xs
xsm
sm
md
lg

ปธ.ศาล ปค.สูงสุด แย้มชงตั้งตำรวจศาล คุ้มครองตุลาการ ไม่พูดรัฐส่อยึกยักคืนเก้าอี้ “ถวิล”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ประธานศาลปกครองสูงสุด แถลงผลงาน 13 ปี เปิดแผนกคดีบริหารงานบุคคล เผยพิจารณาเสร็จแล้วร้อยละ 77.96 คดีพิพาทการสรรหาถูกร้องมากสุด แสดงปัญหาหน่วยงานรัฐใช้ดุลพินิจแต่งตั้ง รับตุลาการโดนข่มขู่มาก ถึงเวลาแล้วต้องตั้งหน่วยงานคุ้มครอง เช่น ตำรวจศาล ชี้หากไม่ปฏิบัติงานได้อย่างปลอดภัยอาจมีผลต่อคดีได้ ไม่พูด “ยิ่งลักษณ์” ยึกยักคืนเก้าอี้ “ถวิล” ย้่ำจบแล้ว

วันนี้ (10 มี.ค.) ที่สำนักงานศาลปกครอง นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด ได้แถลงผลการดำเนินงานศาลปกครองครบรอบ 13 ปี และเปิดทำการแผนกคดีบริหารงานบุคคลในศาลปกครองสูงสุด และศาลปกครองชั้นต้น 10 แห่งทั่วประเทศ โดยกล่าวว่าตั้งแต่เปิดทำการศาลปกครอง เมื่อวันที่ 9 มี.ค.2544 จนถึง 31 ธ.ค.2556 ศาลปกครองมีคดีเข้าสู่การพิจารณาทั้งหมด 94,920 คดี พิจารณาแล้วเสร็จ 74,000 คดี คิดเป็น 77.96 % ของคดีทั้งหมด มีคดีคงค้างจำนวน 20,920 คดี คิดเป็น 22.04% ของคดีรับเข้าทั้งหมด โดยในจำนวนข้อพิพาทที่นำมาฟ้องต่อศาลปกครองมากที่สุด คือ คดีเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล มีปริมาณคดีทั้งหมด 16,381 คดี คิดเป็น 23.10% ในจำนวนนี้เป็นคดีที่ยื่นฟ้องศาลปกครองสูงสุดโดยตรง 59 คดี และเป็นคดีที่ยื่นฟ้องในศาลปกครองชั้นต้น 16,322 คดี

ทั้งนี้ คดีบริหารงานบุคคลที่ฟ้องมากเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับการสรรหา แต่งตั้งโยกย้าย คิดเป็น 49.48% รองลงมาเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับคำสั่งลงโทษทางวินัย คิดเป็น 27.55% แสดงให้เห็นว่า การบริหารงานบุคคลของหน่วยงานของรัฐ ยังมีปัญหาในการบริหาร การใช้อำนาจ การใช้ดุลพินิจที่ถูกต้องและเป็นธรรม ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ของรัฐได้รับความเดือดร้อนเสียหาย ทำให้ประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานเพื่อประโยชน์สาธารณะลดลง และอาจกระทบต่อบุคคลอื่นที่เป็นเพื่อนร่วมงาน สมาชิกในครอบครัว รวมถึงบรรทัดฐานการบริหารงานในหน่วยงานนั้นๆ ดังนั้นการพิจารณาพิพากษาคดี บริหารงานบุคคลจึงต้องทำด้วยความรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และเป็นธรรม ดังนั้นในโอกาสครบรอบ 13 ปี ศาลปกครองจึงได้เปิดแผนกคดีเกี่ยวการบริหารงานบุคคล ขึ้นในศาลปกครองสูงสุด และศาลปกครองชั้นต้น 10 แห่ง เพื่อให้การพิจารณาคดีเป็นไปด้วยความรวดเร็วเป็นธรรม และเป็นบรรทัดฐานให้กับหน่วยงานทางปกครองอื่นๆยึดถือปฏิบัติต่อไป

นายหัสวุฒิ ยังกล่าวอีกว่า รอบปีที่ผ่านมาถือว่าองค์กรตุลาการ และศาลยุติธรรม ถูกข่มขู่คุกคามเป็นจำนวนมาก เกิดทั้งเหตุยิงปืน ปาระเบิด ใส่ศาลยุติธรรม มีการให้ข่าวข่มขู่คุกคามตัวตุลาการหรือผู้พิพากษาในคดีอย่างที่ไม่เคยมีการก่อนในรอบกว่า 100 ปี ที่มีการจัดตั้งศาลยุติธรรมมา ส่วนตัวจึงเห็นว่า ถึงเวลาแล้วที่องค์กรตุลาการและศาลยุติธรรม ควรมีหน่วยงานภายในขึ้นมาคุ้มครองดูแล ผู้พิพากษา ตุลาการ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ของศาล ให้ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างปลอดภัยและตรงไปตรงมา หรืออาจเรียกว่า “ตำรวจศาล” เหมือนศาลยุติธรรมในต่างประเทศที่มีตำรวจศาลที่ทำหน้าที่คุ้มครองดูแล ตุลาการ และเจ้าหน้าที่ศาลโดยเฉพาะ ไม่ต้องพึ่งหน่วยงานภายนอก

