เลขาฯ วุฒิสภา รับยังไม่ได้ชงชื่อ “สุรชัย-พีระศักดิ์” ส่ง สลค.ให้ทูลเกล้าฯ อ้างทำประวัติไม่เสร็จ ด้านว่าที่รองประธานวุฒิฯ เชื่อหาก ส.ว.มีมติก็ยังไม่จบ ต้องไปหารือองค์กรอื่นด้วย ชี้ต้องรีบได้ข้อสรุป พร้อมร่วมเดินสายกับว่าที่ประธานฯ ขณะที่ ส.ว.สมุทรสงคราม ขอฟังความเห็นก่อน ระบุคุยจบก็ต้องขอรัฐออก พ.ร.ฎ.เรียกประชุมใหม่
วันนี้่ (12 พ.ค.) ที่รัฐสภา นางนรรัตน์ พิมเสน เลขาธิการวุฒิสภา กล่าวว่า ตนยังไม่ได้นำรายชื่อนายสุรชัย ที่ได้รับเลือกให้เป็นประธานวุฒิสภาคนใหม่ และนายพีระศักดิ์ พอจิต ส.ว.อุตรดิตถ์ ที่ได้รับเลือกให้เป็นรองประธานวุฒิสภา คนที่ 2 แจ้งไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เพื่อให้นำความกราบขึ้นบังคมทูล เนื่องจากยังดำเนินการเรื่องทำประวัติของบุคคลทั้งสองไม่แล้วเสร็จ เบื้องต้นคาดว่าภายในวันที่ 12 พ.ค.นี้ยังไม่สามารถดำเนินการได้ทัน
ด้านนายพีระศักดิ์กล่าวถึงการประชุมวุฒิสภานอกรอบในวันที่ 12 พ.ค.นี้ว่า เชื่อว่าจะยังไม่ได้ข้อยุติ แม้ว่าที่ประชุมวุฒิสภาเสียงส่วนใหญ่จะเห็นชอบให้ดำเนินการในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง เพราะต้องนำความเห็นดังกล่าวไปหารือร่วมกับองค์กรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ที่ประชุมเสนอ อย่างไรก็ตาม โมเดลของการแก้ปัญหาบ้านเมืองยังไม่สามารถคาดได้ว่าจะได้ข้อยุติเมื่อใด แต่เชื่อว่าภายใต้สถานการณ์การเมืองแบบนี้จะต้องทำให้เร็ว โดยส่วนตัวคาดว่าภายใน 1 เดือนหลังจากนี้จะได้ข้อสรุป ส่วนการเดินสายหรือพบปะกับผู้นำองค์กรต่างๆ ตนมองว่าหากนัดได้เร็วก็เข้าพบปะได้เร็ว และตนพร้อมที่จะเดินสายพบปะร่วมกับนายสุรชัย
ขณะที่ น.ส.บุญยืน ศิริธรรม ส.ว.สมุทรสงคราม กล่าวว่า ตนพร้อมเข้าร่วมการประชุมวุฒิสภานอกรอบตามที่นายสุรชัยในฐานะปฏิบัติหน้าที่แทนประธานวุฒิสภานัดหมาย ส่วนกรณีที่มีการคาดการณ์ว่าจะเป็นการหารือเพื่อแก้ปัญหาบ้านเมือง ตามแนวทางของรัฐธรรมนูญ มาตรา 7 นั้น ตนไม่ทราบ แต่เมื่อเข้าประชุมแล้วจะขอรับฟังความเห็นของสมาชิกที่มีความเชี่ยวชาญทางกฎหมายก่อน
ส.ว.สมุทรสงครามกล่าวว่า ตนมองว่าการหารือนอกรอบดังกล่าวคงไม่สามารถนำไปดำเนินการในฐานะตัวแทนวุฒิสภาได้ เพราะการประชุมนอกรอบนั้นแม้จะมีการขอมติจากที่ประชุม แต่ยังไม่ถือว่ามีสถานะรับรอง ดังนั้นเชื่อว่าเมื่อการหารือนอกรอบเสร็จสิ้นแล้ว คงเข้าสู่กระบวนการเพื่อขอให้รัฐบาลดำเนินการตราพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญอีกครั้ง ส่วนกรณีที่จะมีการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่ม กปปส.ใน 1-2 วันนี้ ก็ต้องนำปัจจัยที่เกิดขึ้นมาพิจารณาอย่างรอบด้านเพื่อเป็นการหาทางออกให้กับบ้านเมือง
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากการหารือนอกรอบมีผลเกิดฉันทามติ และมีผู้ไปดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง ซี่งอาจถูกนำเรื่องไปฟ้องร้องดำเนินคดีได้ จะทำอย่างไร น.ส.บุญยืนกล่าวว่า ขณะนี้หลายฝ่ายที่พยายามนำประเด็นทางข้อกฎหมายมาพิจารณาเพื่อให้เกิดปัญหา ส่วนตัวเชื่อว่าเจตนารมณ์ของกฎหมายมีไว้เพื่อไม่ให้เกิดทางตัน
“คนที่มาทำหน้าที่ ส.ว.หรือตัวแทนประชาชนคงต้องพิจารณาดำเนินการเพื่อผลประโยชน์ของชาติเป็นหลักและทำอย่างไรให้ประเทศเดินหน้าไปได้ ดังนั้นเมื่อ ส.ว.อาสาเข้ามาทำหน้าที่แล้วหากกลัวว่าจะผิดกฎหมายก็ขอให้กลับไปนอนอยู่บ้าน” น.ส.บุญยืนกล่าว