เพื่อไทยออกแถลงการณ์หลังดอดสุมหัวถกอดีตพรรคร่วม “ภูมิธรรม” อ้างเลือกตั้งปรากฏการณ์หวงแหนประชาธิปไตย มี 20 ล้านมาใช้สิทธิ โมเมเป็นประชามติเลือกทางออกชาติ “จารุพงศ์” เร่ง กกต.เดินหน้าโหวตที่เหลือ โวเป็นบันไดปฏิรูปสังคม ผลักดันให้เสร็จ 1 ปีกว่าๆ แล้วคืนอำนาจประชาชน “วราเทพ” เสริม เริ่มทำเมื่อมี ครม.ใหม่
วันนี้ (7 ก.พ.) ที่พรรคเพื่อไทย แกนนำพรรคเพื่อไทยประกอบด้วย นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ หัวหน้าพรรคฯ นายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคฯ นายวราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกฯ และรมช.เกษตรฯ ร่วมกันออกแถลงการณ์พรรคเพื่อไทย หลังจากที่ได้ร่วมหารือกับแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลในช่วงค่ำวันที่ 6 ก.พ.ที่ผ่านมา
โดยนายภูมิธรรมกล่าวว่า ที่หารือกับพรรคร่วมรัฐบาลประกอบด้วยนายบรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติไทยพัฒนา นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ แกนนำพรรคชาติพัฒนา นายสนธยา คุณปลื้ม หัวหน้าพรรคพลังชล เป็นต้น ซึ่งได้มีการหารือประเมินสถานการณ์ทางการเมือง ซึ่งในแต่ละพรรคก็ได้มีท่าทีออกมาต่อไป แต่ในส่วนของพรรคเพื่อไทยเราได้หารือกัน และออกแถลงการณ์ดังนี้ ก่อนอื่นต้องบอกก่อนเลยว่าการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 2 ก.พ.ที่ผ่านมา เป็นการเลือกตั้งที่ไม่ได้อยู่ภาวะปกติ
“พรรคเพื่อไทยเห็นว่าผลการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นเป็นปรากฏการณ์ที่สะท้อนให้เห็นความมุ่งมั่นตั้งใจของประชาชนผู้รักและหวงแหนในระบอบประชาธิปไตยอย่างเต็มที่ แม้ว่าการเลือกตั้งทั่วไป 2 ก.พ. 2557 เกิดขึ้นอย่างค่อนข้างยากลำบาก เพราะถูกขัดขวางอย่างมากจากกลุ่มบุคคลบางกลุ่ม ด้วยวิธีการต่างๆ อาทิ การขโมยหีบบัตรเลือกตั้ง การล้อมและปิดสถานที่กระจายหีบบัตรเลือกตั้ง การสร้างสถานการณ์ความรุนแรงจนทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ การข่มขู่คุกคามเพื่อหวังให้ประชาชนไม่กล้าไปลงคะแนน รวมทั้งเป็นการจัดการเลือกตั้งที่ขาดการประชาสัมพันธ์อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ประชาชนรับรู้ได้น้อยมาก” นายภูมิธรรมกล่าว
นายภูมิธรรมกล่าวว่า ท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่ค่อยเอื้อต่อการมาใช้สิทธิของประชาชนคนไทยทั่วประเทศดังกล่าว กลับปรากฏว่ามีประชาชนมากถึงกว่า 20 กว่าล้านเสียง ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ถือเป็นการสะท้อนผลการทำประชามติของประชาชนชาวไทย ที่เลือกหนทางการหาทางออกให้แก่ประเทศ โดยกระบวนการประชาธิปไตยและวิธีสันติ ซึ่งนั่นเป็นความหวังและอนาคตที่ดีของประเทศไทย และจากสถิติการมาใช้สิทธิของประชาชนที่เผยแพร่โดยสื่อมวลลชนต่างๆ พบว่าในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา (2544-2554) ประชาชนออกมาใช้สิทธิในการเลือกตั้งทั่วไป มีอัตราเฉลี่ยอยู่ที่ 71.36% และหากพิจารณาจากสถิติในรอบ 10 ปีมานี้ พบว่ามีประชาชน 25-30% ที่ไม่ได้ออกมาใช้สิทธิเป็นปกติ ดังนั้นสถิติผู้มาใช้สิทธิประมาณ 45-47% ในการเลือกตั้งครั้งนี้ จึงเป็นตัวเลขการออกมาใช้สิทธิของประชาชนที่น่าพึงพอใจ เพราะประชาชน 2 ใน 3 ได้ฝ่าอุปสรรคนานาประการ เข้ามาใช้สิทธิในสถานการณ์ที่ยากลำบาก