“นี่เป็นเรื่องสำคัญที่ควรจะมีการพูดคุยริเริ่มกันอย่างจริงจัง ถ้าตุลาการหรือผู้พิพากษาไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างปลอดภัย การตัดสินคดีความใดก็อาจเกิดการเบี่ยงเบนได้ บ้านเมืองก็ไม่เกิดความสงบสุข ในอดีตผมเคยถูกขู่ฆ่า ก็มีเพื่อนฝูงหลายคนอาสาจะหาเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานความมั่นคงมาดูแลคุ้มครองให้ แต่ตนก็ไม่รู้ว่าคนที่ขู่ฆ่านั้นเป็นใคร อาจจะเป็นคนจากหน่วยงานความปลอดภัยที่ถูกส่งมาดูแลอยู่ข้างๆ ผมก็ได้ ฉะนั้นหน่วยงานแบบตำรวจศาลจะต้องเป็นหน่วยงานที่ขึ้นตรงกับศาลโดยเฉพาะเพื่อสร้างระบบดูแลคุ้มครองศาล และเจ้าหน้าที่ศาลภายในเขตอำนาจศาล แต่การที่องค์กรจะจัดตั้งหน่วยงานแบบตำรวจศาลได้หรือไม่นั้น ก็ต้องขึ้นอยู่กับอำนาจของฝ่ายบริหาร เพราะศาลไม่มีอำนาจที่จะไปจัดตั้งเอง อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ยังเป็นเพียงแนวคิดส่วนตัว ยังไม่ได้หารือกับประธานศาลฎีกา และประธานศาลรัฐธรรมนูญ” นายหัสวุฒิ กล่าว

นายหัสวุฒิ ยังปฏิเสธที่จะตอบคำถามว่า ศาลปกครองจะมีข้อเสนอแนะถึงทางออกในการแก้ปัญหาความขัดแย้งในบ้านเมืองขณะนี้อย่างไร โดยกล่าวว่า ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในวันนี้ เป็นปัญหาของฝ่ายบริหารและฝ่ายปกครอง ศาลไม่มีอำนาจไปก้าวก่าย แม้ว่าศาลจะเป็นหนึ่งในองค์กรหลักของบ้านเมือง เช่นเดียวกับฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ เพราะศาลจะมีอำนาจได้ก็ต่อเมื่อมีคนมาฟ้องคดีเท่านั้น หากเป็นไปได้ อยากให้องค์กรอื่นที่ทำหน้าที่คล้ายศาล ขึ้นมาเป็นหลักให้กับบ้านเมืองมาก อย่าง องค์กรตำรวจ เป็นหลักให้บ้านเมืองได้ ถ้าตำรวจปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย เป็นกลาง ตรงไปตรงมา ใครผิดก็จับกุมดำเนินคดีไปตามความผิด ตนเชื่อว่าบ้านเมืองก็จะเกิดความเรียบร้อย สุดท้ายนี้ตนก็อยากเห็นบ้านเมืองได้รับการแก้ปัญหาความขัดแย้งอย่างสันติวิธี ไม่ใช้ความรุนแรง ซึ่งก็เป็นปัญหาที่พวกเราทุกคนต้องขบคิดกันต่อไป

นายหัสวุฒิ ยังกล่าวถึงกรณีที่ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี ที่ระบุว่า นายกรัฐมนตรีอาจจะคืนตำแหน่ง เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ให้นายถวิล เปลี่ยนศรี ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ไม่ทันใน 45 วัน ตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ว่า ไม่ขอแสดงความคิดเห็น เนื่องจากจะไปก้าวก่ายอำนาจตุลาการเจ้าของคดี ต้องรอให้ถึงเวลานั้นก่อนว่า นายกรัฐมนตรี ได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือไม่ และหากนายกฯไม่ปฏิบัติตาม นายถวิล มายื่นร้องต่อศาลปกครองสูงสุด ให้มีการบังคับคดีหรือไม่ ซึ่งตั้งแต่มีศาลปกครองสูงสุดมาเรายังไม่เคยเจอปัญหาของการบังคับคดีไม่ได้ และก็ไม่อยากเจอคดีนี้เป็นคดีแรก

“สำหรับคดีของนายถวิลนั้น ถือว่าจบแล้ว เพราะเราได้ทำการพิจารณาคดีในที่ประชุมใหญ่ อย่างเปิดเผย เปิดโอกาสให้ตุลาการเสียงข้างน้อยที่ไม่เห็นด้วยต่อการพิพากษาให้คืนตำแหน่งนายถวิลภายใน 45 วัน ได้แสดงความคิดเห็นแย้งออกมา ซึ่งถือว่ากระบวนการนี้เป็นหลักการหนึ่งในหลักการปกครองแบบประชาธิปไตย” ประธานศาลปกครองกล่าว







กำลังโหลดความคิดเห็น