โฆษก คสช.เผยที่ประชุม คสช.ไม่ได้นำร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวหารือ รอผู้บริหารพิจารณา ยัน “ประยุทธ์” แจงเอง ยันเป็นไปตามโรดแมประยะที่ 2 เดือนนี้ สั่งดำเนินการปรับปรุงกฎหมายที่ทำประชาชนเดือดร้อน-กระทบเศรษฐกิจระยะเร่งด่วน แต่ถ้าไม่เร่งด่วนค่อยแก้ไขหลังมี สนช.
วันนี้ (8 ก.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 15.45 น. พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก ในฐานะทีมโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะหัวหน้า คสช.ไม่ได้นำร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับชั่วคราว หารือที่ประชุม คสช.เพื่อขับเคลื่อนการบริหารราชการแผ่นดิน ครั้งที่ 5/2557 เป็นการประชุมหารือตามวาระเกี่ยวกับงานด้านเศรษฐกิจ ส่วนเรื่องการเมือง การปกครองจะไม่ได้อยู่ในกรอบการประชุมลักษณะนี้
เมื่อถามว่า ความชัดเจนรัฐธรรมนูญชั่วคราวได้เมื่อไร พ.อ.วินธัยกล่าวว่า เป็นเรื่องผู้บริหาร คสช.พิจารณา เมื่อถามว่า หัวหน้า คสช.เป็นผู้ชี้แจงเรื่องร่างธรรมนูญชั่วคราวเพียงคนเดียวใช่หรือไม่ พ.อ.วินธัยตอบว่า ถ้าเป็นเรื่องการเมือง การปกครอง หัวหน้า คสช.จะเป็นผู้ชี้แจงเอง เมื่อถามว่ายืนยันว่าเป็นช่วงเดือนกรกฎาคมหรือไม่ พ.อ.วินธัยกล่าวว่า เป็นไปตามที่หัวหน้า คสช.ระบุว่า ในระยะที่ 2 คือภายในเดือนกรกฎาคม
เมื่อถามว่า ในที่ประชุม พล.อ.ประยุทธ์ได้สั่งฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมพิจารณาปรับปรุงกฎหมายที่ยังคั่งค้าง ที่ไม่ทันสมัย หรือมีผลผูกพันกับหน่วยงานหรือไม่ พ.อ.วินธัยกล่าวว่า หัวหน้า คสช.สั่งดำเนินการปรับปรุงกฎหมาย โดยเฉพาะที่ส่งผลกระทบต่อความเดือดร้อนของประชาชน หรือกระทบในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะเร่งด่วน โดยสั่งให้ทำทันที แต่หากไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนอะไรมากก็ไปแก้ไขในระยะ 2 หลังมีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้ว
ส่วนเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน หลังเกิดเหตุการณ์ที่เด็กหญิงวัย 13 ปีที่ถูกฆาตกรรมขณะโดยสารรถไฟนั้น พ.อ.วินธัยกล่าวว่า ไม่ได้มีการหยิบยกขึ้นมาพูดคุยในที่ประชุม แต่ยืนยันว่าหัวหน้า คสช.เป็นห่วงในเรื่องที่เกิดขึ้น ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และทหาร ในพื้นที่รับผิดชอบ
“หัวหน้า คสช.รู้สึกเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมกำชับเจ้าหน้าที่ให้เร่งดำเนินการกับคนกระทำความผิดโดยเร็ว และให้ทุกหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องความปลอดภัย หามาตราการมาเสริมเพื่อไม่ให้เกิดเหตุในลักษณะนี้ได้อีก และทางกรมคุ้มครองสิทธฯ จะลงพื้นที่ไปแจ้งสิทธิและให้การช่วยเหลือตามสิทธิที่ควรได้รับต่อไป” พ.อ.วินธัยระบุ
ขณะเดียวกัน พ.อ.วินธัย กล่าวว่า ในการประชุม คสช. พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงความคล่องตัวทำธุรกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน ตามกรอบความร่วมมืออาเซียนว่าด้วยมาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทย บริเวณด่านสะเดา จ.สงขลา ค่อนข้างมีความหนาแน่น ซึ่งประชาชนระหว่าง 2 ประเทศมาใช้บริการ ส่งผลติดหลายกิโลเมตร โดยมอบหมายให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) อำนวยการให้การเดินทางเกิดความสะดวกมากที่สุด ส่วนในระดับนโยบายมอบหมายให้สภาพัฒน์ฯ ไปดูในเรื่อของนโยบายต่อไป แต่ยังไม่มีการพูดถึงการแก้ไขปัญหาการลักลอบนำสินค้าหนีภาษี น้ำมันเถื่อนผ่านด่านสะเดาเข้าประเทศไทย
