โฆษกรัฐบาล แถลงรับมือภัยแล้ง อธิบดี ปภ.คาดมี 9,565 หมู่บ้านเจอปัญหา มุ่งแก้น้ำกินใช้ก่อน ด้าน อธิบดีกรมชลประทาน ขอมติครม.งดส่งน้ำทำนาปรัง 22 จว. เล็งจ้างงานช่วยแทนระหว่างไม่ได้ทำนา ขณะที่อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ ชี้ขุดคูคลองเฟสแรกเสร็จ มี.ค.58
วันนี้ (14 พ.ย.) ที่ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 13.30น. ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยแทน กระทรวงกลาโหม มหาดไทย เกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ร่วมกันแถลงข่าว การเตรียมการรับมือและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง โดย ร.อ.นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า รัฐบาลได้มีการประชุมบูรณาการแก้ปัญหาภัยแล้ง ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น เพราะปีนี้มีปริมาณน้อยกว่าค่าเฉลี่ยในปีที่ผ่านๆมา และพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ได้มีการสั่งการให้ทุกหน่วยงานบูรณาการการแก้ปัญหา ทั้งระยะเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยาว
โดย นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ). กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทย ได้ตรวจสอบหมู่บ้านทั่วประเทศไทย ทั้ง74,963 หมู่บ้าน คาดว่าน่าจะมีหมู่บ้านที่ประสบภัยแล้ง 9,565 หมู่บ้าน หรือคิดเป็น12.75 โดยพิจารณาจากจำนวนฝนที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย อีกทั้งน้ำในเขื่อน และอ่างเก็บน้ำต่างๆมีน้อย และประเทศไทยมีประชากร 23 ล้านครัวเรือน มีน้ำประปาใช้ คิดเป็นร้อยละ83 ส่วนใหญ่เป็นการประปาท้องถิ่น และมีร้อยละ17 ที่ไม่มีน้ำประปาใช้ เราจึงมุ่งแก้ปัญหาน้ำกินน้ำใช้ก่อน ส่วนการเตรียมการแก้ปัญหา ได้มีการสำรวจระบบประปาที่มาจากน้ำบาดาล รวมถึงการขุดลอกคูคลอง อีกทั้งสร้างความเข้าใจถึงการแก้ไขปัญหาต่างๆของรัฐบาล ยืนยันว่ารัฐบาลพร้อมให้การช่วยเหลือประชาชนในการแก้ปัญหาภัยแล้ง แม้ยังไม่เกิดขึ้นในขณะนี้ก็ตาม
ด้าน นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวเพิ่มเติมว่าปริมาณน้ำฝนตั้งแต่ต้นปี ถึงปัจจุบัน น้อยกว่าค่าเฉลี่ยถึงร้อยละ 7 โดยเฉพาะภาคกลางปริมาณน้ำฝนน้อยกว่าค่าเฉลี่ย ถึงร้อยละ 17 และปกติจะมีน้ำที่ไหลลงอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 33 แห่งทั่วประเทศ ประมาณ 40,000 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ปีนี้มีเพียง 2,800 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่งผลให้สามารถสนับสนุนการเกษตรได้น้อยลง ขณะนี้ได้มีการขอมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) งดส่งน้ำเพื่อการทำนาปรัง 2 ในลุ่มน้ำแล้ว คือลุ่มน้ำเจ้าพระยา และลุ่มน้ำแม่กลอง รวม 22 จังหวัด แต่ขณะนี้อ่างเก็บน้ำทั้ง 33 แห่งยังสามารถให้น้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค และรักษาระบบนิเวศได้อยู่ รวมถึงการสำรองน้ำเพื่อการทำนาปี ยังมีเพียงพอ และในพื้นที่ที่ไม่สามารถสนับสนุนการทำนาปรังได้นั้น กรมชลประทานได้สนับสนุนในการจ้างแรงงานที่เป็นเกษตรกร ตั้งแต่วันที่ 3 พ.ย. - 13 พ.ย. มีผู้สนใจรับการจ้างงานแล้ว 16,000 กว่าราย
ขณะที่นายนำชัย พรหมมีชัย รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า การหยุดสนับสนุนน้ำในการทำนาปรังของ 2 ลุ่มน้ำดังกล่าวจะมีประชากรได้รับผลกระทบ 390,000 กว่าครอบครัว แบ่งเป็น เจ้าของนา คนเช่านา และคนรับจ้างทำนา ซึ่งคนรับจ้างทำนา และคนเช่านา จะมีความเดือดร้อนมาก หากประเมินแล้วมีอยู่ประมาณ 200,000 กว่าครัวเรือน เราจะใช้มาตรการ จ้างแรงงาน เป็นมาตรการช่วยเหลือหลัก รวมถึงจะมีการ ฝึกอาชีพ เป็นมาตรการเสริมอีกด้วย ซึ่งขณะนี้มีคนสมัครเข้าร่วมกิจกรรม แล้วประมาณ 36,000 กว่าครอบครัว และจะเริ่มดำเนินการได้ในเร็วๆนี้
ทางด้าน นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ กล่าวว่า ขณะนี้ได้ดำเนินการขุดลอกคูคลองในพื้นที่ที่ประสบปัญหา ซึ่งได้วางไว้ 2 ระยะ คือ ดำเนินการให้เสร็จในเดือนมี.ค. 2558 คาดว่าจะลำเลียงน้ำไปยังพื้นที่มีปัญหาได้ประมาณ 100 กว่าล้าน ลูกบาศก์เมตร อีกส่วนหนึ่งจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือน ก.ย.2558
นอกจากนี้ พ.อ.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม(กห.) กล่าวว่า กระทรวงกลาโหม พร้อมให้การสนับสนุนการแก้ไขปัญหาภัยแล้งอย่างเต็มที่ รวมถึงประสานทุกส่วนราชการ ให้การช่วยเหลือประชาชนอย่างครอบคลุมทุกพื้นที่ ทั้งนี้ กห. ได้เตรียมการในการช่วยเหลือประชาชน ทั้งการป้องกันที่ดำเนินการมานานกว่า 1 ปีแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการปลูกป่า ขุดลอกคูคลอง สร้างฝาย และการช่วยเหลือเฉพาะหน้า ทั้งการ ใช้เรือระบายพลขนาดใหญ่ ลำเลียงน้ำจืดไปยังเกาะต่างๆ และการใช้วิทยุเครือข่ายของกระทรวงกลาโหม เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจต่อประชาชน ภัยแล้ง และผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น