“สมชัย” จี้ “นิวัฒน์ธำรง” มาคุย กกต.เอง ชี้ “พงศ์เทพ” ไม่มีอำนาจตัดสินใจ ไม่ได้ข้อยุติก็ต้องหารือกันใหม่ ระบุต้องชัดเจนตอบให้ได้มีอำนาจทูลเกล้าฯ หรือไม่ และถามความเห็นที่จะให้บรรจุถ้อยคำสามารถเลื่อนวันโหวตได้หากมีเหตุ ถ้าเห็นต่างก็คุยไปเรื่อยจนกว่าจะสรุป บอก 3 ส.ค.แค่คาดการณ์ แต่ถ้าโจทย์ไม่ผ่านก็ล่าช้าออกไป
วันนี้ (12 พ.ค.) ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวถึงยื่นเงื่อนไขที่ กกต.จะหารือกับรัฐบาลในวันที่ 14 พ.ค.ว่า 1. ในการหารือดังกล่าวอยากให้นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีอำนาจสูงสุดในรัฐบาลชุดนี้มาหารือกับ กกต.ด้วยตนเอง ไม่ใช่นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี ตามที่ได้แจ้งชื่อมา กกต. เพราะนายพงศ์เทพไม่ได้มีอำนาจในการตัดสินใจ หากหารือไปอาจจะไม่ได้ข้อยุติและอาจต้องมีการนัดหมายกันใหม่ ทำให้เสียเวลา รวมทั้งถ้าเป็นไปได้อยากให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเลือกตั้ง เช่น มหาดไทย กลาโหม ศึกษาธิการ มาร่วมหารือด้วย 2. รัฐบาลต้องมีความชัดเจน โดยต้องมีคำตอบในประเด็นข้อกฎหมายว่านายนิวัฒน์ธำรง ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกฯมีอำนาจในการทูลเกล้าฯ และรับสนองพระบรมราชโองการร่าง พ.ร.ฎ.แก้ไขเพิ่มเติมกำหนดวันเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการทั่วไปหรือไม่
นายสมชัยกล่าวว่า และ 3. รัฐบาลมีความเห็นอย่างไรกับการที่ กกต.จะให้มีการบรรจุถ้อยคำว่า หากเกิดเหตุฉุกเฉินจำเป็นให้ กกต.สามารถเลื่อนวันเลือกตั้ง โดยให้รัฐบาลออกเป็น พ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้งใหม่ได้ เพราะแม้ก่อนหน้านี้ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยให้เลื่อนการเลือกตั้งได้ แต่หากเกิดปัญหาขึ้นจริง เชื่อว่ารัฐบาลก็จะอ้างเหตุผลจาก พ.ร.ฎ.ว่าเลื่อนไม่ได้ จะทำให้การเลือกตั้งอาจเสียเปล่า ประกอบกับสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินมีหนังสือให้รัฐบาลชดใช้ค่าเสียหายจากการจัดการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ.จึงทำให้คิดว่าการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นทุกฝ่ายต้องหามาตรการให้การเลือกตั้งไม่เสียเปล่า กกต.จึงเห็นว่าต้องระบุถ้อยคำดังกล่าวไว้ในร่าง พ.ร.ฎ. ทั้งนี้ หากรัฐบาลเห็นต่างในประเด็นนี้ก็ต้องมีการคุยกันไปเรื่อยๆจนกว่าจะมีข้อสรุป โดยรัฐบาลไม่มีสิทธิเสนอร่าง พ.ร.ฎ.ได้เอง เพราะ กกต.ต้องเป็นผู้ยกร่าง
นายสมชัยกล่าวว่า อย่างไรก็ตามในการหารือกันขอให้รัฐบาลมีคำตอบมาในเรื่องเหล่านี้ เพราะ กกต.ก็จะเตรียมคำตอบไว้เช่นกันเพื่อให้การหารือเร็วขึ้น รวมถึงให้รัฐบาลประมาณการขั้นตอนการทูลเกล้าฯและโปรดเกล้าฯ ร่าง พ.ร.ฎ.ว่าจะต้องใช้เวลากี่วัน และหากวันเลือกตั้งไม่ใช่วันที่ 20 ก.ค.วันเลือกตั้งที่เหมาะสมต้องเป็นวันที่เท่าไหร่ ส่วนที่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งวันที่ 3 ส.ค.ก็เป็นการคาดการณ์
“ในวันที่ 14 พ.ค. ถ้าโจทย์ข้อแรกไม่ผ่าน การพูดคุยก็อาจจะมีการนัดหมายกันใหม่ และทำให้การเลือกตั้งล่าช้าออกไป หากการพูดคุยได้ข้อสรุปแล้วรัฐบาลประมาณการขั้นตอนการทูลเกล้าฯ โปรดเกล้าฯ และบอกว่าการเลือกตั้งวันที่ 20 ก.ค.เป็นไปได้ กกต.ก็พร้อมจัดเลือกตั้ง โดยรัฐบาลต้องทูลเกล้าฯและให้ร่าง พ.ร.ฎ.มีผลใช้บังคับในวันที่ 22 พ.ค. แต่จากสถิติขั้นตอนตรงนี้ใช้เวลาเฉลี่ยประมาณ 20 วันและเป็นเรื่องพระราชอำนาจที่เราไม่ควรไปเร่งรัด” นายสมชัยกล่าว