xs
xsm
sm
md
lg

กปปส.ไม่เลิก-ปชป.บอยคอต เลือกตั้งใหม่เสี่ยงโมฆะอีกรอบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รายงานพิเศษ

การเดินหน้าจัดการเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต่อจากนี้หลายฝ่ายกำลังลุ้นกันอยู่ว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่ จะมีสถานการณ์แทรกซ้อนเกิดขึ้นก่อนถึงวันที่รัฐบาล และ กกต. จะมีการออกพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งหรือไม่?

สถานการณ์ขณะนี้ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรีอยู่ในสภาพยืนอยู่บนเส้นด้ายเจียนจะหล่นจากอำนาจเร็ววันนี้ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้พรรคเพื่อไทยเร่งทั้งกดทั้งดันให้ กกต. รีบเดินหน้าเลือกตั้งให้เร็วที่สุดเพื่อให้พรรคกลับมาครองอำนาจแบบเต็มตัว

ที่สำคัญ สุเทพ เทือกสุบรรณเลขาธิการ กปปส. ก็ย้ำชัดหลายรอบหลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้การเลือกตั้ง 2 ก.พ. 57 เป็นโมฆะ ว่าจะเดินหน้าขัดขวางการจัดการเลือกตั้งต่อไป และจะขวางให้หนักขึ้นกว่าเลือกตั้งเมื่อ 2 ก.พ. เสียอีก หาก กปปส. ยังคงยืนยันในแนวทางนี้เอาแค่ปักหลักค้านในฐานที่มั่นสำคัญของ กปปส. คือพื้นที่ภาคใต้เอาไว้ได้เหมือนครั้งที่แล้วที่ทำให้การรับสมัคร ส.ส. ระบบเขตใน 28 เขต ของ 8 จังหวัดภาคใต้ทำไม่ได้ ทำให้การจัดการเลือกตั้งไม่เป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร จนการเลือกตั้งโมฆะ

หาก กปปส. ส่วนกลางและ กปปส. ภาคใต้ ยังแข็งขันในการขวางการเลือกตั้งต่อไป ไม่มีการเจรจากับ กกต. หรือฝ่ายรัฐบาล คงทำให้การเดินหน้าจัดการเลือกตั้งต่อไปของ กกต. คงประสบความลำบากแน่นอน

ทางด้านแนวร่วมต่างๆ ของ กปปส. เช่นเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) หรือกลุ่มของหลวงปู่พุทธะอิสระ-กลุ่มกองทัพธรรมและกลุ่มกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ (กปท.) ก็ยังยืนเช่นกันว่าจะร่วมขบวนการกับ กปปส. ในการขวางการเลือกตั้งต่อไปจนกว่าจะมีนายกฯคนกลางและมีการปฏิรูปประเทศก่อนถึงค่อยเลือกตั้ง

จึงทำให้เส้นทางการจัดการเลือกตั้งของ กกต. ที่ยังไม่รู้ว่าจะกำหนดวันเลือกตั้งวันไหนคงมีปัญหาตามมามากมาย หากสถานการณ์การเมืองยังคงเป็นเช่นนี้เว้นแต่จะเปิดโต๊ะเจรจากับฝ่ายต่างๆ ได้เพื่อขอให้ร่วมมือในการจัดการเลือกตั้ง

แต่เมื่อสุเทพ-กปปส. และแนวร่วม “ปิดประตูการพูดคุย”การเดินหน้าจัดการเลือกตั้งในสถานการณ์เช่นนี้คาดได้ว่าคงเกิดปัญหาในทางปฏิบัติและในข้อกฎหมายตามมาอีกไม่จบสิ้น มีแนวโน้มสูงที่หากมีการจัดการเลือกตั้งอาจทำให้ประเทศเสียงบประมาณในการจัดการเลือกตั้งไปอีกไม่ต่ำกว่า 3,800 ล้านบาท

