กกต. ยังรอรัฐบาลนัดวัน เวลา สถานที่ หารือ ย้ำขอความชัดเจน 2 เรื่อง เล็งชงหน่วยมั่นคงเสนอแผน รปภ. เลือกตั้ง รับโหวตวันเดิมเป็นไปไม่ได้แล้ว ถามขนาดประชุมยังต้องเลิกเหตุกลัวม็อบแล้วจะจัดโหวตได้ยังไง จ่อถามรักษาการรมต.สำนักนายกฯ ใครสั่งช่อง 11 ถ่ายแก๊งนิติราษฎร์จ้อ แต่ทำได้แค่ตักเตือน
วันนี้ (18 พ.ค.) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวถึงการนัดหารือร่วมกับรัฐบาลถึงการตราพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง อีกครั้งหลังจากที่การหารือเมื่อวันที่ 15 พ.ค. ยังไม่ได้ข้อยุติว่า ขณะนี้ยังคงรอรัฐบาลเป็นฝ่ายนัดวันเวลาและสถานที่ ซึ่งในประเด็นการหารือ กกต. ยังต้องขอความชัดเจนใน 2 ประเด็นเดิม คือ เรื่องอำนาจของผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรีว่ามีอำนาจสามารถทูลเกล้าฯหรือรับสนองพระบรมราชโองการได้หรือไม่ และประเด็นการระบุความในมาตรา 4 ของพระราชกฤษฎีโดยให้อำนาจ กกต. แจ้งไปยังนายกรัฐมนตรี ให้สามารถเลื่อนวันเลือกตั้งออกไปอีกได้หากเกิดเหตุการณ์ไม่สงบระหว่างจัดการเลือกตั้ง
นายสมชัย ระบุด้วยว่า ยังมีประเด็นต้องหารือเพิ่มเติมในเรื่องของสถานการณ์ปัจจุบันว่ามีความพร้อมมากน้อยเพียงใดในการจัดการเลือกตั้ง เบื้องต้นอาจจะให้หน่วยงานความมั่นคงเสนอแผนการรักษาความปลอดภัยการเลือกตั้ง เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าจะสามารถสนับสนุน กกต. ในการจัดการเลือกตั้งให้ประสบความสำเร็จได้โดยไม่สูญเปล่า พร้อมย้ำว่าวันเลือกตั้งตามกรอบเดิมที่กำหนดไว้ในวันที่ 20 ก.ค. 2557 นั้นเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากระยะเวลาขณะนี้ไม่เพียงพอต่อกระบวนการตราพระราชกฤษฎีกา จึงจำเป็นที่ต้องหารือเพื่อกำหนดวันที่ชัดเจน
นายสมชัย ยังตั้งข้อสังเกตว่า การหารือครั้งต่อไปหากต้องมีการยกเลิกหรือยุติกะทันหัน เพราะหวั่นกลัวกลุ่มผู้ชุมนุมอีกครั้งนั้น จะสามารถจัดการเลือกตั้งเลือกตั้งให้จะสำเร็จได้อย่างไร เพราะเชื่อว่าจะมีกลุ่มผู้ชุมนุมเดินเดินทางมาอีกอย่างแน่นอน
ทั้งนี้ ในการประชุม กกต. วันอังคารที่ 20 พ.ค.นี้. นายสมชัย เปิดเผยว่า จะเสนอให้ กกต. ทำหนังสือสอบถามไปยัง รมต. ที่กำกับดูแลช่อง 11 ถึงการถ่ายทอดการอภิปรายของกลุ่มนักวิชาการ ที่มีขึ้นในวันเสาร์ที่ 17 พ.ค. ระหว่างเวลา 18.00-19.00 น. ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ว่า เป็นคำสั่งถ่ายทอดของใคร และใช้เงินในการดำเนินการเท่าใด เนื่องจากเนื้อหาที่นำเสนอเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล และมีการเสนอข้อมูลที่สร้างความแตกแยกและความสับสนต่อประชาชน ยกตัวอย่างเช่น การระบุว่ารัฐบาลสามารถทูลเกล้านำเสนอพระราชกฤษฎีกำหนดวันเลือกตั้งได้เอง โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจาก กกต. และหากพบว่า เป็นการดำเนินการโดยผู้บริหารสถานี ก็จะดำเนินการตักเตือนอย่างเป็นทางการ