รองนายกฯ รับกังวลช่วงตั้ง สนช. เอาปลา 4 น้ำมาทำงานร่วมกันกลัวไปไม่รอด แต่ที่สุดกลับอยู่กันได้อย่างน่าอัศจรรย์ ขู่ สนช. ต้องเข้าใจในสิ่งที่ คสช. ต้องการ ยกคำโบราณ “ลงเรือแป๊ะ ต้องตามใจแป๊ะ” ไม่เช่นนั้นจะถูกแป๊ะไล่ลงจากเรือ
นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวเปิดสัมมนาโครงการสัมมนา สนช. ประจำปี 2557 ถึงบทบาทการพิจารณากฎหมายของ สนช. ว่า การบัญญัติกฎหมายให้เป็นกฎหมายที่ดีปริมาณไม่สำคัญเท่าคุณภาพ เราต้องมีกระบวนการที่เข้มแข็ง เริ่มตั้งแต่การส่งตัวแทนไปร่วมเป็นวิปรัฐบาล และ สนช. ต้องไม่เกรงใจรัฐบาลถ้ากฎหมายมีปัญหา หรือเป็นการเสนอแบบลักไก่ เราก็ต้องเรียนไปตามตรง เพื่อให้กฎหมายที่ออกมาเป็นกฎหมายที่ดีที่สุด อย่างไรตาม ขณะนี้กฎหมายที่เป็นนโยบายของรัฐบาล และ คสช. ได้ส่งมายัง สนช. แล้วหลายฉบับ แต่ส่วนตัวอยากขอให้รัฐบาลช่วยเร่งส่งกฎหมายที่ดี เช่น กฎหมายที่เกี่ยวกับความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เพื่อให้สอดคล้องกับโลกยุคโลกาภิวัตน์ และกฎหมายที่ส่งเสริมการค้าขาย
นายพรเพชร กล่าวว่า ขอให้สมาชิกเข้าใจตนที่ต้องเข้มงวด เพราะต้องการให้ทุกอย่างเป็นไปตามรัฐธรรมนูญกำหนด โดยเฉพาะเรื่องระเบียบการลาที่จะส่งผลต่อสมาชิกภาพ ส่วนปัญหาที่สมาชิกถามอยู่ตลอดว่าตนจะรับรองได้หรือไม่ว่าสนช. จะไม่ถูกฟ้อง อยากบอกว่าตอนนี้คงรับรองไม่ได้ แต่สามารถชี้แจงได้ว่าทำอย่างไรจึงไม่ถูกฟ้อง ซึ่งหากมีการฟ้องร้องจะไปที่ 3 ศาล คือ ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง และศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งศาลยุติธรรมจะเกี่ยวกับเรื่องส่วนตัว โดยเฉพาะมาตรา 157 เราก็อย่าทำอะไรที่ให้เขาอ้างได้ว่าเราปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ส่วนการยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเป็นไปได้ยาก เนื่องจากรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 มีมาตราที่ให้อำนาจผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นผู้ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในเรื่องที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ซึ่งตั้งแต่มีรัฐบาล และ คสช. มีคนพยายามไม่น้อยที่จะใช้ช่องทางผ่านผู้ตรวจการแผ่นดิน
ด้าน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวระหว่าบรรยายพิเศษเรื่อง “บทบาทของ สนช. กับการพัฒนาประเทศไปสู่ความยั่งยืน” ตอนหนึ่งว่า สมัยตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ใหม่ๆ มีความกังวลว่า การเอาปลา 4 น้ำ ได้แก่ 1. พวกท็อปบูต 2. พวกที่มามือเปล่าคืออดีตสมาชิกรัฐสภา 3. นักกฎหมาย 4. ภาคเอกชน มาอยู่ด้วยกันจะไปกันได้หรือไม่ หากต้องทำงานภายใต้เวลาที่จำกัด แต่ตลอด 4 เดือนที่ผ่านมาพบว่าอยู่กันได้อย่างน่าอัศจรรย์ และประธาน สนช. และรองประธานสภา 2 คน ทำงานคุมเกมได้ดี ถือเป็นดรีมทีมของสภาได้ อยากให้ สนช. ประคับประคองระเบียบเหล่านี้ให้ได้
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หัวใจของการพัฒนาประเทศไปสู่ความยั่งยืนมี 5 คำ คือ 1. พิมพ์เขียว 2. โรดแมป วันนี้อยู่ในโรดแมปช่วงสอง คาดว่า สิ้นสุดในช่วงเดือน ก.พ. 2558 ก่อนวันเช็งเม้ง แม้จะมีระยะเวลาทูลเกล้าฯรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ภายในวันที่ 4 ก.ย. 2558 แต่ไม่ใช่ว่าจะเลือกตั้งได้ทันที เพราะยังต้องมีกระบวนเสนอกฎหมายลูกตามมาอีก กว่าจะเลือกตั้งคาดว่า อยู่ในช่วงเดือน ก.พ. 2559 3. แม่น้ำห้าสาย คือ คสช., ครม., สนช., สปช. และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 4. ทำทันที ทำต่อไป ทำอย่างยั่งยืน 5. ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง
“วันนี้ทุกคนลงเรือลำเดียวกันแล้ว เหมือนคำโบราณที่ว่า ลงเรือแป๊ะ ต้องตามใจแป๊ะ ไม่เช่นนั้นจะถูกแป๊ะไล่ลงจากเรือ ก็ต้องตามใจแป๊ะ คือเข้าใจในสิ่งที่เขาอยากให้เข้าใจ ส่วนเรื่องการทำประชามติ ภายหลังการยกร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้วนั้น ก็ต้องแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราวให้มีการทำประชามติได้ อาจจะต้องใส่เพิ่มไป 5 - 7 มาตรา ซึ่งภารกิจนี้วันหนึ่งอาจจะมาถึง สนช.”
นายวิษณุ กล่าวว่า รัฐบาลมีปฏิทินว่า ในเดือน ธ.ค. จะนำกฎหมายสำคัญเข้า สนช. หลายฉบับ เช่น กฎหมายภาษีมรดก ขณะที่เดือน ม.ค. 58 จะมีการเสนอ ร่าง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ เพื่อใช้ควบคุมฝูงชนในเวลามีเหตุการณ์ชุมนุม ทั้งนี้ หากร่าง พ.ร.บ. ใดเป็นนโยบายรัฐบาลก็ขอให้ช่วยเร่งหน่อย
ทั้งนี้ หน้าที่หลักของ สนช. ที่ต้องทำ มี 11 ประการ คือ 1. การแก้กฎหมาย 2. การแก้รัฐธรรมนูญ 3. แต่งตั้งบุคคลดำรงตำแหน่ง 4. ถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 5. การให้ความเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ข้อนี้ควรให้ความใส่ใจเป็นพิเศษ ขอให้เตรียมตัวทำการบ้านให้ดี 6. การควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน เช่น การตั้งกระทู้ถาม 7. การรับฟัง รับทราบเรื่องที่เข้าสู่การพิจารณา 8. การปฏิรูปประเทศ 9. การสร้างความปรองดอง 10. การทำความเข้าใจกับประชาชน และ 11. การช่วยสร้างความเข้าใจกับต่างประเทศ