“ยิ่งลักษณ์” ประชุมดับไฟป่า-ภัยแล้งเชียงใหม่ จี้ดูแลแหล่งน้ำป้องกันภัยแล้ง ก่อนไปชมแนวทำกันไฟ ซักซ้อมดับไฟป่า ยื่นเงื่อนไข “สุเทพ” เลิกชุมนุมปล่อยเลือกตั้งต่อก่อน อ้างจะตอบคำถามนานาชาติไม่ได้ แต่ยึกยักยอมเจรจา พร้อมขอตัวช่วย ส่อแววดึงต่างชาติแจมข้อเสนอ ดักคอ ผบ.ทร.ต้องมีคำถามหน่วยซีลเป็นการ์ดม็อบ ส่งตัวแทนรับทราบข้อหา ป.ป.ช.
คลิกที่นี่ เพื่อฟัง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ให้สัมภาษณ์
วันนี้ (27 ก.พ.) ที่ จ.เชียงใหม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้เดินทางมายังศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติจังหวัดเชียงใหม่ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เป็นประธานการประชุมเรื่องไฟป่าและหมอกควัน และการเผชิญเหตุภัยแล้ง โดยมีนายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกฯ นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกฯ และรมว.เกษตรและสหกรณ์ นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทย นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม นายสรวงศ์ เทียนทอง รมช.สาธารณสุข อธินายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรลประทาน หัวหน้าส่วนราชการส่วนที่เกี่ยว และผู้ว่าฯ 11 จังหวัดภาคเหนือ เข้าร่วมการประชุม
รักษาการนายกฯ กล่าวมอบนโยบายว่า อยากให้เน้นการดูแลประชาชนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคให้ทั่วถึงและมีความสะอาด จะห่วงมากปัญหาน้ำประปาเค็ม อยากให้ทาง ปภ.และการประปา หารือร่วมกันทำให้ประชาชนสบายใจ น้ำที่ใช้ภาคการเกษตรวางหลักการบริหารจัดการดูแลระดับภูมิภาคอย่างเท่าเทียบในทุกพื้นที่ โดยทางจังหวัดหารือร่วมกับประชาชน ส่วนการประกาศเขตพื้นที่ภัยแล้งลงเป็นหมู่บ้าน ไม่ประกาศเป็นจังหวัดทำให้การดูแลทั่วถึง คุยวันนี้เพื่อป้องกัน ไม่ใช่ประกาศภัยแล้งแล้วถึงแก้ โดยกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทานร่วมจัดโซนนิ่งจัดแบ่งพื้นที่ภัยแล้ง วางแผนบริหารจัดการน้ำ มีกติการการจ่ายน้ำให้ทั่วถึงทั้งด้านการอุปโภคบริโภคที่เพียงพอ แล้วถึงมีการจัดสรรลงพื้นที่เกษตร บูรณาการปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยทดแทน และเสริมอาชีพเสริมชั่วคราว จัดหาถังเก็บน้ำ สำรองน้ำตามหมู่บ้านทั้งหมดเป็นการแก้ไขปัญหาองค์รวม
จากนั้นนายกฯ ลงพื้นที่ร่วมทำแนวกันไฟ และชมการซักซ้อมดับไฟป่าที่ศูนย์พุทธธรรมบ้านช่างเคี่ยง ต.ช้างเผือก อ.เมือง จ.เชียงใหม่
ขณะที่การรักษาความปลอดภัย พล.ต.ท.สุเทพ เดชรักษา ผบช.ภ.5 เปิดเผยว่า ได้มีการจัดกำลังตำรวจในพื้นที่ จ.เชียงราย ดูแลพื้นที่โดยรอบศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติจังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 50 นาย เจ้าหน้าที่ตำรวจติดอาวุธ จากหน่วยปฎิบัติการพิเศษ จำนวน 30 นาย เสริมกำลังทีมรักษาความปลอดภัยนายกฯ ส่วนที่พักนายกฯโรงแรมใช้กำลังเจ้าหน้าตำรวจตะเวนชายแดน(ตชด.) กลุ่มงานเก็บกูัและตรวจพิสูจน์วัตถุระเบิด (อีโอดี) จำนวน 1 กองร้อย เข้ารักษาความปลอดภัย พร้อมเตรียมกำลังสำรองเจ้าหน้าที่ทหารอากาศกรณีฉุกเฉิน อย่างไรก็ตาม การรักษาความปลอดภัยจะประเมินควบคู่ด้านการข่าว โดยเฉพาะข่าวแผนลอบสังหารนายกฯ ขณะที่นายกฯ ย้ำว่าอยากให้การดูแลรักษาความปลอดภัยนายกฯ ปฏิบัติหน้าที่เป็นไปตามปกติ
