รายงานการเมือง
เหตุสะเทือนใจคนไทยทั้งชาติจากกรณีไอ้หื่นจอมโหด “วันชัย แสงขาว” สัตว์นรกในคราบมนุษย์ ข่มขืน “น้องแก้ม” บนขบวนรถไฟตู้นอนเที่ยว 174 ตู้ 3 สุราษฎร์ธานี-กรุงเทพฯ และโยนเหยื่อทิ้งทั้งที่ยังมีชีวิต จนกลายเป็นร่างที่ไร้วิญญาณอยู่ริมทางรถไฟ
กลายเป็นโศกนาฏกรรมครั้งรุนแรงที่สุดในรอบ 117 ปีของการรถไฟไทย ทำให้คนจำนวนมากถามหาความรับผิดชอบจาก ประภัสร์ จงสงวนผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย
ไม่ใช่เพียงแค่เหตุเกิดบนรถไฟที่อยู่ในกำกับดูแลของประภัสร์เท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องจรรยาบรรณและคุณธรรมของตัวผู้บริหารที่ให้ข้อมูลบิดเบือนกับสังคมด้วยการโยน “เผือกร้อน” ออกจากตัวอ้างว่า
ผู้ก่อเหตุไม่ใช่เจ้าหน้าที่การรถไฟฯ แต่เป็นพนักงานของบริษัทเช่าช่วงที่มารับงานจากการรถไฟฯ ซึ่งถูกจับได้ทันควันว่า “โกหก” โดยมีการนำหลักฐานการประกาศผลการคัดเลือกเป็นลูกจ้างเฉพาะงานของกองโดยสารฝ่ายการเดินรถการรถไฟฯ โดยมีชื่อ วันชัย แสงขาว อยู่ในรายชื่อลำดับที่ 43 มัดอย่างดิ้นไม่หลุดว่า
ฆาตกรอำมหิตรายนี้คือ เจ้าหน้าที่ของการรถไฟฯ ไม่ใช่บริษัทที่มารับงานจากการรถไฟฯ
ความจริง ประภัสร์ ควรเป็นชื่อแรกๆ ที่ คสช. ย้ายออกจากตำแหน่ง เพราะประวัติชัดเจนว่าแดงแจ๋ รับใช้ระบอบทักษิณมาอย่างยาวนานโดยมีสายสัมพันธ์แนบแน่นกับ อุกฤษ มงคลนาวิน ที่ยังปวารณาตนเป็นลิ่วล้อทักษิณแม้จะแก่เฒ่ามากแล้ว
ประภัสร์เริ่มชีวิตการทำงานในเมืองไทยที่สำนักกฎหมายของอุกฤษ กระทั่งมีโอกาสได้เข้าทำงานในการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ตามคำชวนของ จุลสิงห์ วสันตสิงห์ อดีตอัยการสูงสุด ที่มีผลงานยอดเยี่ยมในการตัดตอนคดีของ “ตระกูลชิน” ตั้งแต่การไม่ยื่นฎีกาคดีเลี่ยงภาษีกว่า 500 ล้านของ “คุณหญิงพจมาน” จนทำให้คดีสิ้นสุด ไม่ฟ้อง “พานทองแท้ ชินวัตร” คดีทุจริตปล่อยกู้แบงก์กรุงไทยกว่า 9 พันล้านบาท และมีผลงานทิ้งทวนก่อนเกษียณด้วยการสั่งไม่ฟ้อง “ทักษิณ ชินวัตร” ในข้อหาก่อการร้าย
ประภัสร์เจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานขึ้นชั้นเป็น ผู้ว่าการ รฟม. เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2540 ในรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ซึ่งมีทักษิณ เป็นรองนายกฯ และกินตำแหน่งนี้ยาวนานจนถึงปี 2551 ก็ผันตัวเองออกมาสวมเสื้อพลังประชาชน พรรคการเมืองของทักษิณ ลงสมัคร ผู้ว่าฯ กทม. แต่พ่ายแพ้ให้แก่ อภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์
นับจากนั้นมาก็ชัดเจนว่า ประภัสร์คือหนึ่งในคนที่ทักษิณสั่งได้ โดยกลับมารุ่งเรืองอีกครั้งในยุคที่ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” เป็นนายกรัฐมนตรี ได้รับการโปรโมตให้เป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ก่อนที่จะลาออกไปลงสมัครเป็นผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย และได้รับการแต่งตั้งจาก ครม. ยิ่งลักษณ์ เมื่อวันที่ 12 พ.ย. 2555 จนถึงปัจจุบัน
ที่น่าสนใจคือ การเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าการการรถไฟฯ ของประภัสร์ ถูกแฉโดย นคร มาฉิม อดีต ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ว่า มีการทำผิดกฎหมายการรถไฟฯ มาตรา 37 และกฎหมายคุณสมบัติพนักงานรัฐวิสาหกิจ เนื่องจากประภัสร์ขาดคุณสมบัติ เพราะเคยดำรงตำแหน่งทางการเมือง และยังไม่ใช่ผู้บริหารองค์กรที่มีรายได้ไม่ต่ำกว่า 5 พันล้านบาทตามที่กำหนดไว้ด้วย
