xs
xsm
sm
md
lg

มติศาล รธน.เอกฉันท์ กู้ 2 ล้านล้านขัดรัฐธรรมนูญ เสียงข้างมากชี้รัฐตรา กม.มิชอบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตุลาการศาล รธน.มีคำวินิจฉัย พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านแล้ว เอกฉันท์ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ม.169 และ 170 พร้อมลงมติ 6 ต่อ 2 ชี้กระบวนการตรากฎหมายเป็นไปโดยมิชอบ



วันนี้ (12 มี.ค.) เมื่อเวลาประมาณ 13.00 น. นายเชาวนะ ไตรมาศ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า ที่ประชุมศาลรัฐธรรมนูญมีมติวินิจฉัยว่า ร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ (ในวงเงิน 2 ล้านล้านบาท) ตราขึ้นโดยขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 169 วรรคหนึ่ง และ มาตรา 170 ซึ่งก็จะถือว่าร่างกฎหมายดังกล่าวตกไปทั้งฉบับ

ทั้งนี้ มีรายงานว่ามติที่วินิจฉัยว่าร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านขัดรัฐธรรมนูญนั้นเป็นมติเอกฉันท์ ขณะเดียวกันมีมติ 6 ต่อ 2 ว่ากระบวนการตรา พ.ร.บ.ดังกล่าว ไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากมีหลักฐานชัดเจนว่ามีการเสียบบัตรแทนกัน

นอกจากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญยังมีมติรับคำร้องที่คณะกรรมการการเลือกตั้งของให้วินิจฉัยปัญหาความขัดแย้งระหว่าง กกต.และรัฐบาลกรณีการจัดเลือกตั้ง ส.ส. 28 เขตเลือกตั้งภาคใต้ที่ไม่มีผู้สมัคร ต้องตราเป็นพระราชกฤษฎีกาหรือไม่ รวมทั้งรับคำร้องที่ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอเรื่องพร้อมความเห็นกรณีนายกิตติพงศ์ กมลธรรมวงศ์ อาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขอให้วินิจฉัยว่ากระบวนการจัดการเลือกตั้ง 2 ก.พ. ของคณะกรรมการการเลือกตั้งไม่ชอบด้วยกฎหมายและขอให้สั่งให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ

ต่อมาสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้เผยแพร่เอกสารข่าวภายหลังการประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่า ที่ประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ ว่าร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ..มีขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหมวด 8 ว่าด้วยการเงิน การคลัง และงบประมาณ รวมทั้งมีมติเสียงข้างมากเห็นว่า ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวตราขึ้นโดยไม่ถุกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้คำวินิจฉัยดังกล่าวมาจากกรณีที่ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่งความเห็นของส.ส.รวม 2 คำร้อง ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 154 วรรคหนึ่ง( 1)ว่า ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 169 วรรคหนึ่งและมาตรา 170 หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งศาลได้ตั้งประเด็นวินิจฉัย 2 ประเด็น

โดยในประเด็นร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวตราขึ้นโดยถูกต้องตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ เห็นว่าจากพยานหลักฐานที่ได้จากการไต่สวนฟังข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติว่านายนริศร ทองธิราช ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย ได้ใช้บัตรแสดงตนและออกเสียงลงคะแนนในระบบอิเล็กทรอนิกส์ แทนส.ส.รายอื่นในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันที่ 20 ก.ย. 56 ที่มีการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ฉับนี้ ซึ่งรัฐธรรมนูญมาตรา 122 บัญญัติว่าส.ส. และส.ว. ย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยโดยไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมาย หรือความครอบงำใด และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์ และมาตรา 126 วรรคสามบัญญัติว่า สมาชิกคนหนึ่งย่อมมีเสียงหนึ่งในการออกเสียงลงคะแนน ศาลรัฐธรรมนูญโดยมติเสียงข้างมาก จึงเห็นได้ว่า การลงคะแนนเสียงแทนกันในการพิจารณาร่างพ.ร.บ.นี้ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญทั้งสองมาตราดังกล่าว

ส่วนในประเด็นเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ก่อนวินิจฉัยศาลได้พิจารณาว่า เงินกู้ตามพ.ร.บ.นี้เป็นเงินแผ่นดินตามความหมายของรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งเห็นว่าคำว่า “เงินแผ่นดิน” ไม่ได้มีการกำหนดความหมายไว้โดยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายใด แต่เมื่อพิจารณาจากพ.ร.ป.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน 42 มาตรา 4 ประกอบความเห็นของพยานบุคคลซึ่งเป็นผู้มีประสบการณ์และเชี่ยวชาญด้านการเงิน การคลัง และงบประมาณ ตลอดจนบรรดากฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่า เงินกู้ตามร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นเงินแผ่นดินตามความหมายของรัฐธรรมนูญ

