xs
xsm
sm
md
lg

คนรักสัตว์เฮ! สนช.รับหลักการร่าง พ.ร.บ.ป้องกันทารุณสัตว์-แนะนิยามให้ครอบคลุม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สนช.ถกร่าง พ.ร.บ.ป้องกันทารุณกรรมสัตว์ ตั้ง คกก. ปลัด ก.เกษตรฯ นั่ง ปธ. ให้อำนาจ จนท.ค้น เจ้าของปล่อยปละสัตว์มีโทษ สมาชิก สนช.แนะนิยาม “สัตว์” ให้ครอบคลุม ห้ามล่วงละเมิด ให้ กทม.-กรมศุลฯ ร่วม รับต้องมีอบรม ฝากเน้นเรื่องความรับผิดชอบ รมว.เกษตรฯ น้อมรับข้อแนะ ก่อนมีเอกฉันท์ 200 เสียง งด 3 เสียง รับหลักการ รวมถึง กม.สัตว์ที่เกี่ยวข้องด้วย

วันนี้ (10 ต.ค.) ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.... โดยมีหลักการคือ เนื่องจากสัตว์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความรู้สึกและเป็นองค์ประกอบสำคัญของสิ่งแวดล้อม จึงควรได้รับการคุ้มครองมิให้ถูกทารุณกรรม และเจ้าของสัตว์ซึ่งนำสัตว์มาเลี้ยงจะต้องจัดสวัสดิภาพให้เหมาะสมตามประเภทและชนิดของสัตว์ จึงกำหนดหลักเกณฑ์ในการป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ เพื่อให้สัตว์ได้รับการคุ้มครองตามธรรมชาติของสัตว์อย่างเหมาะสม

ทั้งนี้ สาระสำคัญของร่างกฎหมายได้มีการบัญญัติคำนิยามคำว่า “สัตว์” หมายถึงสัตว์เลี้ยงในบ้านเพื่อเป็นสัตว์เลี้ยง สัตว์ใช้งาน สัตว์ใช้เป็นอาหาร หรือสัตว์ เพื่อใช้ในการแสดงเช่น สุนัข แมว โค กระบือ ม้า สุกร เป็ด ไก่ หรือสัตว์ เลี้ยงอื่นๆ ไม่ว่าจะมีเจ้าของหรือไม่ก็ตาม แต่ไม่รวมถึงสัตว์ป่าตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองสัตว์ป่า สัตว์น้ำตามกฎหมายการประมง และสัตว์อื่นตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยเห็นชอบตามคณะกรรมการ

ส่วนการทารุณกรรม หมายถึง การกระทำ หรือการงดเว้นกระทำใดๆที่ทำให้สัตว์ได้รับความทรมาน ความเจ็บปวด ทุพพลภาพ หรือมีผลทำให้สัตว์ตาย ส่วน “เจ้าของ” หมายถึงเจ้าของกรรมสิทธิ์ และให้หมายรวมถึงผู้ครอบครองสัตว์ด้วย

นอกจากนี้ยังมีการตั้งคณะกรรมการป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ ซึ่งประกอบด้วย ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน ร่วมกับข้าราชการระดับสูงในหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และให้อำนาจเจ้าพนักงานเข้าไปตรวจค้น หรือตรวจสอบกรณีได้รับการร้องเรียนว่ามีการทารุณสัตว์และดำเนินการกับสัตว์ได้ตามที่กฎหมายกำหนด

ทั้งนี้ เจ้าของสัตว์ต้องจัดสวัสดิการให้แก่สัตว์ที่เลี้ยงอย่างเหมาะสม ห้ามปล่อย ละทิ้ง กระทำการใดๆ ให้สัตว์พ้นจากการดูแลของตนโดยไม่มีเหตุจำเป็น ไม่ให้มีการกระทำทารุณสัตว์โดยไม่มีเหตุอันควร หากฝ่าฝืนติดคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากไม่ทำตามหลักเกณฑ์ตามที่รัฐมนตรีประกาศปรับไม่เกินสองหมื่น หากขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ปรับไม่เกินหมื่นบาท

