขที่ 109 ก็จะถูกแบนหมด
แต่ที่น่าติดตามก็คือ ที่ผ่านมา มีการต่อรองกดดันเกิดขึ้นหรือไม่ จนเป็นไปได้ว่าจะมีการแก้ไขตัดข้อห้ามดังกล่าวออกไปหรือเปล่า เพราะมีข้อสังเกตจากความพยายามส่งสัญญาณออกมาให้เห็นว่าจะต้อง “ปรองดอง” ตามอยู่เสมอ ดังนั้น อะไรก็เกิดขึ้นได้ !!