ทีมงาน คสช.แจง “บิ๊กตู่” ห้ามจุ้นปฏิบัติราชการ มอบแค่นโยบาย ใช้อัยการศึกเท่าที่จำเป็น ใช้ทหารเป็นแบบโยกย้าย ขยายศูนย์เรียนรู้ ศก.พอเพียง เน้น จชต.ทำงานมีเอกภาพ นำร่องศูนย์ปรองดอง เผยผลถก คตร.แบ่ง 4 คณะอนุ กก. ยกเป็นหน่วยจู่โจมพิเศษสอบโกง นัดแจงจัดการน้ำ-แท็บเล็ตพุธหน้า คาด 1 สัปดาห์รู้ผลคุมตัว บก.ลายจุด รับป่วนต่างจาก “อ๋อย” พร้อมแจงเรื่องจริง ปชช. โต้ “อีเพ็ญ” ชง ตปท.อย่าหนุน
วันนี้ (6 มิ.ย.) ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล รอ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ คณะทำงานทีมโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แถลงผลการประชุม 3 ฝ่าย ประกอบด้วย ฝ่ายกิจการพิเศษ หน่วยราชการที่ขึ้นตรงต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะหัวหน้า คสช. และฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เมื่อวันที่ 5 มิ.ย.ที่ผ่านมาว่า ส่วนแรกฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม หัวหน้า คสช.ได้เน้นย้ำว่า คสช.จะไม่เข้าไปก้าวก่ายการปฏิบัติราชการ เพียงแต่มอบนโยบายให้ โดยเฉพาะเรื่องกฎหมายที่จะมีผลกระทบในวงกว้าง เรื่องที่จะกระทบต่อโครงสร้างหน่วยงาน ส่วนเรื่องค่าตอบแทนนั้นให้ไปดำเนินการในระยะที่ 2 ของการปฏิรูป สำหรับเรื่องที่จะกระทบต่อโครงสร้างขนาดใหญ่ให้ดำเนินการเมื่อมีการตั้งรัฐบาลใหม่ เรื่องที่มีผลต่อการค้าการลงทุน มีผลต่อความเป็นอยู่ของประชาชนโดยตรง รวมถึงเรื่องที่คั่งค้างในกระบวนการยุติธรรม ให้ดำเนินการโดยเร่งด่วน
ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความสงบสุขในบ้านเมือง หัวหน้า คสช.ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมบังคับใช้กฎหมายปกติเป็นอันดับแรก ส่วนการใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกให้กระทำเท่าที่จำเป็น พร้อมให้โอกาสทุกฝ่ายเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ ปรับปรุงหน่วยงานของตนเองให้มีภูมิคุ้มกัน โดยเฉพาะการแต่งตั้งโยกย้ายให้ใช้กระบวนการพิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายของทหารเป็นตัวแบบ
รอ.นพ.ยงยุทธกล่าวต่อว่า สำหรับฝ่ายกิจการพิเศษนั้น หัวหน้า คสช.รับทราบถึงแผนงาน โดยเฉพาะโครงการในพระราชดำริปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่ และเห็นควรให้มีการขยายศูนย์เรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริในภูมิภาคต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ในส่วนการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้เน้นการทำงานที่เป็นเอกภาพ โดยจะต้องมีความชัดเจนทั้งระดับนโยบาย ยุทธศาสตร์ และระดับปฏิบัติการ พร้อมให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) จัดข้าราชการลงไปปฏิบัติหน้าที่อย่างเหมาะสม โดยหัวหน้า คสช.จะกำกับดูแลในภาพรวม
รอ.นพ.ยงยุทธกล่าวด้วยว่า สำหรับกระบวนการปรองดองสมานฉันท์ หัวหน้า คสช.ได้กล่าวต่อหน่วยงานราชการว่า ในช่วงแรกนี้ทางทหารจะทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวกให้ส่วนต่างๆ มาทำกิจกรรมร่วมกันเพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีต่อกัน
