xs
xsm
sm
md
lg

นายกฯ ตั้ง กก.นโยบายค้ามนุษย์ กำหนดทำให้ได้ 1 ปี เปรยมะกันไม่ลงดาบแรงกว่านี้ก็บุญแล้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ประยุทธ์” สั่งปรับการแก้ปัญหาค้ามนุษย์ให้สอดคล้องกันทุกด้าน ตั้งคณะกรรมการนโยบายการค้ามนุษย์และประมงผิดกฎหมาย พร้อมตั้งอนุกรรมการอีก 5 คณะ กำหนดยุทธศาสตร์ทำให้ได้ใน 1 ปี ลั่น ม.ค. ปีหน้าบูรณาการทุกอย่าง เผยน่ายินดีสหรัฐฯ ยังไม่ลงดาบแรงกว่านี้ก็บุญแล้ว ขอบคุณภาคเอกชนที่เดินสายแจง

วันนี้ (24 ธ.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แถลงภายหลังเป็นประธานการประชุมปัญหาการค้ามนุษย์ในมิติไทย - สหรัฐอเมริกา ว่า เรื่องการค้ามนุษย์เป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะต้องเร่งแก้ไขดำเนินการตั้งแต่ต้นปี โดยต้องมีการบูรณาการงานทุกอย่างให้ได้ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งการแก้ปัญหาเหล่านี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาชน เพราะมีผลกระทบทั้งเรื่องการค้าการลงทุน และเรื่องเร่งด่วนที่สุดในขณะนี้คือการจดทะเบียนแรงงาน ซึ่งประเทศเวียดนามได้ขอให้ไทยจดทะเบียนแรงงานประเทศเขาด้วย โดยเขาพร้อมแลกเปลี่ยนกับประเทศไทย โดยแรงงานต่างชาติทั้งหมดเราจะดูแลให้เหมือนดูแลคนไทย เพราะเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชนรวมถึงการดูแลการใช้แรงงานทั้งบนบกและทะเล การขึ้นทะเบียนเรือประมง ซึ่งต้องดูว่ามีการใช้แรงงานเด็กและสตรีหรือไม่ ซึ่งวันนี้รัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก เพราะการค้าขายของเราขึ้นอยู่กับการยอมรับของต่างประเทศ และพันธสัญญากฎกติกาต่างๆ มีเพิ่มมากขึ้น และเราถูกยกระดับให้เป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางแล้ว ฉะนั้น สิทธิประโยชน์และภาษีต่างๆ จะลดลง เราต้องเสียภาษีมากขึ้นขณะที่ต้นทุนเราสูงและสินค้าของเราต้องมีการรับรองคุณภาพให้มีมาตรฐาน โดยการประชุมในวันนี้ตนได้มีการปรับทั้งหมดให้การทำงานประสานสอดคล้องและให้หน่วยงานภาครัฐดำเนินการทั้งหมด เพราะมีความเกี่ยวพันทั้งเรื่องการค้ามนุษย์ ความมั่นคง สังคม จิตวิทยา รวมถึงเรื่องกฎหมาย

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ที่ประชุมได้มีการตั้งคณะกรรมการนโยบายการค้ามนุษย์และการประมงที่ผิดกฎหมาย ขึ้นมาโดยมีตนเป็นประธาน และมีการตั้งคณะอนุกรรมการอีก 5 คณะ แต่ยังไม่มีชื่อเป็นทางการให้ไปตั้งชื่อมา คณะที่ 1 จะทำหน้าที่รับผิดชอบปราบปรามการค้ามนุษย์ มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม เป็นประธาน คณะที่ 2 ทำหน้าที่ดูแลแรงงานเด็ก แรงงานต่างด้าว และแรงงานภาคบังคับโดยมี พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.แรงงานเป็นประธาน คณะที่ 3 ทำหน้าที่ดูแลสตรี มี พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธาน คณะที่ 4 ทำหน้าที่ดูแลประมงและไอยูยู โดยมี นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานและคณะที่ 5 ทำหน้าที่ดูแลเรื่องกฎหมายและการประชาสัมพันธ์ ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อติดตามคดีความเกี่ยวกับขบวนการค้ามนุษย์และประชาสัมพันธ์ให้ต่างประเทศได้เข้าใจต่อการแก้ไขปัญหาของประเทศไทย ทั้งนี้คณะอนุกรรมการดังกล่าวให้มีตัวแทน คสช. มาร่วมด้วย เนื่องจากมีกฎหมายบางเรื่อง ที่กฎหมายปกติทำไม่ได้เพราะอาจจะมีการต่อต้าน และรุนแรงเกินไปจึงต้องให้ คสช. เข้ามาช่วย รวมถึงเรื่องกำลังพลที่ประสานกับ คสช. ด้วยโดยแผนการดำเนินงานทั้งหมดทั้งระยะ 1 เดือน 3 เดือน และ 1 ปีจะต้องนำมารายงานในวันที่ 7 ม.ค. 58 โดยยุทธศาสตร์ดังกล่าวกำหนดให้ทำให้ได้ภายใน 1 ปี

