คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติให้รับคำร้องสถานภาพนายกฯ “ยิ่งลักษณ์” ไว้วินิจฉัย กรณีการโยกย้ายตำแหน่ง “ถวิล เปลี่ยนศรี” พ้นจากตำแหน่งเลขาฯ สมช. เหตุส.ว.มีสิทธิเข้าชื่อ 1 ใน 10 ร้อง ศาลมีอำนาจรับ ขณะเดียวกัน ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องคดีที่ “เฉลิม” ผอ.ศรส.ขอให้สั่ง กปปส.ยุติการชุมนุมอ้างชุมนุมไม่สงบ พกอาวุธ ชี้ไม่เข้าหลักตาม ม. 68
วันนี้ (2 เมษายน) นายเชาวนะ ไตรมาศ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์รับคำร้องที่ประธานวุฒิสภา ส่งความเห็นของสมาชิกวุฒิสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 91 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหมสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 182 (7) ประกอบรัฐธรรมนูญมาตรา 268 หรือไม่ จากกรณีศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้คืนตำแหน่ง เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) แก่นายถวิล เปลี่ยนศรี และนายไพบูลย์ นิติตะวันส.ว.สรรหา และคณะรวม 28 คน เห็นว่าการที่นายกรัฐมนตรี โยกย้ายนายถวิล พ้นจากการเป็นเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาตินั้น ไม่ใช่เป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่การบริหารราชการตามนโยบายที่ได้แถลงไว้ต่อสภา แต่เป็นการใช้ตำแหน่งการเป็นนายกรัฐมนตรีเข้าไปแทรกแซงการเพื่อประโยชน์ของตนเอง เครือญาติ พรรคเพื่อไทยที่นายกรัฐมนตรีสังกัด เข้าข่ายต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 268 ประกอบมาตรา 266(2) และ(3) ไว้พิจารณาวินิจฉัย
เนื่องจากเห็นว่ากรณีตามคำร้องเป็นการยื่นตามรัฐธรรมนูญมาตรา 91 ประกอบมาตรา 182 วรรคสาม ที่ให้ส.ว.จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่สิทธิเข้าชื่อยื่นคำร้องต่อประธานวุฒิสภาเพื่อยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีที่มีการกระทำอันต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญสิ้นสุดลง จึงอยู่ในอำนาจที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับไว้วินิจฉัย โดยให้นายกรัฐมนตรี ยื่นคำชี้แจ้งแก้ข้อกล่าวหากลับมาภายใน 15 วันนับแต่วันได้รับสำเนาหนังสือ
นอกจากนี้ยังมีมติเอกฉันท์ไม่รับคำร้องที่ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ในฐานะส่วนตัวและฐานะผู้อำนวยการศูนย์รักษาความสงบ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ว่านายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงแป็นประมุข หรือกปปส. กับพวกรวม 54 คน กระทำการเพื่อล้มล้างการปกครองหรือกระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิถีทางที่ไมได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่ และขอให้ศาลสั่งระงับการชุมนุมดังกล่าว
โดย ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า ที่ร.ต.อ.เฉลิมระบุตามคำร้องว่านายสุเทพ กระทำการปิดเส้นทางจราจร จัดการชุมนุมในลักษณะดาวกระจายไปตามเส้นทางต่างๆ นำกลุ่มผู้ขุมนุมเข้ายึดพื้นที่ของหน่วยงานราชการเพื่อมิให้ข้าราชการเข้าทำงาน ปิดล้อมสถานที่รับสมัครส.ส. และหน่วยเลือกตั้ง ขัดขวางการใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งส.ส. ทำร้ายร่างกายประชาชน เจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมทั้งสะสมอาวุธปืน วัตถุระเบิดและอาวุธอื่นๆ โดยมีการพกพาไปตามสถานที่สาธารณะต่างๆ นั้น เป็นการกล่าวอ้างว่า นายสุเทพ กับพวกกระทำการที่เป็นความผิดอาญา และกฎหมายฉบับต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้ซึ่งต้องรับผิดชอบในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาจะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายนั้น และได้มีการดำเนินการจนกระทั่งศาลอาญาได้ออกหมายจับผู้ถูกร้องจำนวนหนี่งไว้แล้ว กรณีตามคำร้องจึงไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรคหนึ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรคสองได้ และเมื่อไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยแล้วคำขออื่นก็ไม่จำเป็นต้องพิจารณา