เว้นแต่ กกต. จะต้องปรับกติกาการจัดการเลือกตั้งบางอย่างเพื่อแก้ปัญหาเช่น ในบางพื้นที่ซึ่งถูกขัดขวางไม่ให้ผู้สมัครส.ส. เข้าไปยื่นใบสมัครเลือกตั้งจะแก้ปัญหาอย่างไร อาทิ หากมีการปิดล้อมสถานที่รับสมัครเกิน 3 วันก็อาจให้มีการเปลี่ยนแปลงสถานที่รับสมัครไปยังที่อื่นได้ เช่น ให้ไปสมัครที่สถานีตำรวจหรือค่ายทหาร หรือสถานที่ราชการอื่นๆ ได้โดยทันทีเพื่อจะได้ไม่เกิดปัญหาผู้สมัคร ส.ส. เข้าไปสมัครรับเลือกตั้งไม่ได้อย่างที่เคยเกิดกับกรณี 28 เขตในภาคใต้

การหาทางป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการจัดการเลือกตั้งของ กกต. แม้จะพยายามอยู่แต่ก็ถูกมองว่าทำแบบเฉื่อยชา ไม่ทำเต็มที่จนถูกวิจารณ์ว่า กกต. เกียร์ว่าง ไม่ใช้ความพยายามเท่าที่ควรเหมือนกับไม่ต้องการให้มีการเลือกตั้ง ก็เลยโดนอัดว่าทำเหมือนจะรับลูก กปปส.

ข้อเคลือบแคลงดังกล่าวของฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาลโดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยและคนเสื้อแดง ทาง กกต. เองก็คงรู้ดี ระยะหลังเลยพยายามเร่งกันอยู่ แต่ก็พบว่าแนวทางคือจะไม่รีบเร่งเพราะเกรงหากเดินหน้าเลือกตั้งโดยไม่เคลียร์ปัญหาระหว่างทางให้เรียบร้อยก่อนสุดท้าย จะเลือกตั้งโมฆะซ้ำซาก

ลดกังขาไม่เร่งเลือกตั้ง

โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 8 เม.ย.นี้ กกต. ก็เชิญผู้บัญชาการเหล่าทัพและหน่วยงานด้านความมั่นคงเข้าหารือในวันที่ 8 เม.ย. เพื่อประเมินสถานการณ์ก่อนจะจัดเลือกตั้ง ส.ส. ใหม่โดยผู้นำเหล่าทัพและหัวหน้าส่วนราชการด้านความมั่นคง ส่วนประเด็นที่ กกต. จะนำไปหารือก็คือ กกต. จะรายงานถึงเหตุการณ์การเลือกตั้งที่มีปัญหาทั้งวันเลือกตั้งล่วงหน้า 26 ม.ค. 57 และวันเลือกตั้งจริง 2 ก.พ. 57 เพื่อให้รู้ว่า กกต. เกิดปัญหาการจัดการเลือกตั้งอะไรจากนั้นจะขอให้หน่วยงานความมั่นคงประเมินสถานการณ์เพื่อเตรียมการให้เกิดความเรียบร้อยก่อนการเลือกตั้งครั้งใหม่

การนัดหารือฝ่ายความมั่นคงครั้งนี้บางส่วนก็มองว่าเป็นสิ่งที่ดี เพราะการจัดการเลือกตั้งที่ผ่านมาหากตอนแรก กกต. ประสานขอความร่วมกับทหาร-ตำรวจ-ฝ่ายความมั่นคงไว้แต่เนิ่นๆ ความไม่เรียบร้อยในการจัดการเลือกตั้งที่ผ่านมา ก็จะผ่อนจากหนักเป็นเบาแต่หากไปดูช่วงก่อนหน้าวันรับสมัครเลือกตั้งและวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง จริงๆ ก็จะเห็นได้ว่าทางรัฐบาล โดยเฉพาะยิ่งลักษณ์ ที่เป็น รมว.กลาโหมก็ได้ขอความร่วมมือกับทหาร-ตำรวจ ไว้แต่แรกแล้วให้ช่วย กกต. ในการดูแลความเรียบร้อย