ขณะที่นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) กล่าวว่า ที่ประชุมมอบหมายให้ สภาพัฒน์จัดทำแผนพัฒนาด่านชายแดนทั้ง 94 ด่านทั่วประเทศ ใน 31 จังหวัด โดยเฉพาะ 5 ด่านที่สำคัญ ประกอบด้วย ด่านสะเดา ด่านปาดังเบซาร์ ด่านแม่สอด ด่านอรัญประเทศ และด่านคลองใหญ่ เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงในภูมิภาคอาเซียน และการผลิตสินค้า โดยใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานของไทย เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ทั้งนี้ หัวหน้า คสช.ได้แสดงความเป็นห่วงเรื่องของเศรษฐกิจ โดยทางสภาพัฒน์ได้รายงานว่าการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค.เป็นต้นมา ความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจ และการลงทุนดีขึ้นตามลำดับ
“เชื่อว่าตั้งแต่ในไตรมาส 2 ตัวเลขเศรษฐกิจตลอดทั้งปีน่าจะเป็นบวกอยู่ที่ร้อยละ 1.5 -2.5 แต่ก็ขึ้นอยู่กับการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2558 ซึ่งสำนักงบประมาณ ยืนยันว่าจะเร่งเบิกจ่ายได้ตามกำหนดเวลา 1 ตุลาคมนี้แน่นอน ขณะเดียวกัน ที่ประชุมยังให้ความสำคัญ กับการส่งออก โดยสภาพัฒน์ฯคาดว่าจะขยายตัวได้ถึงร้อยละ 3.7 โดยเฉพาะการส่งออกข้าวในปีนี้ ไทยน่าจะกลับมาเป็นอันดับ 1 ของโลก โดยสามารถส่งออกได้ถึง 10 ล้านตัน”
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้ย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมการรองรับเข้าสู่ช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว โดยเน้นย้ำเรื่องของความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์ ของนักท่องเที่ยว มาเป็นอันดับหนึ่ง
ทางด้าน น.ส.ชุติมา บุญยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ แถลงว่า ที่ประชุมเห็นชอบ กรอบความตกลง 4 ฉบับ ประกอบการลงนามความตกลงการค้าบริการ การลงทุนระหว่างอาเซียน กับประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นการทำงานต่อเนื่องตั้งแต่ปี ค.ศ. 2010 ลงนาม 24-26 ส.ค.นี้ โดยมีสาระสำคัญ คือการเปิดให้อินเดียมาลงทุน และได้รับการคุ้มครอง ส่วนการบริการจะเปิดเสรีระหว่างกัน ในส่วนของประเทศไทย 80 สาขาบริการ และถือหุ้นได้ร้อยละ 49 เช่น การบริการการจัดจำหน่ายเวชภัณฑ์ การศึกษาระดับอุดมศึกษา พร้อมเห็นชอบพิธีสาร แนบท้ายความตกลงการค้าเสรี ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ ซึ่งจะลงนามในช่วงการประชุมรัฐมนตรีเศรฐกิจอาเซียน ที่กรุงเนปิดอร์ ประเทศพม่า
ทั้งนี้ ก่อนเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ปรับการเปิดเสรีธุรกิจประเภทการบริการระหว่างไทย กับอาเซียน อีก 24 สาขาบริการจากเดิม 80 สาขาบริการ และต้องทำตามข้อตกลง ให้ได้ 126 สาขาบริการ รายการเปิดเพิ่มให้ประเทศเศรษฐกิจอาเซียน สามารถเข้ามาถือหุ้นได้ร้อยละ 70
นอกจากนี้ ยังเห็นชอบความตกลงว่าด้วยการยอมรับร่วมกันรองรับในวิชาชีพบัญชี ก่อนเปิดการตั้งเศรษฐกิจระหว่างกัน เพื่อให้อาชีพเหล่านี้จะไปประกอบอาชีพในประเทศอาเซียนสามารถทำได้ โดยการพิจารณาทั้งหมด เนื่องจากไทยกับอาเซียนมีการค้าร่วมกันกว่าร้อยละ 25 เชื่อว่าหากรวมพลังกับอาเซียนจะสามารถผลักดันประเทศต่างๆ ให้เปิดตลาดกับไทยและอาเซียนได้ดีขึ้น