xs
xsm
sm
md
lg

“รสนา” ดักคอ ลดราคาน้ำมันตามกลไกตลาดโลกอย่าเนียนขึ้นก๊าซแอลพีจี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

น.ส.รสนา โตสิตระกูล (แฟ้มภาพ)
“รสนา” หวั่น “ประยุทธ์” สาดความทุกข์รับปีใหม่ เตือนรอบคอบฟัง กพช. ยุขึ้นราคาก๊าซแอลพีจีจันทร์นี้ ก่อนกระทบ ปชช. แบกภาระก๊าซหุงต้มเพิ่มถังละ 20.55 บาท ลุ้นจะคืนความสุขให้กลุ่มทุนพลังงาน หรือประชาชน เหตุ กพช. บางรายมีผลประโยชน์ทับซ้อนในธุรกิจพลังงาน

วันนี้ (14 ธ.ค.) เมื่อเวลา 02.50 น. น.ส.รสนา โตสิตระกูล สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว รสนา โตสิตระกูล หัวข้อ “นายกฯควรระมัดระวังมือชงนโยบายที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน” ตามข้อความดังนี้

“มีข่าวออกมาว่าคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน จะประกาศลดราคาน้ำมันในวันจันทร์ที่ 15 ธันวาคม และมากกว่าที่ลดครั้งละ .50 - .60 บาท/ลิตร เพราะขณะนี้ราคาตลาดโลกลดลงอย่างฮวบฮาบแล้ว จนแม้แต่ในอเมริกา ราคาน้ำมันรวมภาษีแล้ว ยังเหลือราคาเพียงลิตรละ 20 - 22 บาท สถานการณ์เช่นนี้ทำให้รัฐบาลยากจะหลีกเลี่ยงในการลดราคาให้สะท้อนกลไกตลาดโลกที่เคยอ้าง

แต่กลายเป็นว่าเมื่อต้องลดราคาน้ำมัน กพช. จะฉวยโอกาสขึ้นราคาก๊าซแอลพีจีอีกกิโลกรัมละ 1.37 บาท จาก 24.16 บาท/กก. เป็น 25.53 บาท/กก. ทั้งที่ราคาก๊าซก็ลดลงตามราคาน้ำมันดิบ ไม่มีเหตุผลที่จะมาขึ้นราคาก๊าซในขณะนี้

ข่าวที่ว่านายกฯจะทำตามข้อเสนอแบบนี้ในวันที่ 15 ธ.ค. คือ ลดราคาน้ำมัน แต่ขึ้นราคาแอลพีจี หากเป็นเช่นนั้นจริง ของขวัญปีใหม่ของท่านนายกฯก็ไม่ควรเรียกว่าเป็นการ “คืนความสุข” ให้ประชาชน แต่น่าจะเป็นการสาด “ความทุกข์” ให้ประชาชนมากกว่า เพราะราคาก๊าซหุงต้มขณะนี้ถังละ 415 บาท ก็ทำให้ประชาชนแบกภาระค่าครองชีพหลังแอ่นแล้ว การขึ้นราคาก๊าซหุงต้มอีกกิโลกรัมละ 1.37 บาท เท่ากับขึ้นราคาอีกถังละ 20.55 บาท ประชาชนจะยิ่งยากลำบากมากขึ้นอีก

การดำเนินนโยบายเช่นนี้ จะกลายเป็นว่ารัฐบาลมุ่งคืนความสุขให้กลุ่มทุนพลังงานมากกว่าประชาชน เพราะนโยบายของรัฐบาลที่ผ่านมาเห็นได้ชัดเจนว่า โอบอุ้มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีให้ได้ใช้ก๊าซแอลพีจีราคาถูกจากอ่าวไทย แต่ผลักดันประชาชนทุกกลุ่มไปใช้ก๊าซแอลพีจีในราคานำเข้า

การขึ้นราคาก๊าซแอลพีจีในกลุ่มที่ใช้เป็นเชื้อเพลิง (ครัวเรือน, ยานยนต์ และอุตสาหกรรม) ที่ใช้วันละ 12.9 ล้านกิโลกรัม มีการขึ้นราคาก๊าซแอลพีจีมาแล้วกิโลกรัมละ 5.9827 บาท/กก. หากมีการขึ้นราคาอีกกิโลกรัมละ 1.37 บาท จะเท่ากับขึ้นราคาถึงกิโลกรัมละ 7.3527 บาท เป็นการเพิ่มกำไรให้ธุรกิจก๊าซวันละ 94.8 ล้านบาท หรือปีละ 34,617 ล้านบาท เป็นกำไรเพิ่มขึ้นเหนาะๆ จากการล้วงกระเป๋าประชาชน และกำไรที่เพิ่มขึ้นไม่ได้เป็นรายได้เข้ารัฐ ทั้งที่กิจการก๊าซเป็นกิจการผูกขาดที่ไม่มีการแข่งขันผู้กำหนดนโยบายก็มีผลประโยชน์ทับซ้อนอีก แล้วประชาชนจะพึ่งพาใครได้?

ควรแล้วหรือที่ท่านนายกฯจะรับฟังแต่กลุ่มทุนพลังงาน และข้าราชการที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนในธุรกิจพลังงาน ที่ยุให้ขึ้นราคาก๊าซที่ประชาชนใช้เพื่อการยังชีพให้เป็นราคาตลาดโลก 100% แล้วก๊าซในอ่าวไทยที่ประชาชนมีส่วนเป็นเจ้าของ ประชาชนไม่มีสิทธิใช้ในฐานะเป็นเจ้าของทรัพยากรในราคาที่เป็นธรรมเลยหรือ?

ผู้มีส่วนร่วมในการชงนโยบายใน กพช. ที่กำหนดให้ขึ้นราคาก๊าซ และใน กบง. ที่กำหนดนโยบายราคาน้ำมัน เป็นข้าราชการที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะเป็นทั้งคนกำหนดนโยบายของรัฐ และสวมหมวกเป็นกรรมการอยู่ในบริษัทก๊าซและน้ำมันที่เป็นผู้รับผลโดยตรงจากนโยบายราคาที่ตนชงและกำหนดให้เก็บจากประชาชน

แล้วประชาชนจะเชื่อใจได้อย่างไรว่าคนเหล่านั้น มิได้กำหนดนโยบาย เพื่อให้พวกตนได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นจากกำไรที่เพิ่มขึ้นของธุรกิจพลังงาน? เพราะการลดราคาน้ำมันน้อย และช้า และการผลักประชาชนไปใช้ราคาแอลพีจีตลาดโลก เพื่อให้ปิโตรเคมีได้ใช้ก๊าซราคาถูกในประเทศ ล้วนเป็นการเพิ่มพูนกำไรให้เอกชนที่ข้าราชการเหล่านั้นไปนั่งเป็นกรรมการ และได้รับผลตอบแทนโดยตรงจากกำไรที่เพิ่มขึ้น

ท่านนายกรัฐมนตรีจึงควรพิจารณาด้วยความรอบคอบ ต้องระมัดระวังในการฟังบรรดามือชงนโยบายให้ท่าน ว่า เป็นผู้มีผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างผลประโยชน์ส่วนตัวกับผลประโยชน์ของส่วนรวมหรือไม่ ก่อนที่จะประกาศนโยบายให้ของขวัญในการคืนความสุขประชาชนแบบผิดๆ”


กำลังโหลดความคิดเห็น