ตำรวจกับทหารก็คือหน่วยใต้บังคับบัญชาของรัฐบาลอยู่แล้ว ยังไงก็ต้องช่วยรัฐบาลดูแลการเลือกตั้ง แต่ปัญหาคราวที่แล้ว หากทหาร-ตำรวจจะใช้กำลังเจ้าหน้าที่เข้าไปดูแลแก้ไขปัญหา เช่น เข้าไปสลายการปิดล้อมหน่วยรับสมัคร ส.ส. ก็ย่อมทำให้เกิดการปะทะกับประชาชนก็จะเกิดเหตุแบบที่สนามกีฬาเวสน์ไทย-ญี่ปุ่น ดินแดงเมื่อปลายปี 56

ดังนั้น ดูแล้วต่อให้ กกต.มีการหารือกันฝ่ายความมั่นคงอย่างไรแต่การแก้ไขปัญหาต่างๆ หากมีการขวางการเลือกตั้งก็ต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจเฉพาะหน้าเป็นสำคัญ ทหาร-ตำรวจ คงไม่ได้ให้ความสำคัญกับ กกต. มากกว่ารัฐบาลและ ประชาชนอยู่แล้ว

ถัดจากหารือดังกล่าว อีกสองสัปดาห์ถัดไป กกต. ก็นัดหารือตัวแทนพรรคการเมือง 73 พรรคที่ส่งคนลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งที่แล้วและที่ได้รับรองจาก กกต. ในวันที่ 22 เม.ย. เพื่อหารือถึงการจัดการเลือกตั้ง ในลักษณะเปิดเวทีระดมความเห็นต่างๆ เช่น ควรจัดให้มีการเลือกตั้งช่วงไหน-มีข้อเสนอแนะอย่างไรเพื่อไม่ให้การเลือกตั้งมีปัญหาขึ้นอีก-เงินค่าสมัคร ส.ส. ครั้งที่แล้วที่พวกพรรคการเมืองขนาดเล็กเรียกร้องให้ กกต. คืนเงินให้กับผู้สมัครและพรรคการเมือง

มีข้อเสนอแนะว่าต่อให้คุยกับพรรคการเมืองกี่รอบก็ไม่มีอะไรดีขึ้น แต่ควรต้องให้ฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์กับกปปส. มาร่วมพูดคุยด้วยเพราะหากทั้ง ปชป.-กปปส. ยังยืนยันในจุดยืนเดิมคือพรรค ปชป. ไม่ส่งคนลงเลือกตั้ง-กปปส. จะขวางการเลือกตั้งต่อไปปัญหาก็ไม่จบ

อย่างไรก็ตาม เรื่องจะให้ กปปส. ไปร่วมพูดคุยด้วย คงเป็นไปได้ยากเพราะขัดกับแนวทางของ กปปส. ที่ประกาศแล้วว่าให้ชะลอการเลือกตั้งออกไปก่อนเพื่อให้มีการปฏิรูปประเทศ ทาง กปปส. คงไม่ส่งคนไปร่วมคุยด้วยแต่ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ มีแนวโน้มว่าจะส่งตัวแทนไปร่วมหารือด้วยแต่เชื่อว่าฝ่ายพรรค ปชป. คงไม่ให้สัญญาหรือพูดอะไรที่จะไปผูกมัดตัวเองว่าจะส่งคนลงเลือกตั้ง

บี้ กกต. เร่งจัดวันเลือกตั้ง

ขณะที่ท่าทีของฝ่ายพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลเวลานี้ก็ชัดอยู่แล้ว ผ่านการให้สัมภาษณ์ของแกนนำและแถลงการณ์ต่างๆ ของพรรคร่วมรัฐบาลที่เน้นจุดยืนคือให้ กกต. เร่งจัดการเลือกตั้งให้เร็วที่สุดไม่ใช่จะดึงเวลาไปเรื่อยๆ ออกไปแบบนี้

