ผบ.ทอ.เผยต้องให้ จนท.เชี่ยวชาญ ใช้เรดาร์จับสัญญาณที่สะท้อนผิวเครื่องบิน MH370 รับพบสัญญาณปริศนาบินวกกลับมุ่งหน้าช่องแคบมะละกา ใกล้เคียงกับคำพูดนายกฯ มาเลย์ รอผลยืนยันร่วมวิทยุการบิน-มาเลเซีย เตรียมส่งข้อมูลให้ ผบ.ทอ.มาเลเซียวันนี้ ยันไม่พบสัญญาณเครื่องบินผ่านภาคเหนือของไทย - แจงเข็มเหินเวหามีหลายแบบ ไม่มีกติกาในการเรียกคืน
วันนี้ (18 มี.ค.) ที่ท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) กล่าวถึงกรณีเครื่องบินโบอิ้ง 777-200 สายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์ส เที่ยวบิน MH 370 เส้นทางบินจากจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ไปยังกรุงปักกิ่งของจีนเมื่อวันที่ 8 มี.ค.ได้หายไปจากจอเรดาร์ว่า กองทัพอากาศไทยมีสถานีเรดาร์ทั่วประเทศ 12 แห่งโดยทางภาคใต้มี 3 แห่งที่หาดใหญ่ ภูเก็ต และเกาะสมุย ในระหว่างที่เครื่องบินดังกล่าวได้บินผ่านในช่วงเที่ยงคืนของวันที่ 8 มี.ค. โดยบินขึ้นจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ มุ่งหน้าไปทางตะวันออกเฉียงเหนือสู่ประเทศเวียดนาม กระทั่งเมื่อเวลา 00.22 น.ปรากฏว่ามีสัญญาณของเครื่องบินหายไปจากเรดาร์ ซึ่งได้วิเคราะห์กันได้หลายประเด็น การจะใช้เรดาร์ที่เรียกว่า primary radar จับสัญญาณนั้นทำไม่ได้ จึงต้องใช้เรดาร์ในการจับสัญญาณที่สะท้อนผิวของเครื่องบิน หรือที่เรียกว่า skin paint ซึ่งการจะจับ skin paint ได้ต้องใช้เจ้าหน้าที่เทคนิคที่เชี่ยวชาญ และใช้การตรวจสอบพอสมควร
“ในส่วนของกองทัพอากาศนั้น เรดาร์ที่อยู่ภาคใต้เราก็จะมีข้อมูลปรากฏอยู่ที่สุราษฎร์ธานี โดยรวมข้อมูลทั้งหมดจากภูเก็ต หาดใหญ่ สมุย เราก็พบว่าสัญญาณบางอย่างที่ไม่ชัดเจนที่ต้องรอตรวจสอบกับวิทยุการบินของไทย และเรดาร์ของมาเลเซียว่าถูกต้องตรงกันหรือไม่ ทั้งนี้ สัญญาณพบว่ามีการเลี้ยวกลับวนอีกหนึ่งรอบ และย้อนกลับเส้นทางเดิม ก่อนจะบินเฉียดด้านเหนือของกรุงกัวลาลัมเปอร์ และวกขึ้นไปที่บัตเตอร์เวิร์ต แบะสัญญาณสกิน เพนต์ก็หายไป เราเข้าใจว่าเครื่องบินน่าจะมีทิศทางไปช่องแคบมะละกา ซึ่งเราไปเทียบกับคำสัมภาษณ์ของนายนาจิบ ราซัค นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ที่ให้สัมภาษณ์ว่าเครื่องบินวนย้อนกลับมาทางใต้ชายแดนของประเทศไทย แล้วเลี้ยวขึ้นทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือเข้าช่องแคบมะละกา และไปทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือขึ้นผ่านทะเลอินเดียขึ้นไป ซึ่งเป็นข้อมูลที่หนึ่งที่ปรากฏสัญญาณ” ผบ.ทอ.กล่าว
ผบ.ทอ.กล่าวว่า ทั้งนี้ยังมีอีกหลายทางวิเคราะห์ว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่เครื่องบินอาจจะบินไปทางเส้นทางเดิม ขึ้นฝั่งที่เวียดนาม เข้าประเทศจีนแล้วเลี้ยวซ้ายกลับไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือและหายไปจากจอเรดาร์ หรือหายไปจากการตรวจจับ skin paint ซึ่งบังเอิญว่าสถานีเรดาร์ทางภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือของไทยมีรัศมีตรวจจับไม่ถึงจึงไม่พบข้อมูลใดๆ ดังนั้น ต้องรอการตรวจสอบจากทฤษฎีแรกที่สอดคล้องกับการให้สัมภาษณ์ของนายกรัฐมนตรีมาเลเซียว่าเรามีสัญญาณ skin paint ขึ้นรอการตรวจสอบว่าใช่เครื่องบินลำเดียวกันหรือไม่