อย่างไรก็ตาม สมาชิกได้อภิปรายสนับสนุนและแสดงความเห็นอย่างกว้างขวาง เช่น ควรมีการรวมคำนิยาม “สัตว์” ควรครอบคลุมให้กว้างที่สุด เช่น สัตว์น้ำ สัตว์ป่าด้วย เพราะปัจจุบันมีปัญหาเกี่ยวกับการนำสัตว์ป่ามาเลี้ยง หรือสัตว์น้ำในตู้ปลา หรือสวนอาหาร โดยไม่ดูแล ทิ้งขว้าง และทารุณกรรมควรได้รับการดูแลด้วย นอกจากนี้ควรให้หน่วยงาน กทม.ร่วมเป็นคณะกรรมการด้วย เพราะเกิดปัญหาการทารุณสัตว์ในพื้นที่ กทม.จำนวนมาก โดยเฉพะช้างเร่ร่อน หรือสุนัขจรจัด รวมถึงกรมศุลกากรที่ควรเข้ามาดูแลเพราะมีการลักลอบค้าขายผ่านสุนัขไปยังประเทศต่างๆ เพื่อเป็นอาหาร ถือว่าไม่มีเหตุสมควรเช่นกัน ควรใส่ข้อห้ามกระทำการทารุณทางเพศต่อสัตว์ไว้ในร่างกฎหมายด้วย เพราะหลายประเทศเช่น ฝรั่งเศส ก็มีการกำหนดเป็นความผิดอาญาถึงขั้นติดคุก และปรับ

นางพิไรพรรณ สมบัติสิริ สมาชิก สนช.อภิปรายว่า ตนเห็นด้วยต่อหลักการ แต่ต้องคิดถึงความสอดคล้องกับวัฒนธรรมไทยด้วย เช่น รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี เมื่อมีการนำสัตว์มาเลี้ยงในบ้านก็ควรมีการอบรม มิเช่นนั้นจะเป็นอันตรายต่อมนุษย์และทรัพย์สินได้ เช่น ช้างที่ต้องใช้ภูมิปัญหาไทยด้วยพิธีกรรมผ่าจ้าน ก็ไม่ควรเข้าข่ายเป็นการทารุณสัตว์ ส่วนผู้รักษากฎหมายก็ต้องเข้มงวดและควรระบุโทษให้หนักมากกว่านี้

นายมณเทียร บุญตัน สมาชิก สนช.กล่าวสนับสนุนว่า เป็นโอกาสดีที่สังคมไทยจะได้มีความเมตตาต่อสัตว์ แต่ควรเน้นเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม ด้วย เช่นมีการนำสุนัข หรือแมวไปปล่อยตามวัด หรือข้างถนน ก่อความเดือดร้อนแก่ประชาชนทั่วไป จึงต้องแยกแยะเรื่องความเมตตาตามอารมณ์ระยะสั้นกับความรับผิดชอบในระยะยาว

ด้านนายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์ ชี้แจงว่า การกำหนดนิยาม “สัตว์เลี้ยงอื่นๆ” สามารถเปิดกว้าง ให้รัฐมนตรีที่รักษาการณ์ตามกฎหมายประกาศเพิ่มเติมได้ตามมติคณะกรรมการ อย่างไรก็ตาม ตนยินดีรับข้อเสนอแนะต่างๆ ของสมาชิกไปเพิ่มเติมในชั้นกรรมาธิการต่อไป

จากนั้นที่ประชุมได้ลงมติรับหลักการวาระแรกร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวด้วยคะแนนเสียงเอกฉันท์ 200 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาจำนวน 15 คน กำหนดแปรญัตติภายใน 7 วัน ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้รับหลักการ ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ.. ร่าง พ.ร.บ.สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ พ.ศ... ร่าง พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.. และร่าง พ.ร.บ.สถานพยาบาลสัตว์ พ.ศ...ร่ าง พ.ร.บ.ซึ่งเป็นร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ด้วย










กำลังโหลดความคิดเห็น