ส่วนพรรคการเมืองอื่นๆ โดยเฉพาะพรรคการเมืองขนาดเล็กที่ส่งคนลงเลือกตั้งครั้งที่แล้วก็มีความเคลื่อนไหวสอดรับไปกับพรรคการเมืองขนาดใหญ่คืออยากให้มีการจัดการเลือกตั้งโดยเร็ว มีการส่ง สุรทิน พิจารณ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปไตยใหม่ พร้อมสมาชิกพรรคการเมืองขนาดเล็กที่ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ยื่นหนังสือต่อ กกต. เพื่อขอให้ กกต. เร่งรัดจัดการเลือกตั้ง ส.ส. ใหม่ภายใน 45-60 วันนับแต่คำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญที่สั่งว่าการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญประกาศในราชกิจจานุเบกษา รวมทั้งขอให้ กกต. คืนค่าสมัครให้แก่พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครในระบบบัญชีรายชื่อและผู้สมัครในระบบแบ่งเขตเลือกตั้งและให้หาผู้รับผิดชอบกับค่าใช้จ่ายในการจัดการเลือกตั้ง 3,800 ล้านบาทที่ต้องเสียไปด้วย

เชื่อว่าพอถกกับตัวแทนพรรคการเมืองดังกล่าวจนได้ข้อเสนอแนะต่างๆ แล้ว กกต. ก็คงไปหารือกับนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลต่อไปถึงการกำหนดวันรับสมัคร ส.ส.-วันลงคะแนนเสียงและการขอรับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายการเลือกตั้งที่ก็คงไม่ต่ำกว่า 3,800 ล้านบาทเช่นครั้งที่แล้ว

ในส่วนของการกำหนดวันเลือกตั้งนั้น คาดว่าทั้ง กกต. และรัฐบาลคงต้องคุยกันหลายรอบแน่นอนว่าจะเอาอย่างไร จะใช้กรอบแนวไหนในการกำหนดวันเพราะฝ่ายรัฐบาลก็มองว่าผลของคำวินิจฉัยทำให้ประตูในการกำหนดวันเลือกตั้งเปิดออกได้หลายทาง เพราะเวลานี้มันเลยวันยุบสภามานานจะร่วม 5 เดือนแล้วนับแต่วันยุบสภา 9 ธันวาคม 56 การกำหนดวันจึงจะใช้แกนกลางวันยุบสภาเป็นวันกำหนดวันเลือกตั้งไม่ได้อีกแล้ว

ตอนนี้มีการคุยกันว่าแนวทางการกำหนดวันเลือกตั้ง อาจทำได้ 4 แนวทางคือ

1. ใช้นับวันตั้งแต่ศาล รธน. มีคำวินิจฉัยคือ 21 มีนาคมออกไปแต่ไม่เกิน 45-60 วัน

2. เริ่มจากวันที่ กกต. รับเอกสารคำวินิจฉัยจากสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ 45-60 วัน

3. นับตั้งแต่วันที่ประกาศคำวินิจฉัยลงในราชกิจจานุเบกษาเช่นไม่เกิน 45 วัน

4. วันอื่นๆ ที่มีความเหมาะสมแต่ต้องไม่นานเกินไป ควรอยู่ในช่วง 30-45 วันหลัง กกต. หารือกับตัวแทนพรรคการเมืองแล้ว

ส่วน กกต. จะเอาแนวทางไหน ชั่วโมงนี้อำนาจการตัดสินใจหลักก็คือ กกต. หาใช่รัฐบาลรักษาการแต่อย่างใด