ต่อมาเวลา 13.40 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ให้สัมภาษณ์ที่ศูนย์ประชุมนานาชาติจังหวัดเชียงใหม่ ถึงข้อเสนอของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ที่ประกาศท้าให้นายกฯ มาเจรจาด้วยสองต่อสองโดยมีการถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์ว่า
“ก่อนอื่นต้องขอถามกลับไปถึงนายสุเทพว่า พร้อมที่จะเจรจาภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายสุเทพจะหยุดชุมนุมเพื่อให้การเลือกตั้งสามารถดำเนินไปตามระบอบและกรอบของประชาธิปไตย”
เมื่อถามว่า ถ้านายสุเทพพร้อมทำตามที่นายกฯ บอกก็พร้อมที่จะเจรจาเลยใช่หรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า โดยหลักต้องขอเรียนว่าการพูดคุยจะต้องมีกรอบในการพูดคุย ทั้งนี้ตนเห็นด้วยว่าเราควรจะใช้วิธีการพูดคุยกัน แต่ต้องมีกรอบและมีคำถามกลับไปก่อน
เมื่อถามว่า การเจรจาเพื่อหาทางออกควรจะเป็นในรูปแบบใด น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า คงตอบไม่ได้ เพราะไม่มีสูตรสำเร็จ แต่สิ่งที่ต้องทำคือเราต้องค่อยๆ พูดกันไป เราอาจจะมีความต่างกันในหลายประเด็น แต่บางประเด็นอะไรที่ที่สามารถคุยกันได้ ก็ควรมีการตีกรอบให้แคบลง
เมื่อถามว่าถือเป็นนิมิตหมายที่ดีหรือไม่ เพราะก่อนหน้านี้นายสุเทพประกาศปิดประตูตายในการเจรจา นายกฯ กล่าวว่า อย่างที่พูดไว้ว่าถ้ามีกรอบที่ตรงกัน การพูดคุยกันก็สามารถเป็นไปได้ แต่ถ้ากรอบที่ต่างคนต่างไม่ตรงกัน ก็เป็นสิ่งที่ยากในการที่จะพูดคุย
เมื่อถามว่า กรอบที่ตรงกันในที่นี้หมายถึงประเด็นใดบ้าง นายกฯ กล่าวว่า วันนี้คำถามคือ การพูดคุยจะอยู่ภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะถ้าไม่อยู่ภายใต้นอกกรอบของรัฐธรรนูญแล้วตนก็ไม่สามรถปฏิบัติได้
“ในส่วนของดิฉันเองก็ต้องมีคนอื่นเข้ามาช่วยเหลือว่าจะมีมุมมองในการแก้ไขปัญหาอย่างไร จึงไม่ได้หมายความว่าเราจะปิดกรอบทั้งหมด เพียงแต่ ต้องมีผู้ที่รู้เข้ามาช่วย ไม่เช่นนั้นก็จะไม่สามารถชี้แจงได้ ที่สำคัญสิ่งที่ทุกคนต้องการคือการยุติการชุมนุม และอยากให้การเลือกตั้งสามารถดำเนินต่อไป ไม่เช่นนั้นเราก็ไม่สามารถตอบคำถามจากนานาประเทศได้ว่าเราจะรักษาระบอบประชาธิปไตยอย่างไร ถือเป็นหลักใหญ่ที่เราต้องยึด ซึ่งดิฉันเห็นด้วยกับหลักการในการพูดคุย และหลักการเจรจาโดยสันติ” นายกฯ กล่าว
เมื่อถามว่า โดยหลักของการเจรจาจะต้องมีการถ่ายทอดสดหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า คงต้องเรียนว่าตนเพียงคนเดียวคงตอบไมได้ควรจะมีการพูดคุยกันหลายๆ คนน่าจะเป็นประโยชน์มากกว่าเพราะว่าต้องมีผู้รู้เข้ามาร่วมด้วย เนื่องจากตนเองไม่สามารถจะตัดสินใจแทนคนทั้งประเทศไ้ด้ เพราะมีทั้งเรื่องกฎกติกาและรายละเอียดต่างๆ