และเมื่อพิจารณาแล้ว่าเงินกู้ดังกล่าวเป็นเงินแผ่นดินการใช้จ่ายก็ต้องอยู่ในบังคับรัฐธรรมนูญมาตรา 169 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติให้การจ่ายเงินแผ่ดินจะกระทำได้เฉพาะที่ได้อนุญาตไว้ในกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่าย กฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ กฎหมายว่าด้วยการโอนงบประมาณ หรือ กฎหมายว่าด้วยการเงิน การคลัง เว้นแต่ในกรณี "จำเป็นเร่งด่วน" รัฐบาลจะจ่ายไปก่อนก็ได้แต่ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติและต้องตั้งงบประมาณรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลังในพ.ร.บ.โอนเงินงบประมาณรายจ่าย พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม หรือพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณถัดไป แต่ตามข้อเท็จจริงปรากฏว่า การดำเนินการเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศตามที่ร่างพ.ร.บ. นี้มุ่งประสงค์ ยังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน

การใช้จ่ายเงินแผ่นดินต้องไปตามกรอบวินัยการเงินการคลังตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสอง เพื่อการรักษาเสถียรภาพ การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และความเป็นธรรมในสังคม ดังนั้น การที่ ร่างพ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. .... บัญญัติให้กู้เงินตามร่างพ.ร.บ. บัญญัติให้เงินกู้ตามร่างพ.ร.บ.นี้นำไปใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์โดยไม่ต้องนำส่งคลังตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณและกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง และบัญญัติให้คณะรัฐมนตรีรายงานการกู้เงิน ผลการดำเนินงาน และการประเมินผลการดำเนินการตามแผนงานในแต่ละยุทธศาสตร์ต่อสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเพื่อทราบเท่านั้น ซึ่งแตกต่างจากที่พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ2502 อันเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการจ่ายเงินแผ่นดินบัญญัติไว้ ทำให้การควบคุมตรวจสอบการใช้จ่ายเงินดังกล่าวไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องว่าด้วยกรอบวินัยการเงินการคลังที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ หมวด 8 ร่างพ.ร.บ.ในส่วนดังกล่าวจึงขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีมติเอกฉันท์ ว่า ร่างพ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. .... ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหมวด 8 ว่าด้วยการเงิน การคลัง และงบประมาณ ด้วยเหตุผลดังกล่าว ศาลจึงมีคำวินิจฉัยว่า ร่างพ.ร.บ.นี้ตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ และมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งข้อความดังกล่าวเป็นสาระสำคัญของร่างพ.ร.บ.นี้ จึงมีผลให้ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวนี้ เป็นอันตกไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 154 วรรคสาม ที่ระบุว่า ในระหว่างที่ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยให้นายกรัฐมนตรีระงับการดำเนินงานเพื่อประกาศใช้ร่างพ.ร.บ.จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย ถ้าศาลวินิจฉัยว่าร่างพ.ร.บ.นั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือตราโดยไม่ถูกต้องให้ร่างพ.ร.บ.นั้นเป็นการตกไป

ทั้งนี้ มีรายงานว่ามติเอกฉันท์ที่เห็นว่าร่าง พ.ร.บ.กู้เงินฉบับนี้เนื้อหาขัดรัฐธรรมนูญนั้นเป็นมติ 9 ต่อ 0 ส่วนที่มีมติว่ากระบวนการตราขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 122 นั้น เป็นมติ 6 ต่อ 2 เสียง โดย 2 เสียงเห็นว่ากระบวนการตราไม่ขัดคือ นายชัช ชลวร และนายเฉลิมพล เอกอุรุ และอีก 1 เสียงคือนายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี ที่ในชั้นการแถลงคำวินิจฉัยส่วนตนนั้นได้วินิจฉัยในประเด็นเนื้อหาพระราชบัญญัติเลยว่าขัดรัฐธรรมนูญ ทำให้เมื่อมีการลงมติในประเด็นกระบวนการตรา ซึ่งเป็นประเด็นแรกของการวินิจฉัยนั้น นายอุดมศักดิ์ เห็นว่าไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยในประเด็นนี้ เพราะเพราะไม่ได้ทำให้ผลของคำวินิจฉัยเปลี่ยนแปลงไป

รายงานพิเศษ : ย้อนรอย พ.ร.บ.กู้ชาตินี้ ใช้หนี้(ยัน)ชาติหน้า …ก่อนพบจุดจบ!!











กำลังโหลดความคิดเห็น