ในส่วนของพรรคการเมืองต่างๆ โดยเฉพาะพรรคที่มี ส.ส. จากการเลือกตั้งเมื่อปี 54 ไม่ว่าจะเป็นพรรครัฐบาลอย่างเพื่อไทย-ชาติพัฒนา-ชาติไทยพัฒนา-พลังชล หรือพรรคฝ่ายค้านอย่าง ภูมิใจไทยต่างก็แสดงท่าทีตรงกันว่า พร้อมจะลงเลือกตั้งแม้อาจจะเสี่ยงว่าการเลือกตั้งจะเป็นโมฆะอีกรอบแต่เชื่อว่าหากมีการจัดการเลือกตั้งจริงๆ แล้วม็อบ กปปส. ยังคงอยู่แต่ละพรรคโดยเฉพาะพรรคขนาดกลางและเล็กทั้งหมด แม้แต่กับพรรคเพื่อไทยก็คงไม่ทุ่มในการเลือกตั้งเหมือนเดิมเพราะเกรงจะสูญเงินเปล่า

ก็เหลือแต่พรรคประชาธิปัตย์เท่านั้นว่าจะเอาอย่างไร ซึ่งพรรคทั้งหลายก็ลุ้นมากอยากให้ประชาธิปัตย์ลงเลือกตั้งมีการทั้งยุ-เหน็บประชาธิปัตย์ ตลอดเพื่อหวังกระตุ้นให้ประชาธิปัตย์ลงเลือกตั้งอย่าบอยคอต เพราะต่างก็เชื่อว่าหาก ปชป. ส่งคนลงเลือกตั้งแบบจริงจังปัญหาเรื่องการขวางการเลือกตั้งก็จะไม่มีหรืออาจมีน้อย แต่จะไม่เหมือนตอน 2 ก.พ. 57 โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ หาก ปชป. ลงก็ทำให้การรับสมัครเลือกตั้ง-การจัดการเลือกตั้งจะราบรื่นไม่มีปัญหาต่อต้านเหมือนคราวที่แล้ว

เนื่องจากมวลชน กปปส. ที่จะไปขวางการเลือกตั้งก็คือฝ่ายสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ทั้งสิ้น ทำให้พรรคเพื่อไทยนอกจากกดดัน กกต. ให้เร่งจัดการเลือกตั้งแล้วก็พยายามสร้างแรงกดดันไปยังพรรค ปชป. เพื่อให้ส่งคนลงเลือกตั้งแม้ดูแล้วอาจยุไม่ขึ้นก็ตาม

ปชป.-กปปส.-สุเทพหลอมรวม?

ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์การตัดสินใจจะลงเลือกตั้งหรือไม่ หากดูจากท่าทีของแกนนำพรรคโดยเฉพาะกรรมการบริหารพรรคในสายกรุงเทพมหานครและภาคใต้ส่วนใหญ่ออกไปในทางกั๊กๆ คือบอกว่าหากจะลงเลือกตั้งต้องมั่นใจว่าการเลือกตั้งจะแก้ปัญหาของประเทศได้เลือกตั้งแล้วนำประเทศออกไปสู่ความขัดแย้งไม่ใช่เลือกตั้งแล้วยิ่งนำประเทศขัดแย้งหนักขึ้นและต้องมั่นใจว่าจะเป็นการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรม

อย่างเช่นท่าทีอย่างเป็นทางการของโฆษกพรรคคือ ชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ที่บอกว่าที่พรรคเพื่อไทยต้องการให้มีการเลือกตั้งเร็วที่สุดนั้นไม่ใช่คำตอบของประเทศ เพราะเป็นความคิดของนักเลือกตั้ง

“การหาทางออกให้ประเทศต้องหารือกับประชาชนที่ยังมีความเห็นต่างไม่เช่นนั้นกระบวนการเลือกตั้งที่สงบเรียบร้อยจะเกิดขึ้นได้ยาก ทั้งนี้พรรคพร้อมสนับสนุนกระบวนการเลือกตั้งให้กลับเป็นวิถีทางตามระบอบประชาธิปไตยไม่ใช่ลากประเทศไปเลือกตั้งโดยไม่แก้ปัญหาประเทศ จึงขอให้ กกต.คำนึงถึงเหตุปัจจัยที่จะนำไปสู่การเลือกตั้งที่สงบเรียบร้อยโดย กกต. สามารถเป็นเจ้าภาพขอความเห็นจากประชาชนก่อนเดินหน้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง” (3 เม.ย. 57)

