อดีต ส.ส.กทม.ประชาธิปัตย์ ชี้แนวคิด สศค.จ่ายภาษีให้คนจนไอเดียดี แต่ควรเร่งออก พ.ร.บ.วินัยคลังก่อน จำกัดเพดานนโยบายประชานิยม ชี้ชาวนาส่อแห้ว แนะป้องกันการแจ้งเท็จ
วันนี้ (8 ส.ค.) นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีต ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงแนวคิดของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ที่เสนอผลงานการวิจัยแนวคิดการจ่ายภาษีให้คนจนให้รัฐบาลนำไปพิจารณาเห็นชอบ โดยระบุเป็นการช่วยเหลือและกระจายรายได้ให้ผู้มีรายได้น้อยว่า แจกเงินคนรายได้ต่ำกว่า 8 หมื่นต่อปีเป็นไอเดียดีแต่ขอให้เร่งออก พ.ร.บ.วินัยทางการคลังภาครัฐ มาใช้ก่อนเพราะไม่เช่นนั้นนโยบายนี้ก็แค่ประชานิยมเดิมๆ
นายอรรถวิชช์กล่าวว่า ถ้าคิดปฏิรูปประชานิยมของพรรคการเมือง ควรออกกฎหมายเพื่อจำกัดเพดานนโยบายประชานิยมที่มีผลผูกพันรัฐบาลชุดต่อๆไปก่อน นโยบายแจกเงินของคสช.มีหลักอยู่ว่า 1. ปัจจุบัน คนรายได้ตั้งแต่ 3 หมื่นต่อปีต้องยื่นแบบเสียภาษี (แค่ยื่นเท่านั้น) ถ้าเสียจริงรายได้ต้องเกิน 150,000 บาท 2. ของใหม่จะให้ยื่นแบบตั้งแต่ บาทแรก คือใครมีรายได้ต้องยื่นหมด 3. “แจกเงิน” คนรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่น แจกเงินให้ 20% ของยอดรายได้ 3 หมื่นที่แจ้งสรรพากร ส่วนยอดรายได้ 3-8 หมื่นแจกเงินให้ 12% เช่น ปีนี้เรามีรายได้ 3 หมื่นจะได้ “เงินแจก 6 พัน”
นายอรรถวิชช์กล่าวว่า ตนเข้าใจว่า คสช.คงต้องการเพิ่มฐานภาษี คือให้ทุกคนมีหน้าที่แสดงรายการเสียภาษีทั้งหมดซึ่งจะทำให้รู้ว่า “คนจน คือใคร” มีข้อดีคือ นโยบายที่จะช่วยคนจนในอนาคตจะได้ไม่ผิดตัว ช่วยได้ถูกคน ผมขอให้คำนึงเพิ่มเติมดังนี้ 1. ปกติอาชีพชาวนาไม่เสียภาษี ไม่อยู่ในฐานภาษี ชาวนาอาจไม่เข้าข่ายได้เงินแจก สมัย ปชป.เคยทำนโยบายข้าวเรื่อง “ประกันรายได้” ลองพิจารณาดู ถ้าไม่เอาประกันรายได้ก็ต้องให้ชาวนาได้ประโยชน์จากนโยบายนี้ด้วย 2. ควรมีมาตรการป้องกันคนแจ้งเท็จว่ามีรายได้ต่ำกว่า 8 หมื่นต่อปีเพื่อรับเงินแจก
3. ก่อนใช้นโยบายแจกเงินนี้ ควรออก พ.ร.บ.วินัยทางการคลังภาครัฐก่อน ถ้าไม่กำหนดเพดานก่อน นโยบายนี้ก็คือประชานิยมทั่วไปนั่นเอง เพราะโครงการนี้ของ คสช.จะผูกพันงบประมาณไม่ต่ำกว่าปีละ 5 หมื่นล้านบาทแน่นอน