กกต. เผย คสช. สั่งจัดทำประวัติผู้เสนอชื่อเป็น สปช. ทั้งหมดให้พิจารณาด่วน หวังเอาคนที่ไม่ได้รับการคัดเลือกเป็น สปช. ให้เข้ามาทำงานปฏิรูปประเทศ ยืนยัน 250 คนที่ได้รับคัดเลือกเหมาะสม ไม่มีคุณสมบัติต้องห้าม แต่ไม่เปิดเผยรายชื่อทั้ง 250 คนมาจากด้านใด อีกด้านเตรียมข้อมูลพิจารณาแก้ไขกฎหมายที่ กกต. ใช้อยู่ พร้อมสนับสนุนข้อมูลหากมีการพิจารณายกร่างรัฐธรรมนูญ
วันนี้ (7 ต.ค.) นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงว่า ตามที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จำนวน 250 คน ที่มีการประกาศลงในพระราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 6 ต.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งจำนวน สปช. ทั้ง 250 คนนี้ ที่คณะรักษาความความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้คัดเลือกตั้งจากรายชื่อผู้ที่เสนอเข้ารับการคัดเลือกเป็น สปช. ทั้งหมด 7,370 คน แบ่งเป็น 11 ด้าน 4,585 คน และระดับจังหวัด 2,785 คน
อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ได้เคยแถลงว่ากรณีที่บุคคลที่ไม่ได้รับการคัดเลือกเป็น สปช. ที่เหลือนั้น รัฐบาลมีนโยบายที่จะนำเอาคนที่ไม่ได้รับการคัดเลือกแต่มีความประสงค์ที่ช่วยเหลือในการปฏิรูปประเทศชาติให้เข้ามาทำงาน โดย คสช. ไปประสานมายังสำนักงาน กกต. ว่าให้จัดทำประวัติและรายละเอียดของผู้ที่เสนอชื่อมาเป็น สปช. ทั้งหมดให้ คสช. พิจารณาโดยด่วน ซึ่งทางสำนักงาน กกต. คาดว่าจะส่งประวัติดังกล่าวได้ไม่เกินวันศุกร์ที่ 10 ต.ค. นี้ หรือเร็วกกว่านั้น เพื่อให้ คสช. ไปพิจารณาคัดเลือกอีกครั้ง แต่รัฐบาลยังไม่ได้บอกรายละเอียดว่าจะให้รายชื่อที่เหลือนี้ไปอยู่ตรงส่วนไหนของการปฏิรูป แต่เชื่อว่าน่าจะเป็นส่วนที่มีประโยชน์กับบ้านเมือง
“สำหรับ สปช. 250 คน ที่ คสช. คัดเลือกนั้นล้วนแล้วแต่เป็นผู้มีความสามารถ และไม่มีคุณสมบัติต้องห้ามที่อาจนำไปสู่การฟ้องร้องเรื่องความเหมาะสมแต่อย่างใด ส่วนการเปิดเผยราละเอียด สปช. 250 คน ว่ามาจากด้านใด รวมทั้งผู้ที่ไม่ได้รับการคัดเลือกจากการคัดเลือกของคณะกรรมการสรรหา สปช. สำนักงาน กกต. ในฐานะฝ่ายธุรการไม่สามารถเปิดเผยได้ ขึ้นอยู่กับ คสช.” เลขาธิการ กกต. กล่าว
นายภุชงค์ กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่มีคำถามว่าหลังจากนี้ กกต. จะทำหน้าที่อะไรในระหว่างที่ยังไม่มีการเลือกตั้ง ซึ่งขณะนี้เราได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงแก้ไขข้อกฎหมายที่อยู่ในการบังคับใช้ของ กกต. เช่น กฎหมายเลือกตั้งทั้งระดับชาติและท้องถิ่น รวมทั้งกฎหมายเกี่ยวกับพรรคการเมือง รวมทั้งยังมีการพิจารณาข้อบกพร่องในการดำเนินงานของ กกต. ช่วงผ่านมา และการพัฒนาบทบาทหน้าที่ของ กกต. ในการปกครองระบอบประชาธิปไตย ซึ่ง กกต. ได้เตรียมความพร้อมไว้เพื่อที่จะนำเสนอข้อมูลดังกล่าว หากมีการพิจารณายกร่างร่างรัฐธรรมนูญ กกต. ก็พร้อมสนับสนุนข้อมูลอย่างเต็มที่