จับทางได้ว่าคงยึดแนวทาง กปปส. คือ จะอ้างว่าต้องปฏิรูปก่อนการเลือกตั้งแต่ก็มีกรรมการบริหารพรรคบางส่วนเช่นนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติรองหัวหน้าพรรคสายภาคใต้ที่เห็นว่าพรรคควรต้องส่งคนลงสมัครรับเลือกตั้งอย่างไรก็ตาม หากดูจากรายชื่อกรรมการบริหารพรรคที่ต้องตัดสินใจว่าจะส่งคนลงเลือกตั้งหรือไม่รวมถึงหากต้องโหวตกันในที่ประชุมใหญ่อดีต ส.ส. พรรค

ท้ายสุดด้วยบารมีของสุเทพในพรรคประชาธิปัตย์ที่มีคนสนิทอยู่ในพรรคทั้งสายกรุงเทพฯ-ภาคใต้-กลาง-เหนือ-อีสาน แถมแกนนำ กปปส. หลายคนและคนที่อยู่รอบกายสุเทพบนเวที กปปส. ก็คือขุนพลเลือกตั้งของพรรคเกือบทั้งสิ้น อาทิ วิทยา แก้วภราดัย-ถาวร เสนเนียม-ณัฐพล ทีปสุวรรณ-ชัยวุฒิ บรรณวัฒน์-ศิริวรรณ ปราศจากศัตรู-ชินวรณ์ บุณยเกียรติ-สาทิตย์ วงศ์หนองเตย-ไตรรงค์ สุวรรณคีรี หากพวกนี้ไม่เอาด้วยกับการเลือกตั้ง ก็คงทำให้แกนนำพรรคพรรคประชาธิปัตย์ตัดสินใจลำบาก หากจะเข็นพรรคลงเลือกตั้งไปแบบลุยไม่เต็บสูบ

เพราะหากความเห็นคนในพรรคไม่เป็นเอกภาพก็ย่อมไม่เป็นผลดีต่อการจะลากถูเอาพรรคไปลงเลือกตั้งแบบไม่เต็มร้อย

ต้องไม่ลืมว่ามวลชนที่สนับสนุนสุเทพ-กปปส. จากสถานีรถไฟสามเสน-อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จนมาสวนลุมพินีจนเกิดเป็นมวลมหาประชาชนทั้งหมดก็คือกลุ่มประชาชนที่ไม่เลือกพรรคเพื่อไทยและเชื่อว่าเกือบ 70-80 เปอร์เซ็นต์ก็คือคนที่จะเทคะแนนเลือกพรรคประชาธิปัตย์ในการเลือกตั้งทุกครั้งอีกทั้งเกิน 60 เปอร์เซ็นต์ของมวลมหาประชาชนก็คือคนกรุงเทพฯ-คนใต้ ที่เอาด้วยกับการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง

ดังนั้นหากประชาธิปัตย์ส่งคนลงเลือกตั้ง ที่ทำให้พรรคยังพออ้างได้ว่าเล่นการเมืองในกติกาประชาธิปไตย ไม่ได้รับลูกกปปส. ทุกเรื่อง แต่หากถึงวันเลือกตั้งถ้า สุเทพ-กปปส. ยืนยันในหลักการให้ขัดขวางการเลือกตั้ง รณรงค์ให้โนโหวตพรรคประชาธิปัตย์ ที่ยังไงก็ต้องแพ้การเลือกตั้งให้กับเพื่อไทยอยู่แล้วคะแนนจะยิ่งดำดิ่งทั้งระบบเขตและปาร์ตี้ลิสต์