“ดังนั้นก่อนที่จะมีการเจรจาเราจะต้องมีกรอบออกมาก่อนในระดับหนึ่ง ถ้าเราไม่มีกรอบเลย พูดเท่าไหร่ก็ไม่จบ แต่ถ้ามีกรอบออกมาในระดับหนึ่งและมีใจซึ่งเป็นเป้าหมายที่ตรงกันมาหาวิธีการว่าาจะแก้ปัญหาอย่างไร ทุกอย่างก็จะเดินไปได้ แต่ถ้าต่างคนต่างวางตัวเป็นเส้นคู่ขนาน คุยอย่างไรก็ไม่เกิดประโยชน์” น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าว
เมื่อถามว่า รัฐบาลจะเป็นฝ่ายเริ่มในการเจรจาก่อนหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า รัฐบาลเปิดในทุกๆ ออปชันและรัฐบาลก็ยินดีในการให้แต่ละท่านมาช่วยกันแก้ปัญหา เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นคือปัญหาของบ้านเมือง ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นแนวทางใดรัฐบาลยินดีที่จะเปิดรับอย่างทุกวันนี้ ซึ่งมีนักวิชาการหลายๆ ท่านออกมาแสดงความคิดเห็นรัฐบาลก็ยินดีรับฟัง แต่บางอย่างก็ไม่สามารถปฏิบัติได้ทั้งหมด จึงต้องขอร้องให้ทุกคนมาพูดคุยเพื่อหาแนวทางร่วมกัน
เมื่อถามว่า ศูนย์รักษาความสงบ (ศรส.) ได้แสดงความเห็นว่าอยากจะเชิญตัวแทนองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) มาเป็นคนกลางในการพูดคุยและให้คำแนะนำในการแก้ไขปัญหา นายกฯ กล่าวว่า ทางยูเอ็นก็มีแนวทางการศึกษาจากหลายๆประเทศ การรับฟังในเรื่องของมุมมองและการแลกเปลี่ยนจากหลายๆ ประเทศนั้นถือเป็นสิ่งที่ดีไม่ควรจะปิดกั้น แต่สุดท้ายแล้วเราเองก็ต้องมาพูดคุยกันภายในประเทศ
เมื่อถามว่า คิดว่าการรักษาประชาธิปไตยของนายกฯ ในวันนี้คิดว่าจะชนะฝ่ายตรงข้ามได้หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า เราไม่มีคำว่าแพ้ชนะ เรามีแต่คำว่าเราจะทำอย่างไรให้สามารถประคองประเทศและสถานการณ์เดินไปได้ สิ่งที่ถือเป็นชัยชนะคือประชาชนและประเทศต่างหากที่เราอยากเห็น ไม่อยากจะพูดว่าฝ่ายหนึ่งแพ้ฝ่ายหนึ่งชนะ ถ้าเรามีทิฐิต่อกัน ก็ไม่มีทางที่จะทำให้เส้นทางที่เป็นคู่ขนานมาบรรจบกันได้
น.ส.ยิ่งลักษณ์ยังกล่าวถึงกรณีที่อดีตนายทหารหน่วยสงครามรบพิเเศษ กองทัพเรือ เข้ามามีบทบาทในการชุมนุมของกลุ่ม กปปส.ว่า เจ้าหน้าที่หน่วยราชการทุกคน โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานด้านความมั่นคงจะต้องวางตัวเป็นกลาง และดูแลประชาชนในด้านความมั่นคง และตนก็เชื่อว่า ผบ.ทร.จะต้องมีคำตอบในการชี้แจงเรื่องดังกล่าว แต่ก็ ผบ.ทร.ในการตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งท่านจะต้องมีการรายงานตามสายงานอยู่แล้ว
นอกจากนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ยังกล่าวถึงการส่งตัวแทนไปรับฟังข้อกล่าวหาต่อ ป.ป.ช.ในโครงการรับจำนำข้าวว่า ในส่วนของ ป.ป.ช.เป็นการเดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหา ซึ่งการรับทราบข้อกล่าวหานั้นได้มีการสอบถามฝ่ายที่ปรึกษาด้านกฎหมาย เพราะตามระเบียบสามารถส่งตัวไปแทนรับทราบข้อกล่าวหาได้ โดยมอบอำนาจให้ผู้อื่นไปแทน จากนั้นจึงจะเป็นขั้นตอนของการชี้แจง