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่าประเทศไทย ถูกลดอันดับให้อยู่เทียสองเมื่อปี 53 - 56 จากประเทศที่ไม่ได้ถูกเฝ้าระวังมาเป็นประเทศที่ถูกเฝ้าระวัง และปี 57 ถูกจัดให้มาอยู่เทีย 3 ซึ่งเขาดูว่า 4 ปีที่ผ่านมาเรามีการแก้ปัญหาอย่างไร ทุกอย่างที่เราทำมามีข้อที่ต้องระมัดระวังในระดับที่ต่ำที่สุด ที่คณะกรรมการดูว่าเราต่ำสุดแค่ไหนและได้ผ่านตรงนั้นหรือไม่ เอาโจทย์ตรงนี้มาดูทั้งหมด ซึ่งมีหลายเรื่องที่เราต้องเร่งดำเนินการ ทั้งจำนวนเจ้าหน้าที่ ความทันสมัยของกฎหมาย หน่อยงานต่างๆมีการบูรณาการกันหรือไม่ ซึ่งทุกภาคส่วนต้องมาช่วยกันก็จะแก้ได้ทั้งระบบ เราต้องแก้สิ่งที่ต่ำสุดของเทียให้ได้ทั้งหมดถ้าแก้ได้เราก็หลุด โดยหลักการหลักๆ เราต้องมีการป้องกันการกระทำผิดกฎหมาย การคุ้มครองผู้ประกอบการและประชนให้ได้รับประโยชน์สูงสุด รวมถึงการลงโทษดำเนินคดี ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือน ม.ค. เป็นต้นเราจะบูรณาการทุกอย่างเข้าด้วยกัน ซึ่งคณะกรรมการที่ตั้งไปนั้นจะรายงานแผนระยะสั้นระยะยาวอย่างไร โดยจะสร้างการรับรู้ทันที

เมื่อถามว่าใน 3 เดือนข้างหน้า ประเทศสหรัฐอเมริกา จะมีการประเมินอีกครั้งหากไม่สามารถทำได้ตามเป้าหมายจะทำอย่างไร พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ก็ต้องไปถามคนประเมิน เรื่องเทีย เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่สหรัฐฯยังไม่เพิ่มมาตรการพิเศษในการกดดันไทยยังไม่ยกเลิกโน่นนี้ก็ถือเป็นความกรุณาแล้ว เราต้องทำให้เขารับรู้สิ่งที่เราทำและขึ้นอยู่กับการพิจารณาของเขาว่าเราทำได้จริงหรือไม่ ทางด้านไอยูยู ก็จะให้เราชี้แจงเรื่องปัญหาการค้ามนุษย์ทางทะเลว่าเราทำอะไรไปบ้าง ในเดือน ม.ค. นี้ วันนี้ต้องขอบคุณภาคเอกชนที่เดินสายชี้แจงว่าไม่มีการใช้แรงงานเหล่านี้ ซึ่งประเด็นสำคัญอยู่ที่สื่อต่างประเทศไม่เข้าใจการทำงานของเจ้าหน้าที่ ก็เกิดการขัดแย้งไม่ให้เข้าไปในพื้นที่บ้างอาจทำให้เกิดความไม่พอใจ



กำลังโหลดความคิดเห็น