ขณะที่ผลการประชุมคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) นั้น ที่ประชุมได้พิจารณาหารือกันถึงจริยธรรมของคตร.ว่าจะมีข้อกำหนดอย่างไร ซึ่งเห็นพ้องกันว่าควรยึดมั่นในคุณธรรม จริยธรรม มีจิตสำนึกที่ดี ซื่อสัตย์ สุจริต รับผิดชอบ ยึดถือประโยชน์ส่วนรวม ยืนยันทำสิ่งที่ถูกต้อง เป็นธรรม โปร่งใส และตรวจสอบได้ นอกจากนี้ ได้มีการกำหนดกรอบการทำงานของ คตร.ออกมาเป็นคณะอนุกรรมการทั้งหมด 4 คณะ ประกอบด้วย 1. ด้านแผนงานและงบประมาณ ซึ่งมีหน้าที่วิเคราะห์ความเหมาะสมของแผนงานและโครงการต่างๆ ที่รอการอนุมัติ เพราะบางโครงการอาจมีรายละเอียดที่ไม่ชัดเจน จึงต้องพิจารณาว่าสมควรจะต้องมีการดำเนินการต่อหรือไม่ หากไม่เหมาะสมอาจจะต้องหยุดโครงการไปเลย 2. ด้านการจัดซื้อจัดจ้าง และการเบิกจ่าย 3. ด้านการเงินการบัญชี และ 4. ด้านตรวจพิเศษ ซึ่งเป็นเสมือนหน่วยจู่โจมพิเศษ หากมีโครงการไหนมีความเคลือบแคลงน่าสงสัย อนุกรรมการชุดนี้จะเข้าไปเจาะและตรวจสอบ ทั้งนี้ อนุกรรมการเหล่านี้จะมาตัวแทนจากหน่วยงานกรมบัญชีกลาง สำนักงบประมาณ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) สำนักงานคณะกรรมการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)
ร.อ.นพ.ยงยุทธกล่าวว่า แนวทางปฏิบัติของ คตร.จะติดตามตรวจสอบการใช้จ่ายภาครัฐในโครงการต่างๆ ที่มีความไม่ชัดเจน เป็นที่สนใจของบประชาชน มีความเคลือบแคลงสงสัยของประชาชน และเป็นโครงการที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติและส่วนรวม ซึ่งมีทั้งโครงการที่จะต้องดำเนินการภายในงบประมาณปี 2557 และในส่วนของรัฐวิสาหกิจเองที่จะมีใน 2 ลักษณะคือ ลักษณะสิ้นสุดลงพร้อมกับปีงบประมาณ กับในส่วนของที่จะสิ้นสุดในเดือน ธ.ค.
ร.อ.นพ.ยงยุทธกล่าวอีกว่า สำหรับแผนที่จะดำเนินการในช่วงเดือน มิ.ย.นี้ ซึ่งถือเป็นแผนงานเร่งด่วนคือ การพิจารณาแผนของโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ในเรื่องของการบริหารจัดการน้ำ และโครงการแท็บเล็ตพีซีของกระทรวงศึกษาธิการ โดยเป็น 2 โครงการที่จะเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องเข้ามาชี้แจง ขณะเดียวกัน ในวันที่ 11 มิ.ย.นี้ คณะกรรมการ คตร. เพื่อสรุปในเรื่องของหน่วยงานต่างๆ และหน่วยงานต่างๆ ที่จะมาชี้แจง นอกจากนี้ ในวันที่ 10 มิ.ย.เอง จะมีการประชุม คสช.ทุกฝ่าย ในรูปแบบคล้ายคลึงกับการประชุม ครม. เพื่ออนุมัติโครงการที่เคยติดปัญหาเรื่องข้อกฎหมายในงบประมาณปี 2557 เพื่อให้โครงการดำเนินการได้ทันที
ด้าน น.ส.ปัถมาภรณ์ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คณะทำงานโฆษกคสช. แถลงว่าเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา กลุ่มนักธุรกิจไทย-จีน สภาอุตาหกรรมไทย-จีน นักธุรกิจภาคธนาคาร อาทิ ธนาคารไอซีบีซี นักธุรกิจภาคอุตสาหกรรมไอที การสื่อสาร บริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้า บริษัทผลิตรถยนต์ โรงงานผลิตปุ๋ย ธุรกิจทำเหมืองแร่ และบริษัทบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ได้เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ซึ่งการเข้าพบของภาคธุรกิจจีนนั้นเพื่อยืนยันเจตนารมณ์ในการดำเนินธุรกิจกับประเทศไทย เพื่อประสานความร่วมมือด้านการค้าการลงทุน และสร้างความมั่นใจในการลงทุนของสองประเทศ
น.ส.ปัถมาภรณ์กล่าวอีกว่า ในช่วงต้นหัวหน้า คสช.ได้อธิบายเหตุผลและความจำเป็นในการเข้ามาบริการประเทศที่ต้องปลดล็อกข้อกฎหมายและข้อระเบียบต่างๆเพื่อให้มีการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องโดยไม่มีอปสรรค กับในด้านการต่างประเทศนั้น หัวหน้า คสช.ได้ให้ความมั่นใจกับนักลงทุนว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นการลงทุนจากนี้ไปจะมีความโปร่งใส มีความยุติธรรม ตรวจสอบได้ ไม่มีคอร์รัปชัั่น มุ่งผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก ส่วนโครงการที่ประชาชนได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างก็ต้องการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มโครงการ และพิจารณาให้ครอบคุลมผลกระทบที่อาจจะเกิดกับประชาชน