ส่วนทฤษฎีที่ 2 ที่บินไปทางเวียดนามเข้าจีนและวกกลับมานั้น เราตรวจไม่พบ เพราะเรดาร์เราไม่สามารถตรวจจับอะไรได้ ทั้งนี้เราหวังว่าเครื่องบินดังกล่าวไม่น่าถูกทำลายหรือเกิดอุบัติเหตุ ชนพื้น ชนทะเล หรืออาจเป็นกรณีไฮแจ็กหรือจี้เครื่องบิน ก็จะเป็นบทเรียนหนึ่งว่าเกิดขึ้นได้ด้วยวิธีการผสมผสานระหว่างคนกับเครื่องมือได้อย่างไร ซึ่งต้องติดตามกันต่อไป ทั้งนี้ ภายในวันนี้ (18 มี.ค.) จะนำข้อมูลที่เรดาร์กองทัพอากาศตรวจพบส่งให้ ผบ.ทอ.มาเลเซียตรวจสอบข้อมูลอีกครั้ง
เมื่อถามว่า คิดว่าเรื่องดังกล่าวมีเรื่องความมั่นคง หรือมีเบื้องหลังอะไรหรือไม่ พล.อ.อ.ประจินกล่าวว่า กรณีที่สถานการณ์ความมั่นคงเบาบาง เราก็ไม่ต้องเปิดเรดาร์ทั้งสองระบบตลอด 24 ชั่วโมง กรณีที่มีความขัดแย้งหรือมีแนวโน้มภัยคุกคามรุนแรงก็ต้องเปิดระบบเรดาร์ทุกระบบ และเสริมการบินลาดตระเวน และระบบป้องกันภัยทางอากาศด้วย แต่สัปดาห์ที่แล้วเป็นสถานการณ์เบาบาง เราจึงดำเนินการในลักษณะที่ผ่อนคลาย เมื่อต้องการข้อมูลต้องใช้เวลาในการตรวจสอบ และเทียบเคียงกับเรดาห์ของมาเลเซีย และวิทยุการบิน สำหรับในภูมิภาคก็ต้องดูว่าเรื่องการบินมีความจำเป็นในการเดินทาง และมีเครื่องบินหลายแบบที่มีการลาดตระเวนเพื่อหาข่าว รวมถึงดาวเทียมถ่ายภาพในอากาศ ดังนั้นกิจการด้านการบินทั้งปกติและอวกาศมีความจำเป็นที่ต้องทำต่อเนื่อง และแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน ถ้าเราเป็นพันธมิตร และมีเครือข่ายมาก เราก็จะได้ข้อมูลมาก ซึ่งเป็นบทเรียนของกองทัพในภูมิภาคที่ต้องพูดคุยกัน แต่กรณีนี้เป็นสายการบินพลเรือนจะเกี่ยวข้องกับสายการบินมาเลเซีย และบริษัทผู้ผลิตโบอิ้ง และบริษัทผู้ควบคุมการบิน คือ มาเลเซีย และเวียดนาม ซึ่งได้รับช่วงต่อด้วย
ผู้บัญชาการทหารอากาศยังกล่าวถึงกรณีที่นายนัสเซอร์ ยีหมะ หัวหน้าการ์ดเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) ได้รับประกาศนียบัตรและเข็มนักเหินเวหากิตติมศักดิ์ของหน่วยบัญชาการอากาศโยธิน (อย.) กองทัพอากาศ พร้อมเครื่องหมายปีกร่มนักเหินเวหากิตติมศักดิ์ว่า เรื่องปีกมีหลายแบบ แต่ละแบบมีความสำคัญลดหลั่นกันไป ทั้งแบบที่ลงนามโดย ผบ.ทอ. และปีกที่ลดหลั่นไปตามสถานการณ์ก็จะให้หัวหน้าส่วนราชการเป็นผู้อนุมัติ โดยมีเกณฑ์ว่าต้องเป็นบุคคลที่มีความเหมาะสม ทำคุณประโยชน์ให้แก่ส่วนราชการ ส่วนบางคนก็ต้องเข้าหลักสูตร หรือบางคนก็เป็นกิตติมศักดิ์โดยไม่ได้เข้าหลักสูตร เมื่อได้ไปแล้วก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคนว่าจะนำไปประดับเป็นเครื่องหมายบนเครื่องแบบ หรือจะนำไปเพื่อเป็นเครือข่ายของกองทัพอากาศช่วยเหลือประเทศชาติหรือประชาชน สิ่งนี้เราต้องการสร้างเพื่อให้เกิดเครือข่ายให้มีความสร้างสรรค์ แต่กรณีที่นำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์นั้นกองทัพอากาศยังไม่มีกติกาในการเรียกคืน ขณะนี้มองว่าเป็นสิ่งที่ทุกคนน่าจะเข้าใจ เมื่อได้รับไปแล้วควรที่จะรักษาไปในแนวทางความภาคภูมิใจของตนเอง