หัวหน้าประชาธิปัตย์ชี้ปฏิรูปแล้วเกิดความขัดแย้งทางความคิดเป็นเรื่องปกติ จะมาพูดตรงกันเป็นไปไม่ได้ ชี้ยิ่งเงียบๆ แล้วทำข้อตกลงจะวุ่นวาย แนะประธาน สปช.ต้องมีประสบการณ์ หากไม่รอบคอบจะเกิดปัญหา เตือนไม่ง่าย ระบุปฏิรูปหากมีเหตุผลตรงจุด และเปิดให้แสดงความเห็นกันก็น่าจะยอมรับได้
วันนี้ (16 ต.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงบรรยากาศการปฏิรูปในขณะนี้ว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะมีลักษณะของความราบรื่น ความเรียบร้อย หรือทุกคนจะมาพูดตรงกัน สังคมต้องเริ่มปรับตัวเข้ากับความเป็นจริงว่าต่อไปนี้ประเด็นการปฏิรูปจะมีการเสนอประเด็นหลากหลาย มีการถกเถียง มีความสับสน อาจจะมีความขัดแย้งทางความคิดก่อนซึ่งต้องถือว่าเป็นเรื่องปกติ ไม่อย่างนั้นเราไม่มีทางที่จะทำให้สังคมคิดเรื่องการปฏิรูปแล้วมีส่วนร่วมได้
“ข้อเสนอ 11 ด้านของสำนักปลัดกลาโหมที่ให้กับสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จะเห็นว่าเนื้อหาสาระของแต่ละหัวข้อมีการรวบรวมความเห็นที่พอมีจุดร่วมกันบ้างแล้วบางเรื่องมีการเขียนข้อดีและข้อเสีย และหลายประเด็นที่คาบเกี่ยวกันแต่ อาจจะไม่ตรงกันเสียทีเดียว หลายคนมีความสับสนว่าจะมีการปฏิรูปตามแนวทางนั้นหรือไม่ ยังไม่ทราบว่า สปช.ทั้ง 250 คนจะเห็นอย่างไร และยังต้องส่งไปยัง สนช. ครม. หรือองค์กรที่เกี่ยวข้องด้วย ดังนั้นเราต้องยอมรับว่าบรรยากาศของการปฏิรูปจะมีลักษณะราบรื่นคง เป็นไปไม่ได้ ยิ่งถ้า สปช.ยอมรับว่าจะต้องดึงการมีส่วนรวมของสังคมในวงกว้าง ยิ่งเป็นไปไม่ได้ใหญ่ที่จะทำเงียบๆ แล้วออกมาเป็นข้อตกลงก็จะยิ่งวุ่นวาย” นายอภิสิทธิ์กล่าว
นายอภิสิทธิ์ยังแสดงความเห็นถึงการเลือกประธาน และรองประธาน สปช.ในวันที่ 21 ต.ค.ว่า คนที่จะเป็นประธานจะต้องมีประสบการณ์พอสมควรในการสามารถดำเนินการประชุม และวางระบบในการทำงานในกรณีที่มีความเห็นที่หลากหลาย และที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือต้องเป็นคนที่มีความรอบรู้พอสมควร เพราะประเด็นปฏิรูปทั้ง 11 ด้านถือว่ากว้างมากหากไม่มีความรอบ เวลาถกเถียงกันก็จะมีปัญหา ประธานก็คงจะไม่สามารถจะรู้ลึกทุกเรื่อง แต่อย่างน้อยต้องสามารถดำเนินการประชุมและสรุปประเด็นต่างๆ ได้บ้างซึ่งไม่ใช่งานง่าย
เมื่อถามว่าจะปฏิรูปอย่างไร โดยเฉพาะเรื่องการเมืองที่จะให้ฝ่ายที่ตอนนี้ไม่ค่อยเห็นด้วยนั้นยอมรับได้ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า คงเป็นไปได้ยากที่จะมีข้อเสนอแล้วทุกคนจะต้องยอมรับ เพราะการปฏิรูปคือการเปลี่ยนแปลงที่ย่อมกระทบโครงสร้างในปัจจุบันไม่มากก็น้อย ดังนั้นความสำคัญจึงอยู่ที่การสร้างความชอบธรรมที่ดีที่สุดที่จะทำได้ แม้โครงสร้างของ สปช.ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่อยู่ที่ผลงานที่ออกมาว่ามีเหตุมีผล แก้ปัญหาตรงจุด เปิดโอกาสให้ฝ่ายต่างๆ ได้แสดงความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวางตามสมควร หากกระบวนการเป็นที่ยอมรับ ข้อเสนอออกมามีเหตุมีผล อาจจะไม่ถูกใจ ก็อย่างน้อยที่สุดก็เป็นภูมิคุ้มกันให้ข้อเสนอนั้นได้รับการยอมรับแล้วก็นำไปสู่การปฏิบัติ แล้วก็นำไปสู่การสานต่อได้