“ยิ่งลักษณ์” หารือนอกรอบร่วม ผบ.ทัพครึ่งชั่วโมง “นิพัทธ์” อ้างห่วงจัดทำงบฯ ไม่ทัน ทหารอ้อนซื้ออาวุธใหม่ เตรียมหารือ กกต. ชี้ความรุนแรงต้องดำเนินการตามกฎหมาย ขณะที่ “ประยุทธ์” เชื่อ “ปู” มีวุฒิภาวะหาทางออกประเทศ หวังสถานการณ์ดีขึ้น สำทับคำ “ประจิน” พูดสวน ศอ.รส.
วันนี้ (24 เม.ย.) ที่กระทรวงกลาโหม เมื่อเวลา 10.00 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธานในการประชุมสภากลาโหมครั้งที่ 3/57 โดยมี พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รมช.กลาโหม พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ปลัดกระทรวงกลาโหม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผู้บัญชาการทหารเรือ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ และนายทหารรระดับสูงเข้าร่วมประชุมกันอย่างพร้อมเพรียง ขาดเพียง พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ที่ติดภารกิจเดินทางไปต่างประเทศ โดยก่อนการประชุมประชุมสภากลาโหม น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้หารือนอกรอบร่วมกับ พล.อ.ยุทธศักดิ์ พล.อ.นิพัทธ์ และ ผบ.เหล่าทัพเป็นเวลา 30 นาที
โดย พล.อ.นิพัทธ์กล่าวถึงการหารือนอกรอบว่า นายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยเกี่ยวกับระบบงบประมาณว่าขณะนี้เป็นรัฐบาลรักษาการและยังไม่มีสภา ตามข่าวที่ปรากฏว่าจะมีการเลือกตั้งประมาณเดือน ก.ค.นั้น นายกรัฐมนตรีจึงได้เชิญหน่วยงานเกี่ยวกับงบประมาณมาประชุมกัน เพราะหากมีการเลือกตั้งในเดือน ก.ค.นั้น กว่าจะมีการจัดทำงบประมาณจะทำให้งบปี 58 หายไปประมาณ 6 เดือน ทาง ผบ.เหล่าทัพจึงเสนอว่าจะมีวิธีการใดที่จะแก้ปัญหานี้หรือไม่ เพราะงบประมาณด้านความมั่นคงเป็นเรื่องรอไมได้ โดย ผบ.เหล่าทัพมีความเป็นห่วงว่า ระบบและกฎระเบียบที่มีอยู่ทำให้แทบใช้งบประมาณอะไรไม่ได้เลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องที่จะต้องมีการจัดหายุทโธปกรณ์ใหม่มาทดแทนจึงต้องมีการพูดคุยเพื่อหาทางออกว่า จะทำอย่างไร ทางนายกรัฐมนตรีจึงสั่งให้ตนเชิญผบ.เหล่าทัพ และสำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และอาจจะต้องนำเรื่องนี้ไปหารือกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยจะดำเนินการให้เร็วที่สุด
พล.อ.นิพัทธ์กล่าวว่า ในที่ประชุมมีการพูดถึงความรุนแรงในลักษณะที่มีการลอบทำร้าย ทั้งหมดอยู่ในตัวบทกฎหมาย ซี่งเป็นหน้าที่ที่ต้องดำเนินการกันอยู่แล้ว และพูดถึงการลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายของคนสัญชาติหนึ่ง นายกรัฐมนตรีบอกว่าต้องให้สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นหน่วยงานหลักเชิญมาประชุมพูดคุยในเรื่องนี้ ส่วนการป้องกันการลับลอบอาวุธสงคราม สิ่งผิดกฎหมายตามแนวชายแดนนั้น เป็นงานที่ทหารทำตามหน้าที่โดยไม่ต้องสั่งอยู่แล้ว ทั้งนี้ ในที่ประชุมสภากลาโหมทางกระทรวงกลาโหมได้เสนอให้ที่ประชุมรับทราบถึง พ.ร.บ.ควบคุมอาวุธปี 2530 มาชี้แจงให้ทราบว่ายุทธภัณฑ์ที่มีกฎหมายควบคุม เช่น เสื้อเกราะกันกระสุน หน้ากากป้องกันแก๊สพิษ กระสุนปืน ที่ถูกนำมาใช้เป็นการส่วนตัวในเหตุการณ์ต่างๆนั้น เป็นเรื่องที่มีกฎหมายควบคุมต้องได้รับอนุญาตจึงจะครอบครองได้ ส่วนการต่อ พ.ร.บ.ความมั่นคงนั้น นายกรัฐมตรียังไม่ได้พูดถึงเรื่องนี้ สำหรับกรณีที่ ศอ.รส.ยังไม่สามารถจ่ายเบี้ยเลี้ยงให้กับกำลังพลที่ปฏิบัติหน้าที่ดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ได้นั้น ในที่ประชุมไม่ได้พูดเรื่องนี้ แต่ทราบกันดีว่า ที่ผ่านมายังไม่มีใครได้รับอะไรกัน แต่ขณะนี้เรื่องได้ส่งไปยัง กกต.แล้ว ซึ่งขณะนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารที่ออกมาปฏิบัติหน้าที่ยังไม่ได้เบี้ยเลี้ยงอะไรทั้งสิ้น เพราะจะต้องผ่าน กกต.ก่อน
ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก กล่าวว่า เรื่องมาตรการดูแลชายแดนและป้องกันการนำอาวุธสงครามเข้ามาสร้างสถานการณ์ เป็นเรื่องที่กองทัพปฏิบัติอยู่แล้ว ส่วนสถานการณ์ทางการเมืองเชื่อว่ารักษาการนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม มีวุฒิภาวะในการหาทางออกให้กับประเทศ พร้อมหวังว่าแนวโน้มสถานการณ์ทางการเมืองน่าจะดีขึ้น ส่วนความเห็นต่อกรณีศูนย์อำนวยการรักษาความสงบ (ศอ.รส.) ออกแถลงการณ์เรียกร้องการทำหน้าที่ขององค์กรอิสระก่อนหน้านี้ ก็คงเป็นไปตามที่ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศออกมาให้สัมภาษณ์ไปแล้ว
รายงานข่าวแจ้งว่า ในการหารือนอกรอบระหว่าง น.ส.ยิ่งลักษณ์กับ ผบ.เหล่าทัพนั้น ทาง ผบ.เหล่าทัพได้บอกให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ทำใจให้สบายและทำหน้าที่ของตนเองต่อไป ขณะที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ระบุกับ ผบ.เหล่าทัพว่าไม่มีปัญหาและพร้อมเสียสละหากจะต้องพ้นจากตำแหน่งหรือมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่นายกรัฐมนตรีที่จะขึ้นมาดำรงตำแหน่งแทนตนเองจะต้องเป็นนายกฯ ที่มาตามกระบวนการทางกฎหมาย และตามขั้นตอน