xs
xsm
sm
md
lg

เล็งชง ครม.หนุนใช้จักรยาน ชูนโยบาย 3 ส.ทั่วประเทศ ดันเพิ่มพื้นที่ริมเจ้าพระยา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยงยุทธ ยุทธวงศ์ (แฟ้มภาพ)
รองนายกฯ เตรียมเสนอ ครม.เพิ่มพื้นที่สุขภาวะริมแม่น้ำเจ้าพระยา เดิน ปั่น พักผ่อน ริมน้ำสะพานปลา ตามยุทธศาสตร์ส่งเสริมการใช้จักรยานตามโครงการ “เมืองปั่นได้ เมืองปั่นดี” ของ สสส. พร้อมผลักดันนโยบาย 3 ส. “1 สวน 1 เส้นทาง 1 สนาม” ทั่วประเทศ

นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประชุมกรรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม สสส.ได้พิจารณายุทธศาสตร์ส่งเสริมการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน ในโครงการ “เมืองปั่นได้ เมืองปั่นดี” ที่ สสส. และภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมผลักดันนโยบาย รวมถึงสร้างกระแสตื่นตัวการเดิน การใช้จักรยาน ให้เกิดขึ้นทั่วประเทศ โดยยึดหลัก “3 ส.” ในทุกจังหวัด คือ 1. สวนสาธารณะ มีการจัดการให้เอื้อต่อการใช้จักรยาน เช่น ตีเส้นทางคนเดิน-วิ่ง-จักรยาน 2. เส้นทางจักรยาน เสนอให้แต่ละจังหวัดกำหนด 1 เส้นทางที่สนองตอบผู้ใช้ประจำ เลือกเส้นทางที่รถยนต์วิ่งได้ช้า ปรับผิวจราจรให้เหมาะสม และมีมาตรการดูแลการใช้รถใช้ถนน

3. สนาม ที่มีอยู่แล้วในทุกจังหวัด เช่น สนามกีฬา หรือสนามบิน หรือสนามของหน่วยราชการ สามารถทำ CSR จัดแบ่งให้เป็นเลนปั่นจักรยานเพื่อการออกกำลังกาย ซึ่งโครงการ นี้ สามารถเริ่มต้นได้ทันที ใช้งบประมาณน้อย และระดมการมีส่วนร่วมได้สูง ทุกจังหวัดมีการกำหนดมาตรการอื่นๆ ที่มีศักยภาพ นอกจากนี้ยังมีมาตรการอื่นๆ ที่น่าดำเนินการต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการใช้จักรยานอย่างยั่งยืน เช่น มีจุดจอดจักรยาน เส้นทางจักรยานท่องเที่ยว การให้บริการจักรยาน ให้ความรู้วินัยจราจรและการแบ่งปันถนน

“แนวทางดังกล่าวเป็นการดำเนินงานที่สืบเนื่องจากที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ส่วนราชการ โดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม วางแนวทางส่งเสริมให้เกิดเส้นทางจักรยานที่ปลอดภัย เชื่อมโยงการสัญจรครอบคลุมทุกจังหวัด โดยในส่วนของ สสส. พร้อมให้การสนับสนุนในด้านการจัดทีมที่ปรึกษาด้านการออกแบบพื้นที่ และการประสานความร่วมมือระหว่างภาคีเครือข่ายจักรยานในพื้นที่ ซึ่งภายหลังจากที่คณะกรรมการกองทุน สสส.ให้ความเห็นชอบแล้วจะนำเสนอต่อที่ประชุม ครม.เพื่อพิจารณาต่อไป”

นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ได้มีมติเห็นชอบให้เสนอ ครม.พิจารณาสนับสนุนโครงการนำร่องส่งเสริมสุขภาพด้วยการเดิน การใช้จักรยานและนันทนาการในพื้นที่สุขภาวะริมน้ำย่านสะพานปลา ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการทำกระบวนการรับฟังความเห็น การมีส่วนร่วมของชุมชนและหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ไปแล้วหลายครั้ง ได้รับความร่วมมืออย่างดีและเห็นด้วยกับแผนการพัฒนาพื้นที่ โดยมีศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง จุฬาฯ ทำการศึกษาและยกร่างแผน

ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครได้เตรียมอนุมัติงบฯ เพื่อทำเขื่อนกั้นน้ำความยาว 1.2 กม.ตามแผนป้องกันน้ำท่วมอยู่แล้ว การออกแบบพื้นที่ริมน้ำดังกล่าวจึงเป็นการทำเพิ่มเฉพาะพื้นที่เหนือเขื่อน ให้รองรับการใช้ประโยชน์แบบผสมผสาน การเดิน ปั่นจักรยาน และกิจกรรมนันทนาการของชุมชน สามารถรองรับผู้คนที่เดินทางสัญจรในจุดต่อรถต่อเรือและรถไฟฟ้าในย่านนี้ที่มีสูงถึงวันละ 3 หมื่นกว่าคนได้ ซึ่งหากได้ดำเนินการจะเป็นการเพิ่มพื้นที่สุขภาวะให้แก่คนเมือง เช่นเดียวกับที่มีในเมืองขนาดใหญ่หลายแห่ง อาทิ มารีนาเบย์ของสิงคโปร์ พื้นที่ริมแม่น้ำฮั่นของเกาหลีใต้


กำลังโหลดความคิดเห็น