ด้วยเหตุผลที่ประเมินแล้วเสียมากกว่าได้ ทำให้ประชาธิปัตย์จึงไม่ยอมแสดงท่าทีใดๆ ในเรื่องนี้เพื่อรอประเมินสถานการณ์จนถึงที่สุด เช่น หากยิ่งลักษณ์พ้นจากตำแหน่งเพราะ ป.ป.ช. หรือศาลรัฐธรรมนูญ ทางทักษิณ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทยจะเอาอย่างไร หรือหากมีการออกพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งจะอยู่ในช่วงไหน เป็นต้น

อีกปมหนึ่งที่ยังไม่สะเด็ดน้ำก็คือเรื่องปัญหาข้อกฎหมาย เนื่องจากตาม พ.ร.บ.พรรคการเมือง พ.ศ. 2550 มาตรา 91 (2) ที่เป็นบทบัญญัติว่าการสิ้นสภาพพรรคการเมืองมาตราดังกล่าวบัญญัติว่า พรรคการเมืองต้องสิ้นสภาพการเป็นพรรคการเมืองหากไม่ส่งผู้สมัครเข้ารับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในการเลือกตั้งทั่วไป 2 ครั้งติดต่อกัน หรือเป็นเวลา 8 ปีติดต่อกัน สุดแต่ระยะเวลาใดจะยาวกว่ากัน

เพราะแม้หลายคนจะบอกว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญชัดเจนว่า การเลือกตั้ง 2 ก.พ. เป็นโมฆะ ต้องจัดการเลือกตั้งใหม่ หากพรรคประชาธิปัตย์ไม่ส่งคนลงเลือกตั้งอีกครั้ง ก็ไม่เข้าข่ายต้องโดนยุบพรรค เพราะเมื่อการเลือกตั้ง 2 ก.พ. เป็นโมฆะก็ต้องถือว่า ไม่เคยมีการเลือกตั้งมาก่อน หากพรรคไม่ส่งคนลงเลือกตั้งอีกครั้งก็ต้องนับหนึ่งไม่ใช่นับสอง จึงไม่เข้าข่ายต้องโดนยุบพรรค

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ ก็มีข่าวว่าฝ่ายกฎหมายของสำนักงาน กกต. ก็ออกมาให้ข่าวทำนองว่า กกต. เห็นว่าคำวินิจฉัยของศาล ไม่ได้บอกว่า การเลือกตั้งไม่ได้เป็นโมฆะ แต่ศาลวินิจฉัยว่า พ.ร.ฎ. ยุบสภา พ.ศ. 2556 ในส่วนการกำหนดวันเลือกตั้งขัดต่อรัฐธรรมนูญแต่ก็ยังมองว่าหากประชาธิปัตย์ไม่ส่งคนลงเลือกตั้ง ก็อาจไม่เข้าข่ายโดนยุบพรรคเช่นเดียวกับความเห็นของนักกฎหมายสายเชียร์รัฐบาลก็มองว่าคำวินิจฉัยของศาลไม่ได้บอกว่าเลือกตั้งโมฆะแค่บอกว่าการเลือกตั้งไม่ชอบ

ดังนั้นคาดว่าหากถึงช่วงใกล้ๆ วันรับสมัครเลือกตั้งแล้วประชาธิปัตย์แสดงท่าทีอาจไม่ส่งคนลงเลือกตั้ง ไม่แน่พวกสายรัฐบาลอาจทำขู่ว่าจะลองยื่นเรื่องให้ กกต. หรือศาล รธน. วินิจฉัยเรื่องนี้เพื่อหวังยุบพรรคประชาธิปัตย์ก็ได้ แม้ดูแล้ว ไม่น่าจะเข้าข่ายต้องสิ้นสภาพพรรคการเมืองตาม พ.ร.บ. พรรคการเมืองก็ตาม

กำลังโหลดความคิดเห็น