ด้านนายจารุพงศ์กล่าวว่า เพื่อให้ประเทศมีทางออกโดยสันติ และเพื่อให้ระบอบประชาธิปไตยก้าวเดินไปข้างหน้าโดยไม่สะดุดหยุดลง กกต. จะเป็นองค์กรที่มีความสำคัญยิ่งในการช่วยหาทางออกให้ประเทศ พรรคเพื่อไทย จึงขอเรียกร้องให้ กกต.เร่งทำหน้าที่ของตนอย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยเร่งดำเนินการผลักดันการจัดการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งที่ยังไม่แล้วเสร็จ ให้ลุล่วงเรียบร้อยโดยเร็ว ทั้งนี้ เพื่อเป็นการยืนยันความตั้งใจที่จะสนับสนุนและเคารพเจตนารมณ์ของประชาชนที่ออกมาใช้สิทธิเมื่อ 2 ก.พ. ถึง 20 กว่าล้านเสียง
หัวหน้าพรรคเพื่อไทยกล่าวต่อว่า จากที่พรรคร่วมรัฐบาลได้ร่วมหารือกัน มีความเห็นสอดคล้องกันว่า การดำเนินการเลือกตั้งให้สำเร็จลุล่วงโดยเร็ว จะมีส่วนสำคัญที่ทำให้บ้านเมืองเข้าสู่ภาวะปกติ และนับเป็นบันไดขั้นแรกที่จะช่วยผลักดันให้การปฏิรูปในสังคมไทย ประสบความสำเร็จตามที่ทุกฝ่ายปรารถนา และที่สำคัญ 30 มี.ค. 2557 นี้ กกต.ได้กำหนดวันเลือกตั้ง ส.ว.ชุดใหม่แล้ว ซึ่งผลสำเร็จของการเลือกตั้งทั้งสองส่วนนี้จะทำให้ รัฐสภา มีองค์ประกอบที่ครบถ้วน ทั้ง ส.ส.และ ส.ว. ซึ่งนับเป็นสถาบันสำคัญที่จะเร่งทำหน้าที่ผลักดันการปฏิรูปประเทศไทย ให้ประสบความสำเร็จต่อไป ทั้งนี้บนพื้นฐานที่มีกฎหมายตามระบอบประชาธิปไตยรองรับ
นายจารุพงศ์กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยยังยืนยันเจตนารมณ์ร่วมกับพรรคร่วมรัฐบาล ที่อยากเห็นรัฐบาลที่จะถูกจัดตั้งขึ้นหลังการจัดการเลือกตั้งของ กกต.เสร็จสิ้น เป็นรัฐบาลเพื่อการปฏิรูปที่ทำหน้าที่ผลักดันการปฏิรูปให้เสร็จสิ้นภายในระยะเวลาประมาณ 1 ปี หรือกว่านั้นเล็กน้อย โดยมุ่งมั่นและสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนในสังคมไทย เข้าร่วมผลักดันการปฏิรูปให้เกิดขึ้นโดยเร็ว และรีบคืนอำนาจกลับไปให้ประชาชน เพื่อให้ระบบการเมือง และภาวะของประเทศ กลับคืนสู่สภาวะปกติโดยเร็วที่สุด
นายวราเทพกล่าวว่า ในส่วนของการปฏิรูปฯที่ตนได้รับมอบหมายร่วมกับนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกฯ นั้น เราก็ยังยืนยันในจุดยืนในนามของรัฐบาลที่จะผลักดันเรื่องการปฏิรูปฯ ต่อไปตามกรอบกฎหมาย โดยกระบวนจะเริ่มได้อย่างสมบูรณ์ก็เมื่อมีสภาฯ มี ครม.ชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่ ดังนั้นรูปแบบ หรือระยะเวลาในการทำงาน ก็ขึ้นอยู่กับว่าจะได้สภาฯ และครม.ชุดใหม่เมื่อใด ซึ่งจะเป็นผู้ดำเนินการ