นายกฯ เรียก รมต.-ทีมงานถกข้อมูลคดีปล่อยโกงข้าว ก่อนช่วงบ่าย 2 แบกสังขารนั่งวีลแชร์มาแจง ป.ป.ช. เมินคำท้วงทีมงานที่ให้ส่งเอกสารแทน หวั่นมีผลผูกมัดส่งผลลบรูปคดี แจงไม่เคลียร์ ขณะที่ ป.ป.ช.ยังไม่ชี้มูล ยังบอกไม่ได้ว่าจะภายในเดือนเม.ย.หรือไม่ แต่จะทำอย่างเต็มที่พร้อมให้ความเป็นธรรม ตรงไปตรงมา ด้านทนายความ “ปู” วอนป.ป.ช.อย่าตัดพยาน
วันนี้ (31 มี.ค.) เวลา 09.30 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เดินทางเข้าสำนักปลัดกระทรวงกลาโหม (สป.กห.) เมืองทองธานี จากนั้นได้เรียกรัฐมนตรี เช่น นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี นายวราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและรมช.เกษตรและสหกรณ์ นายชัยเกษม นิติสิริ รมว.ยุติธรรม นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี พร้อมทีมทนาย นำโดยนายพิชิต ชื่นบาน คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง และนายบัญชา ปรมีศณาภรณ์ หารือเตรียมข้อมูลในการเข้าชี้แจงต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ต่อกรณีข้อกล่าวหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ปล่อยให้มีการทุจริตในโครงการรับจำข้าว
ต่อมาเวลา 14.10 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์เดินทางด้วยรถตู้ยี่ห้อโฟล์ค สีดำ ป้ายแดง ทะเบียน ฮภ 2924 กรุงเทพมหานคร จาก สป.กห.พร้อมด้วยนายนิวัฒน์ นายพงศ์เทพ นายวราเทพ นายชัยเกษม นายสุรนันทน์ พล.ต.ต.ธวัช บุญเฟื่อง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี พร้อมนายทีมทนาย นายพิชิต และนายนรวิชญ์ เดินทางมายังสำนักงาน ป.ป.ช.เพื่อเข้าชี้แจงต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.ท่ามกลางสื่อมวลชนนับร้อยที่มาติดตามทำข่าว โดยทันทีที่นายกฯ เดินทางมาถึงทีมงานได้รีบเข้าพยุงนายกฯ ลงจากรถเดินขึ้นบันไดเพื่อมานั่งวีลแชร์ที่ทีมรักษาความปลอดภัยนายกฯ ได้เตรียมรับนายกฯ ไว้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การที่นายกฯ ได้ตัดสินใจเดินทางไปชี้แจงข้อกล่าวหาด้วยตนเองนั้น เพราะต้องการปฏิบัติภายใต้กลไกข้อกฎหมายที่มีอยู่ ขณะที่รัฐมนตรีและทีมทนายได้ทักท้วงไม่ให้นายกฯ เดินทางไปชี้แจงด้วยตนเอง เนื่องจากเกรงว่านายกฯ จะไปชี้แจงแล้วอาจจะมีผลผูกมัดตัวนายกฯ เองและจะส่งผลทางลบต่อรูปคดีโครงการรับจำนำข้าวได้ อีกทั้งเกรงว่านายกฯ จะไม่สามารถตอบรายะเอียดในบางเรื่องได้ในทันที โดยแนะนำให้ส่งคำชี้แจงเป็นเอกสารแทน แต่นายกฯ ยังคงยืนยันที่จะเดินทางไป ป.ป.ช.ด้วยตัวเอง
ทั้งนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้ใช้เวลาชี้แจงเพียง 20 นาทีเท่านั้น ก่อนเดินทางกลับ โดยไม่ได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนแต่อย่างใด
ขณะที่ นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความผู้รับมอบอำนาจจากน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กรณีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว กล่าวภายหลังเข้าชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่า นายกฯได้ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาใน 2 ลักษณะ คือ 1.ส่งคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาเป็นลายลักษณ์อักษรจำนวน 150 แผ่น พร้อมเอกสารประกอบจำนวน 278 แผ่น และ 3 เล่ม และ2.ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาด้วยวาจา โดยยืนยันว่า ไม่ได้ปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวแต่อย่างใด พร้อมทั้งอ้างขอให้สอบพยานเพิ่มเติมจำนวน 11 ปาก เพื่อให้มาชี้แจงถึงที่มา มาตรการ และผลดีของโครงการรับจำนำข้าวซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาล รวมถึงแนวคิดของโครงการนี้ว่า มีประโยชน์ต่อประชาชนอย่างไร ทั้งนี้ หากคณะกรรมการป.ป.ช.จะตัดพยานที่ไม่ได้เกี่ยวข้องออกไป อยากให้ช่วยชี้แจงว่า เหตุผลว่า ทำไมจึงต้องตัดพยานปากดังกล่าวออกเพื่อให้เราได้รับทราบ เพราะคิดว่าพยานที่อ้างถึงมีความสำคัญต่อการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาเท่ากันหมดทุกคน ไม่อยากให้ตัดใครออกไป
ต่อมาเวลา 15.10 น. นายประสาท พงษ์ศิวาภัย กรรมการและโฆษก ป.ป.ช. แถลงภายหลังนายกฯ เข้าชี้แจงต่อ ป.ป.ช. ว่า ขอบคุณที่นายกฯ เดินทางมาชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาด้วยตัวเอง โดยนายกฯ ได้ชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษร และให้ถ้อยคำด้วยวาจาบางประเด็น ซึ่งนายกฯ ได้ขอต่อกรรมการ ป.ป.ช.ใน 2 ประเด็นคือ 1.ให้สอบพยานบุคคลรวมกว่า 10 ปาก โดยเป็นข้าราชการประจำและนักการเมือง 2.ขอส่งเอกสารเพิ่มเติมอีกจำนวนมาก ซึ่งทั้ง 2 คำร้องขอนายกฯ จะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ในวันที่ 1 เม.ย.นี้ และจะมีมติว่าจะอนุญาตให้ดำเนินการได้มากน้อยแค่ไหน เนื่องจากต้องพิจารณาดูว่าพยานที่นายกฯ ขอให้เพิ่มเติมนั้น มีความเกี่ยวข้องและจำเป็นต่อประเด็นที่ไต่สวนหรือไม่ และสอดคล้องอยู่ในการกระทำที่ถูกกล่าวหาว่าส่อ จงใจ ขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายหรือไม่ ถ้าเกี่ยวข้องก็จะสอบให้ ถ้าไม่เกี่ยวข้องก็จะไม่สอบ
นายประสาท กล่าวว่า ส่วนประเด็นเอกสารที่นายกฯ รัฐมนตรีขอคัดลอกเพิ่มเติมนั้น กรรมการ ป.ป.ช.อนุญาตให้คัดลอกสำเนาได้เต็มที่ เพราะถือเป็นการให้ความเป็นธรรมอย่างหนึ่ง แต่ต้องพิจารณาด้วยว่าเอกสารที่ร้องขอนั้นกระทบต่อสำนวนคดี หรือกระทบกับความปลอดภัยของผู้ให้ข้อมูลกับป.ป.ช.หรือไม่ ส่วนที่นายกฯ ขอขยายระยะเวลาในการตรวจสอบเอกสารที่มี 280 แผ่นเพิ่มเติมนั้น การขอขยายระยะเวลาต้องดูเหตุผลและความจำเป็น ซึ่งให้รอดูมติของที่ประชุม ป.ป.ช.ในวันที่ 1 เม.ย. ว่าจะเป็นอย่างไร หากกรรมการป.ป.ช.เห็นว่ามีความจำเป็นก็จะขยายระยะเวลาให้ ส่วนเป็นยื้อเวลาหรือไม่ตนขอไม่พูด และต้องดูเหตุผลเป็นกรณีไป
ผู้สื่อข่าวถามว่า นายกฯ ได้มองว่าป.ป.ช.มีการเร่งรัดคดีหรือไม่ นายประสาท กล่าวว่า กรรมการ ป.ป.ช.ยินดีให้ความเป็นธรรมและตรงไปตรงมา ไม่มีสีใด ไม่มีขั้วใด ไม่มีข้างใด กรรมการ ป.ป.ช.ชัดเจนตรงนั้น ซึ่งนายกฯ ได้ขอต่อกรรมการ ป.ป.ช.ว่าให้ความเป็นธรรมกับตัวท่านด้วย อย่างไรก็ตาม บรรยากาศครั้งนี้เป็นบรรยากาศที่ดี เพราะพูดกันด้วยความเข้าใจซึ่งกันและกัน ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่นายกฯ เข้าสู่กระบวนการตรวจสอบ ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี
เมื่อถามว่า มีการมองว่า ป.ป.ช.พยายามเร่งกระบวนการตรวจสอบคดีของนายกฯ เพราะต้องการหาทางลงให้ กปปส. นายประสาท กล่าวว่า คงไม่ใช่ เพราะกระบวนการไต่สวนของ ป.ป.ช.เป็นไปตามคำร้องที่บอกว่านายกฯ ส่อว่าจงใจ ไม่ใช่ข้อกล่าวหาที่ว่านายกฯ ผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในคดีอาญา ความหนักเบาความเข้มข้นในคดีก็จะต่างกัน คดีนายกฯ เป็นคดีที่ถูกกล่าวว่าส่อว่าจงใจ ไม่ใช่คดีอาญาซึ่งถือเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
เมื่อถามว่า จะสามารถชี้มูลความผิดนายกฯ ได้ภายในเดือน เม.ย.หรือไม่ นายประสาท กล่าวว่า จะบอกว่าสิ้นเดือน เม.ย. พูดไม่ได้ แต่จะดำเนินการอย่างเต็มที่