น.ส.ปัถมาภรณ์กล่าวด้วยว่า พล.อ.ประยุทธ์กล่าวกับนักธุรกิจที่ประสงค์ที่เข้ามาลงทุนในไทยขอให้มีข้อคำนึง 5 ข้อ 1. มองผลประโยชน์ตอบแทนที่ประเทศไทยควรได้รับมากที่สุด 2. สร้างความเข้มแข็งให้กับคนไทยในเรื่องวิชาชีพ เทคโนโลยี การตั้งบริษัทลูก 3. เพิ่มการใช้วัตถุดิบในประเทศเพื่อแก้ไขปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ เช่นใช้น้ำยางดิบของไทยในอุตสาหกรรมยางรถยนต์ 4. โรงงานที่ตั้งขึ้นใหม่ต้องนำพลังงานทดแทนมาช่วยลดมลพิษ ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และ 5. พัฒนาบุคลากรของไทย โดยให้จัดฝึกอบรมดูงาน ให้ทุนการศึกษาเพื่อให้แรงงานมีความรู้มากขึ้น
หัวหน้า คสช.ยังได้ขอความร่วมมือนักธุรกิจชาวจีนให้ข่าวสารกับนักลงทุนรายอื่น รวมทั้งนักท่องที่ยวชาวจีนให้มาเที่ยวและมาลงทุนในไทย และได้ยืนยันกับนักธุรกิจจีนว่าขอให้มั่นใจประเทศไทยและเชื่อมันว่าไทยจะกลับมาแข็งแกร่ง พร้อมกันนี้ไทยยืนยันความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่มีต่อจีนมายาวนานในทุกระดับ
ขณะที่ พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก ในฐานะทีมโฆษก คสช. กล่าวถึงมาตรการในการควบคุมตัวนายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด ว่าแล้วแต่ดุลพินิจของเจ้าพนักงานทหารในช่วงแรก ซึ่งเป็นผู้ที่ใช้อำนาจในการขอควบคุมไว้ในพื้นที่พิเศษ เพราะอาจจะเป็นบุคคลที่มีพฤติกรรมในการพยายามก่อกวนอย่างที่ผ่านมาต่างจากนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีต รมว.ศึกษาธิการ ที่ถูกจับกุมตัวและดำเนินคดีโดยศาลทหารก่อนหน้านี้
ส่วนกระแสข่าวว่านายสมบัติมีความผิดคดีอาญามาตรา 112 นั้น พ.อ.วินธัยกล่าวว่า เป็นข้อสันนิษฐาน ตนอยากให้การตั้งข้อกล่าวหาเป็นเรื่องของพนักงานสอบสวน ซึ่งอาจจะใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ เพราะในช่วงสัปดาห์แรกจะต้องมีการปรับทัศนคติกันด้วย จากนั้นจะมีรูปแบบการสอบสวนตามกฎหมายและขึ้นศาลทหารเช่นเดียวกับนายจาตุรนต์ต่อไป ส่วนผู้สนับสนุนให้ที่พักกับนายสมบัติต้องรอผลของการสอบสวนก่อน เพราะรายละเอียดขณะนี้ เรายังไม่มั่นใจว่ามีการมีส่วนร่วมของบุคคลอื่นหรือไม่
พ.อ.วินธัยกล่าวถึงการนัดรวมตัวของกลุ่มต่อต้านรัฐประหารในหลายจุดของกทม.วันที่ 8 มิ.ย.ว่า ขณะนี้ได้ใช้วิธีทำความเข้าใจพยายามที่จะสื่อสารผ่านสื่อว่าไม่อยากให้มีการกระทำในลักษณะแบบนี้ ซึ่งเรายังยืนยันว่าการกระทำในลักษณะดังกล่าวผิดกฎหมาย จึงอยากขอความร่วมมือให้ช่วยกันห้ามปราม แต่หากยังมีการฝ่าฝืนต้องดำเนินการตามขั้นตอน ซึ่งช่วงที่ผ่านมามีผู้ถูกดำเนินการแล้ว
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีมาตการในการจับกุมตัวนายจักรภพ เพ็ญแข อย่างไร เพราะปัจจุบันยังให้ข่าวกับสื่อต่างประเทศอยู่เรื่อยๆ พ.อ.วินธัยกล่าวว่า ลักษณะการพูดอยู่นอกเหนือการควบคุม เป็นเรื่องของส่วนบุคคล แต่อยากทำความเข้าใจว่านายจักรภพ ไม่เคยทุกข์ร้อนกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชนในปัจจุบัน ไม่ได้มามารถติด ไม่ได้เป็นเกษตรกรที่เดือดร้อน ฉะนั้น อาจจะมองในมุมของตัวเอง ส่วนแนวทางการดำเนินการของคสช. จะทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนในประเทศถึงเหตุผลความจำเป็น แนวทางแก้ปัญหา เราจะต้องทำความเข้าใจกับประชาชนแข่งกัน โดย คสช.นำเสนอในเรื่องจริง ไม่ใช่สิ่งที่เพ้อฝัน นอกจากนี้ กระทรวงการต่างประเทศคงขอความร่วมมือกับประเทศต่างๆ ไม่ให้สนับสนุนการกระทำแบบนี้ ถ้ามีการสนับสนุนให้กระทำแบบนี้บางครั้งอาจมองว่าเป็นการแทรกแซงกิจการภายในกันได้