ผอ.สถาบันปฏิรูปประเทศ แจงเสนอความคิดเห็นไม่ขัดกฎหมายรอดูหน้าตา สปช. คาดไม่น่าสร้างความแตกแยก ส่งผลดีอย่างยั่งยืน ซัดเนติบริกรงัดอัยการศึกน่าใช้กับพวกก่อกวน อัดใจแคบปิดกั้นประชาชนมีส่วนร่วม หยันปฏิรูปแค่สภาสองร้อยห้าสิบไม่ยั่งยืน ถามกลับมีส่วนร่วมหลายช่องทางดีกว่าไม่ใช่หรือ
วันนี้ (28 ต.ค.) นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้อำนวยการสถาบันปฎิรูปประเทศ (สปท.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกมาระบุถึงการตั้ง สปท. เพื่อเป็นกระจกเงาคู่ขนานกับสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ต้องไม่ขัดกฎหมาย และอย่าสร้างความแตกแยกว่า สปท. จะเสนอความคิดเห็นของประชาชนไปให้ สปช. อย่างไม่ขัดกฎหมายแบบนายกฯ บอกได้อย่างไรนั้น เบื้องต้นต้องรอดู สปช. ว่าจะออกแบบหน้าตาของกระบวนการปฏิรูปอย่างไร หรือมีช่องทางให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากน้อยแค่ไหนจึงจะกำหนดวิธีการได้
ส่วนที่นายกฯ บอกว่าการดำเนินการของ สปท. ต้องไม่สร้างความแตกแยก และไม่ขัดกฎหมายนั้น เจตนาการตั้ง สปท. ตั้งแต่ต้น คือส่งเสริมให้มีการปฎิรูปประเทศอย่างยังยืน ไม่ใช่แค่ระยะปี หรือสองปี แล้วสุดท้ายนำไปสู่การเมืองที่ล้มเหลวเหมือนครั้งอดีต และที่สำคัญ ประชาชนต้องมีส่วนร่วม จึงมองว่าไม่น่าสร้างความแตกแยก
เมื่อถามว่า ล่าสุด นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า การดำเนินการของ สปท. ขัดต่อกฎอัยการศึก นายสุริยะใส ชี้แจงว่า มองว่ากฎอัยการศึกควรใช้กับพวกที่เข้ามาก่อกวนมากกว่า ส่วนเนื้อหาที่ สปท. พูดคุยก็ไม่ขัดกฎหมายและไม่สร้างความวุ่นวาย แต่เกิดประโยชน์มากกว่าโทษด้วยซ้ำ จึงไม่ควรปิดกั้นประชาชน ซึ่งถ้าหากไม่สบายใจก็ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาสังเกตการณ์ได้ไม่มีปัญหา และคิดว่าหัวใจสำคัญของการปฏิรูป คือ การให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด ถ้าปฏิรูปประเทศกันแค่ 250 คน ความรู้สึกในการมีส่วนร่วมของประชาชนไม่เกิด และสุดท้ายการปฏิรูปก็จะไม่ยั่งยืน
ถามย้ำว่า ก่อนหน้านี้ คสช. เปิดให้สมัครเป็น สปช. แต่ไม่สมัคร แต่กลับมาตั้ง สปท. ทำงานคู่ขนาน สปช. นายสุริยะใส กล่าวว่า เรายินดีและพร้อมปฎิรูปประเทศ แต่เห็นว่ามีผู้สมัครกว่าเจ็ดพันคน แต่ คสช. คัดเลือกเหลือแค่ 250 คน แล้วอีกเจ็ดพันกว่าคนไปอยู่ไหน ส่วนตนไม่อยากให้มองว่าการปฎิรูปจำกัดอยู่แค่ สปช. เพราะจะถูกทำให้รู้สึกแคบ และการมีส่วนร่วมของประชาชนในหลายช่องทางเป็นผลดีมากกว่าผลเสียมิใช่หรือ