เนื่องจากผลงานการบริหาร รฟม. พบว่า ในปี 2551 มีรายได้เพียงแค่ 529 ล้านบาทเท่านั้น พร้อมกับตั้งข้อสังเกตว่า การตั้งประภัสร์เป็นผู้ว่าการการรถไฟฯ เพื่อให้มารับงานพัฒนาพื้นที่การรถไฟฯมูลค่า 1.5 แสนล้านบาท และแผนพัฒนาพื้นที่มักกะสันอีก 3 แสนล้านบาท
นอกจากนี้ ประภัสร์ยังเป็นคนที่มีบทบาทอย่างยิ่งในการผลักดันกฎหมายกู้เงิน 2 ล้านล้าน ลากคนไทยเป็นหนี้นานครึ่งศตวรรษ โดยถือได้ว่าเป็นลูกคู่คนสำคัญของชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีต รมว.คมนาคม ผู้แข็งแกร่งที่สุดในสามโลก แต่เข่าอ่อนในวันที พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศยึดอำนาจ
ประภัสร์ร่วมเป็นกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. เงินกู้สองล้านล้าน มีบทบาทสำคัญมากกว่ารัฐมนตรีหลายคนใน ครม. ยิ่งลักษณ์ ถึงขนาดชัชชาติตอบไม่ได้ก็จะเรียกหาประภัสร์ให้เป็นคนชี้แจงแทน
ในวันที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พ.ร.บ. สร้างหนี้ขัดรัฐธรรมนูญ ประภัสร์ เป็นหนึ่งในขี้ข้าของยิ่งลักษณ์ที่ออกมากล่าวโทษศาลรัฐธรรมนูญว่าทำให้การพัฒนาระบบรางต้องล่าช้าออกไปอีก 20 ปี เพราะการพัฒนาต้องใช้เงินกู้ด้วยกฎหมายพิเศษไม่สามารถทำได้อย่างรวดเร็วจากระบบงบประมาณปกติ
เมื่อมีการยึดอำนาจ คสช. ตั้งคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ หรือ คตร. มี พล.ท.อนันตพร กาญจนรัตน์ ปลัดบัญชีกองทัพบก เป็นประธาน มีการพิจารณาทบทวน 10 โครงการในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ก่อนจะมีมติยกเลิกโครงการบูรณะหัวรถจักรดีเซล ของการรถไฟฯ วงเงิน 3,300 ล้านบาท เนื่องจากไม่คุ้มค่ากับงบประมาณ และให้นำเงินส่วนนี้ไปซื้อหัวรถจักรใหม่แต่ให้ปรับลดวงเงินลง
หลายคนเก็งว่า ประภัสร์ น่าจะถูกเด้ง เพราะการสั่งยกเลิกโครงการของการรถไฟฯ น่าจะมีกลิ่นไม่ดีเกี่ยวกับการแสวงหาผลประโยชน์รวมอยู่ด้วยแต่เขาก็ “หนังเหนียว” นั่งในตำแหน่งนี้ได้ตามปกติ
ยิ่งเมื่อตรวจสอบลึกลงไป กลับพบว่าประภัสร์มีความคิดที่จะยกเลิกการซ่อมหัวรถจักรเพื่อจัดซื้อใหม่อยู่แล้ว มติ คตร. จึงไม่มีอะไรพลิกโผที่ประภัสร์วางแผนไว้ ไม่แตกต่างจากการยกเลิกซื้อแท็บเล็ต เพราะกระทรวงศึกษาในยุคจาตุรนต์ ฉายแสง เป็น รมว. ก็ตั้งท่าจะโละทิ้งเปลี่ยนมาทำโครงการสมาร์ทคลาสรูม หรือห้องเรียนอัจฉริยะอยู่แล้ว และขณะนี้ คสช. ก็กำลังพิจารณาโครงการนี้เช่นเดียวกัน
การเก็บประภัสร์ไว้ในตำแหน่งผู้ว่าการการรถไฟฯ จึงทำให้ถูกตั้งข้อสงสัยว่าเพื่อให้เดินหน้าต่อในการพัฒนาระบบรางที่จะมีการจัดสรรงบประมาณรองรับหลายแสนล้านบาทตามแผนเดิมของรัฐบาลยิ่งลักษณ์หรือไม่ เพราะแม้ว่า คสช. จะไม่กล้าสวนกระแสเดินหน้ารถไฟความเร็วสูง แต่สิ่งที่จะผลักดันอย่างแน่นอนคือ ยุทธศาสตร์ด้านคมนาคมวงเงิน 2.4 ล้านล้านบาท โดยหลายแสนล้านบาทในงบก้อนนี้คือการพัฒนาระบบรางในความรับผิดชอบของการรถไฟฯ
หากไม่มีลับลมคมในก็ไม่มีเหตุผลใดที่จะไม่ย้าย ประภัสร์ ออกจากตำแหน่ง เพราะนอกจากเป็นขี้ข้าตัวจริงของทักษิณแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงความไร้ซึ่งมโนธรรมอย่างยิ่งจากกรณีโกหกสังคมในเรื่องฆาตกรใจทราม ว่าไม่ใช่คนของการรถไฟฯ อีกด้วย