ผู้ตรวจฯถกช่วยเหลือ “วีระ” จากคุกกัมพูชา ชี้ยังเหลือ 2 ช่องทาง ทั้งขอลดโทษและอภัยโทษ แต่ที่ประชุมเห็นควรเสนอ ก.ต่างประเทศ ใช้ช่องทางการทูตช่วย ส่วนจะขอความช่วยเหลือจาก คสช. หรือไม่ ขึ้นอยู่ดุลพินิจของ ก.ต่างประเทศ
วันนี้ (17 มิ.ย.) นายรักษเกชา แฉ่ฉาย รองเลขาธิการและโฆษกสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นประธานการประชุมหารือการช่วยเหลือ นายวีระ สมความคิด ที่ถูกคุมขังในเรือนจำเปรยซอร์ ประเทศกัมพูชา โดยมี นางพิศอำไพ สมความคิด ภรรยา นายวีระ ผู้ร้องเรียน นายปรีชา สมความคิด น้องชายนายวีระ และตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น เครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน กลุ่มพิทักษ์สิทธิเสรีภาพของประชาชน สำนักงานคุ้มครองสิทธิมนุษยชน สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กองคุ้มครองและดูและผลประโยชน์คนไทยในต่างแดนกระทรวงการต่างประเทศ กรมราชทัณฑ์ เข้าร่วมหารือ ภายหลังการหารือ นายรักษเกชา กล่าวว่า ได้รับทราบความคืบหน้าการดำเนินการช่วยเหลือนายวีระ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ยังติดขัดอุปสรรคปัญหา เช่น กรมราชทัณฑ์เคยขอโอนตัวมารับโทษในไทย แต่ติดเงื่อนไขของกัมพูชา เพราะการโอนตัวจะทำไม่ได้ใน 3 กรณีคือ ถ้าต้องโทษเป็นภัยความมั่นคงของประเทศ คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ คดีค้าสินค้าวัตถุโบราณ ซึ่งนายวีระติดโทษเป็นภัยต่อความมั่นคง ดังนั้น การขอตัวมารับโทษต่อที่เมืองไทยจะทำไม่ได้เลย
ทั้งนี้ ยังมีอีก 2 ช่องทางที่จะช่วยเหลือ คือ ขอลดโทษในช่วงเทศกาลบูชาประทีป ซึ่งตรงกับเทศกาลลอยกระทงของไทย โดยอาจจะได้ลดโทษประมาณ 9 เดือน หรือ 1 ปี ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของกัมพูชา อีกช่องทางหนึ่ง คือ ขอพระราชทานอภัยโทษ จะทำให้พ้นโทษทันที แต่ต้องรับโทษ 2 ใน 3 หรือรับโทษ 5 ปี ก่อน ซึ่งโทษนายวีระคือ 8 ปี อย่างไรก็ตาม นักโทษสามารถขอรับการพระราชทานอภัยโทษเองได้ โดยยื่นผ่านผู้บัญชาการเรือนจำ ส่งไปกระทรวงมหาดไทย กระทรวงยุติธรรม ส่งเรื่องถึงนายกฯเพื่อทำเรื่องพระราชทานอภัยโทษ
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมสนับสนุนกลไกกฎหมายให้ขอความช่วยเหลือกัมพูชา แต่จะไม่ก้าวล่วงหรือละเมิดกฎหมายกัมพูชา พยายามใช้สิทธิตามช่องทาง หลังจากนี้ ผู้ตรวจฯจะทำหนังสือถึงกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อจะประสานผ่านช่องทางการทูตเพื่อให้ช่วยเหลือนายวีระต่อไป ส่วนจะขอความช่วยเหลือจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่ดุลพินิจของกระทรวงการต่างประเทศ
ด้าน นายปรีชา สมความคิด น้องชายนายวีระ กล่าวว่า จากที่ญาติเข้าเยี่ยมนายวีระ พบว่า นายวีระพยายามปรับตัว ทั้งจิตใจและแนวความคิด เพื่อไม่ให้เกิดการกระทบกระทั่งกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อีกทั้ง นายวีระ ก็เข้าใจเรื่องราวที่ผ่านมา และเรายอมรับกระบวนการยุติธรรมของทางกัมพูชา โดยจะเห็นได้ว่าเราหลีกเลี่ยงการยื่นอุทธรณ์ เพราะเกรงว่าจะทำให้เกิดปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และการช่วยเหลือนายวีระ ญาติก็พยายามดำเนินการให้ดีที่สุด โดยการประสานหน่วยงานต่างๆ ในการช่วยเหลือ ซึ่งเราก็ยังมีความหวังอยู่